ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ดิฉันอายุ50 ปี สูบบุหรี่ เป็นความดันโลหิตสูงมานานกว่า 10 ปี 4-5 เดือนก่อนแพทย์เป

ดิฉันอายุ50 ปี สูบบุหรี่ เป็นความดันโลหิตสูงมานานกว่า 10 ปี 4-5 เดือนก่อนแพทย์เปลี่ยนยา ชื่อยาตัวใหม่คือ lisinopril 40 หลังจากทานยาได้ประมาณ 1 เดือน มีอาการไอและหวัดร่วมด้วย แต่เมื่ออาการหวัดหาย อาการไอยังคงอยู่ แต่คิดว่าเป็นเพราะสูบบุหรี่จัด หลังจากนั้นอีก 3-4 เดือนก็ได้ไปหาแพทย์อีก เพราะยังไออยู่ แพทย์แจ้งว่าเกิดจากการใช้ยา lisinopril ทำให้มีอาการไอ แล้วก็เปลี่ยนให้ใช้ยา Plendil 5 mg พร้อมทั้งให้ยาแก้ไอมาด้วย ตนเริ่มใช้ยา plendil 3-4 วันแรก รู้สึกอาการไอลดลง(แต่ลืมทานยาแก้ไอ) พอประมาณ 1 อาทิตย์หลังจากทานยา อาการไอเริ่มกลับมาเหมือนเดิม และดูเหมือนจะไอบ่อยขึ้น คันคอมาก เลยอยากเรียนถามว่า จะเป็นเพราะไม่ถูกกับยาตัวใหม่นี้ด้วยหรือไม่ เมื่อก่อนเคยทานยาความดันโลหิตสูงแต่ไม่เคยสนใจชื่อยา และไม่เคยมีอาการไอด้วย ดิฉันเข้าไปอ่านอาการของคนที่เป็นถุงลมโป่งพองก็ไม่ใช่ ดิฉันทำงานออฟฟิต เวลาไอรู้สึกไม่ดี เกรงใจเพื่อนร่วมงาน เพราะบางคนอาจจะคิดว่าดิฉันอาจจะเป็นโรคติดต่อ

[รหัสคำถาม : 57] วันที่รับคำถาม : 06 ก.พ. 63 - 13:09:14 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยา Plendil(Felodipine) เป็นยาลดความดันโลหิตกลุ่ม calcium channel blocker(CCB) มีรายงานการเกิดผลข้างเคียงเกี่ยวกับอาการไอ 0.8%-1.7% ของผู้ป่วยที่ได้รับยา[1] สำหรับกลไกการเกิดอาการไอจากยากลุ่มนี้ คือ ยา calcium antagonist จะไปคลายหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างและทำให้เกิด reflux cough ได้ โดยการเกิด cough reflux เกิดได้ในตอนเปล่งเสียง การกำจัดอาหารออกจากลำคอหลังจากมื้ออาหาร หรืออาการไอเกิดตอนยืนขึ้นหรือก้มหน้าลง[2] มีการศึกษาพบว่าการใช้ยาในกลุ่ม CCB ทำให้เกิดอาการของโรคกรดไหลย้อน ได้แก่ อาการแสบยอดอก, มีการไหลย้อนของกรดขึ้นมาที่หลอดอาหาร, เจ็บหน้าอก โดยยาในกลุ่มนี้ที่ทำให้เกิดอาการของโรคกรดไหลย้อนน้อยที่สุด คือยา Diltiazem ในขณะที่ยาที่ทำให้เกิดอาการของโรคกรดไหลย้อนได้มากที่สุด คือยา Nifedipine Amlodipine Felodipine[3] ในผู้ป่วยที่มีโรคกรดไหลย้อนจะมีอาการไอเรื้อรังได้ [4]

เนื่องจากผู้ป่วยเคยมีอาการไอจากยา ACEIs และมีอาการไอหลังจากเปลี่ยนไปใช้ยา Felodipine ซึ่งหากยานี้เป็นสาเหตุของอาการไอ ผู้ป่วยควรมีอาการต่างๆของภาวะกรดไหลย้อนร่วมด้วย อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถหาสาเหตุได้ และต้องการเปลี่ยนยาลดความดันโลหิต มียากลุ่มอื่น เช่น ยาในกลุ่ม Angiotensin 2 receptor (A2R) blockers [5] ออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับยากลุ่ม ACEIs ผลข้างเคียงจากอาการไอต่ำกว่า เช่น losartan [6]

อย่างไรก็ตามมีสาเหตุอื่นๆที่อาจเป็นสาเหตุการไอของผู้ป่วยรายนี้ ได้แก่ การสูบบุหรี่
โดยการสูบบุหรี่จะทำให้เกิดการตอบสนองการอักเสบในทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคระบบทางเดินหายใจและอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของการตอบสนองต่ออาการไอ ผู้สูบบุหรี่บางรายทำให้เกิดอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เช่น เกิดการผลิตเมือกมากเกินไป ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นที่ receptor ของการเกิดอาการไอในทางเดินหายใจได้ และพบว่าผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและโรคหอบหืดสามารถเพิ่มความไวของการต่อการเกิดอาการไอเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่สุขภาพดี [7]




เอกสารอ้างอิง
1.Felodipine-ClinicalKey [Internet]. [cited 2020 Jan 10]. Available from: https://www.clinicalkey.com/#!/content/drug_monograph/6-s2.0-243?scrollTo=%2328541
2.Medford AR. A 54 year-old man with a chronic cough--Chronic cough: don't forget drug-induced causes. Prim Care Respir J. 2012 Sep;21(3):347-8.
3.Hughes J, Lockhart J, Joyce A. Do calcium antagonists contribute to gastrooesophageal reflux disease and concomitant noncardiac chest pain? Br J ClinPharmacol 2007;64:83-9. http://dx.doi.org/10.1111/j.1365-2125.2007.02851.x
4.Irwin RS. Chronic cough due to gastroesophageal reflux disease: ACCP evidence-based clinical practice guidelines. Chest. 2006 Jan;129(1Suppl): 80S-94S.
5.Clinical Practice Guideline 2017 ACC/AHA/AAPA/ABC/ACPM/AGS/APhA/ASH/ASPC/NMA/PCNA Guideline for the Prevention, Detection, Evaluation, and Management of High Blood Pressure in Adults. A Report of the American College of Cardiology/American HeartAssociation Task Force on Clinical Practice Guidelines
6.Goldberg AI, Dunlay MC, Sweet CS. Safety and tolerability of losartan compared with atenolol, felodipine and angiotensin converting enzyme inhibitors. J Hypertens Suppl. 1995 Jul;13(1):S77-80.
7.Sitkauskiene B, Dicpinigaitis PV. Effect of smoking on cough reflex sensitivity in humans. Lung. 2010 Jan;188 Suppl 1:S29-32.



วันที่ตอบ : 06 ก.พ. 63 - 13:17:15




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110