ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ผู้ป่วยเด็กหญิงอายุ 2 เดือน น้ำหนัก 4.8 กิโลกรัม มาพบหมอเพื่อฉีดวัคซีนรวมห้าตัว

ผู้ป่วยเด็กหญิงอายุ 2 เดือน น้ำหนัก 4.8 กิโลกรัม มาพบหมอเพื่อฉีดวัคซีนรวมห้าตัว หลังจากนั้นแม่เด็กได้บอกหมอว่าเด็กชอบมีอาการแหวะนม หมอจึงสั่งจ่ายยาให้ดังนี้ metoclopramide syrup 0.5 ml และ motilium syrup 0.8 ml ทานร่วมกัน หลังจากกลับบ้านทานยา เด็กมีอาการซึม และเงียบ อยากทราบว่าอาการดังกล่าว เกิดจากการให้ยา 2 ตัวร่วมกันจึงเกิด ADR จากยาเพิ่มมากขึ้นรึเปล่าคะ และการสั่งจ่ายยาของหมอสมเหตุสมผลมั้ยคะ

[รหัสคำถาม : 58] วันที่รับคำถาม : 06 ก.พ. 63 - 17:07:06 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ภาวะกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux, GER) คือ ภาวะที่น้ำย่อยและ/หรืออาหารจากกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร เป็นภาวะปกติที่พบได้บ่อยในเด็กทารกโดยพบได้ตั้งแต่ในแรกเกิดเดือนแรก พบมากสุดในอายุ 4 เดือน ส่วนใหญ่ 88 % จะมีอาการดีขึ้นเมื่ออายุ 12 เดือนถึง 24 เดือน โดยหากเกิดบ่อยๆ หรือเกิดถาวร สามารถเกิดโรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease, GERD) ซึ่งมีอาการได้แก่ ขย้อนหรืออาเจียน(regurgitation) โดยเฉพาะหลังมื้ออาหาร, อาการหลอดอาหารอักเสบ(esophagitis) เช่น ระคายเคือง สำลัก เบื่ออาหาร อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตได้ นอกจากนี้อาจมีอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ[1] คาดว่าผู้ป่วยรายนี้น่าจะมีเพียงอาการของภาวะกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux, GER)

แนวทางการรักษาในเด็กทั้งในต่างประเทศ และประเทศไทย ให้เริ่มจากการหลีกเลี่ยงการให้นมในปริมาณมาก และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม(life style modification) [2,3] ได้แก่

1.ด้านอาหาร ให้อาหารที่ข้นหนืด (thickeningformula) ซึ่งช่วยลดการเกิดขย้อนหรืออาเจียน และสามารถเพิ่มน้ำหนักทารกได้ ในกรณีสงสัยว่ามีภาวะแพ้โปรตีนนมหรือถั่วเหลือง อาจให้สูตรอาหาร Hypoallergenic diet ส่วนเด็กที่รับประทานนมแม่ แนะนำให้รับประทานนมแม่ต่อ ให้รับประทานปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง[1,3]

2.การจัดท่าทาง (positioning) มีความสำคัญอย่างยิ่งในเด็กทารกที่ยังไม่สามารถควบคุมท่าทางของตนเองได้อย่างอิสระ ท่านั่ง(Seated position) จะทำให้เด็กทารกมีอาการกรดไหลย้อน (reflux) แย่ลง และควรหลีกเลี่ยงในเด็กทารกที่มีภาวะ GER ส่วนท่านอนแนะนำให้เด็กนอนหงายระหว่างการนอนหลับ หากตื่นอยู่อาจให้เด็กนอนคว่ำ หรือตะแคงซ้าย เพื่อลด reflux[1,3]

หากอาการยังไม่ดีขึ้นหลังจากการปรับเปลี่ยนการให้อาหาร และจัดท่าทาง ให้พิจารณาพบแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับทางเดินอาหาร ซึ่งอาจจำเป็นต้องเริ่มใช้ยาในการรักษา ยาที่แนะนำในการรักษาภาวะ GER ให้เป็นยาลดกรดในกลุ่ม PPIs เช่น omeprazole 4-8 สัปดาห์[2]

Metoclopramide และ Domperidone เป็นยาในกลุ่ม Prokinetics มีกลไกการออกฤทธิ์ คือไปยับยั้งตัวรับ dopamine ในบริเวณ chemoreceptor trigger zone (CTZ)[4,5] มีผลในการเพิ่มการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารทำให้อาหารเคลื่อนที่ผ่านกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้รวดเร็วยิ่งขึ้น จึงช่วยลดอาการกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารได้ แต่ประสิทธิภาพของยา metoclopramide และยา domperidone ในการรักษา GERD ในเด็กไม่ชัดเจนว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่[1,2,3] แต่ยากลุ่มนี้จะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงมากในเด็ก ผลข้างเคียงจากการใช้ยา metoclopramide ในเด็ก ได้แก่ อาการเวียนศีรษะ(Dizziness)1% ความเมื่อยล้า(Fatigue)2.1% ปวดศีรษะ(headache)5.2% อาการง่วงซึม(Somnolence) 2.1%[4] และจากการศึกษาพบว่าการใช้ ในเด็กอายุน้อยกว่าเท่ากับ 18 ปี ทำให้เกิดอาการที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวผิดปกติ (extrapyramidal symptoms) 9 % ท้องเสีย(diarrhea) 6% ง่วงซึม 6 % และสามารถเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Dysrhythmia), การหายใจลำบาก/หยุด (respiratory distress/arrest) กลุ่มอาการ neuroleptic malignant syndrome และกลุ่มอาการทางระบบประสาทที่ทำให้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อควบคุมไม่ได้ (tardive dyskinesia) แต่พบได้น้อยมาก [8]

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา domperidone ได้แก่ ปวดศีรษะ ง่วงซึม ไมเกรน ชัก [5] นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่าการใช้ยา domperidone ในเด็กทารก มีผลต่อการเกิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ QTc interval ยาวนานขึ้น และหัวใจเต้นผิดจังหวะ[2] โดยพบทั้งจากการศึกษา และรายงานกรณีมีการเกิด [9] นอกจากนี้ยังสามารถเกิดผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ผิดปกติ (Extrapyramidal symptoms) ซึ่งพบได้ 1 ใน 10,000 คน เนื่องจากในเด็กโครงสร้างที่ขวางกั้นเลือดและสมอง(blood–brain barrier) ยังพัฒนาไม่เต็มที่ โดยพบ รายงานกรณีมีการเกิด acute dystonia หลังจากได้รับยา domperidone[10]

ดังนั้นอาการแหวะนม(ขย้อนอาหาร)ในผู้ป่วยรายนี้ การรักษาโดยหลักเป็นการให้ปรับเปลี่ยนการให้อาหาร โดยให้รับประทานปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง และการจัดท่าทางให้เหมาะสม การใช้ยาจะพิจารณาในผู้ป่วยที่มีอาการมาก โดยใช้ยาลดกรดในกลุ่ม PPIs เช่น omeprazole การใช้ยา metoclopramide หรือ domperidone ยังมีประสิทธิภาพไม่ชัดเจนว่าสามารถใช้ในการรักษา GERD ในเด็ก แต่ทำให้เกิดผลข้างเคียงได้มาก จากแนวทางปฏิบัติในการรักษาจึงไม่แนะนำให้ใช้ยาดังกล่าว หากจำเป็นต้องใช้ยา metoclopramide หรือ domperidone ให้เลือกใช้ตัวใดตัวหนึ่งตามความเหมาะสม และไม่ควรใช้ร่วมกัน เนื่องจากยาทั้ง 2 มีกลไกการออกฤทธิ์เหมือนกัน และมีอาการไม่พึงประสงค์ที่เสริมกัน


เอกสารอ้างอิง
1.Khan S, Matta SKR.Gastroesophageal reflux disease.In: Robert MK, et al, eds.Nelson textbook of pediatrics.20th ed. Philadelphia, PA : Saunders/Elsevier;2020:1934-9.
2.Rosen R, Vandenplas Y, Singendonk M, eds. Pediatric Gastroesophageal Reflux Clinical Practice Guidelines: Joint Recommendations of the North American Society for Pediatric Gastroenterology, Hepatology, and Nutrition and the European Society for Pediatric Gastroenterology, Hepatology, and Nutrition. J Pediatr Gastroenterol Nutr. 2018 Mar;66(3):516-554.
3.ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และชมรมโรคทางเดินอาหารและโรคตับในเด็กแห่งประเทศไทย.แนวทางเวชปฏิบัติในการวินิจฉัยและรักษาโรคกรดไหลย้อนในเด็ก Clinical practice guideline for primary care gastroesophageal reflux disease.1 st ed. กรุงเทพฯ: เมดิ เจอร์นัลจำกัด; 2010. p. 8-10, 13-15.
4.Wickersham RM, Novak KK,eds. Drug facts and comparisons 2017. 2017th ed. St. Louis, MO: Wolters kluwer; 2017. p.2351-3
5. Domperidone. In: mims [ databased on the internet ] (Accessed January 7, 2020). Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/domperidone/?type=brief&mtype= generic
6.Hibbs AM, Lorch SA. Metoclopramide for the treatment of gastroesophageal reflux disease in infants: a systematic review. Pediatrics. 2006 Aug;118(2):746-52
7. Pritchard DS, Baber N, Stephenson T. Should domperidone be used for the treatment of gastro-oesophageal reflux in children? Systematic review of randomized controlled trials in children aged 1 month to 11 years old. Br J Clin Pharmacol. 2005 Jun;59(6):725-9.
8. Lau Moon Lin M, Robinson PD, Flank J, Sung L, Dupuis LL. The Safety of Metoclopramide in Children: A Systematic Review and Meta-Analysis. Drug Saf. 2016 Jul;39(7):675-87.
9. Caraballo L, Molina G, Weitz D, Piskulic L, Avila A, Marzi M. [Proarrhythmic effects of domperidone in infants: a systematic review]. Farm Hosp. 2014 Sep 16;38(5):438-44.
10. Dhakal OP, Dhakal M, Bhandari D. Domperidone-induced dystonia: a rare and troublesome complication. BMJ Case Rep. 2014 Jun 27;2014. pii: bcr2013200282.


วันที่ตอบ : 06 ก.พ. 63 - 17:22:19




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110