ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ลืมนัดฉีดวัคซีน HPV เข็มที่ 3 ช้าไป 10 วัน จะยังไปฉีดได้อยู่มั้ยคะ

ลืมนัดฉีดวัคซีน HPV เข็มที่ 3 ช้าไป 10 วัน จะยังไปฉีดได้อยู่มั้ยคะ

[รหัสคำถาม : 60] วันที่รับคำถาม : 14 ก.พ. 63 - 14:27:04 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ Human Papilloma Virus (HPV) มี 3 ชนิด ได้แก่
1.Cervarix เป็นวัคซีนชนิด bivalent ป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกประมาณร้อยละ 70
2.Gardasil เป็นวัคซีนชนิด quadrivalent ป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18 ซึ่งสายพันธุ์ 6 และ 11 ที่เพิ่มมาจะเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศร้อยละ 90
3.Gardasil9 เป็นวัคซีนชนิด 9-Valent จะป้องกัน HPV สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ซึ่งสายพันธุ์ 31, 33, 45, 52 และ 58 เป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกร้อยละ 80-90[1]

วัคซีนแต่ละชนิดมีข้อกำหนดเกี่ยวกับแผนการฉีดที่แตกต่างกันไป โดยในผู้ใหญ่หากเป็นชนิด bivalent (Cervarix) มีแผนการฉีดคือทุก 0, 1, 6 เดือน หรือถ้าไม่สามารถฉีดตามแผนกำหนดการได้ ให้ฉีดตามเงื่อนไขคือ เข็มที่ 1 กับ เข็มที่ 2 ควรห่างกันอย่างน้อย 1-2.5 เดือน, เข็มที่ 1 กับ เข็มที่ 3 ควรห่างกันอย่างน้อย 5-12 เดือน หากเป็นวัคซีนชนิด quadrivalent (Gardasil) มีแผนการฉีดคือทุก 0, 2, 6 เดือน หรือหากไม่สามารถฉีดตามแผนกำหนดการได้ ให้ฉีดตามเงื่อนไขคือ เข็มที่ 1 กับ เข็มที่ 2 ควรห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน, เข็มที่ 2 กับ เข็มที่ 3 ควรห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน โดยควรฉีดให้ครบ 3 เข็มภายใน 1 ปี และวัคซีนชนิด 9-Valent vaccine (Gardasil9) มีแผนการฉีดคือทุก 0, 2, 6 เดือน (วัคซีนชนิดนี้เข็มแรกสามารถฉีดห่างจากเข็มที่สอง 1 หรือ 2 เดือนได้) หรือถ้าไม่สามารถฉีดตามแผนกำหนดการได้ ให้ฉีดตามเงื่อนไขคือ เข็มที่ 1 กับ เข็มที่ 2 ควรห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์, เข็มที่ 2 กับ เข็มที่ 3 ควรห่างกันอย่างน้อย 12 สัปดาห์, เข็มที่ 1 กับ เข็มที่ 3 ควรห่างกันอย่างน้อย 5 เดือน[2-4]

โดยประสิทธิภาพของวัคซีนชนิด bivalent สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ร้อยละ 99 หลังจากติดตามผลไปเป็นเวลา 4 ปี, วัคซีนชนิด quadrivalent หลังจากฉีดวัคซีน 3 ปี ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันเซลล์ผิดปกติในเยื่อบุโพรงมดลูก (cervical intraepithelial neoplasia:CIN) ร้อยละ 97-100 ในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อ HPV มาก่อน และมีประสิทธิภาพในการป้องกันเซลล์ผิดปกติที่ช่องคลอดและปากช่องคลอด (vaginal and vulvar intraepithelial neoplasia:VIN and ValN) ใกล้เคียงร้อยละ 100 ในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อ HPV มาก่อน และวัคซีนชนิด 9-Valent มีประสิทธิภาพในการป้องกัน CIN, VIN และ ValN ร้อยละ 97 ในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อ HPV มาก่อน[5]

สำหรับการศึกษาที่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนที่ไม่เป็นไปตามแผนการฉีดมาตรฐาน มีการศึกษาในเพศหญิง อายุ 11-13 ปี จำนวน 903 คน เพื่อศึกษาระดับภูมิคุ้มกันในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกในวัยรุ่นเพศหญิงที่ฉีดวัคซีนตามแผนการฉีดในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทำโดยฉีดวัคซีน HPV ชนิด quadrivalent ตามแผนกำหนดการมาตรฐานทุก 0, 2, 6 เดือน และฉีดตามแผนกำหนดการในรูปแบบอื่นๆ คือ ทุก 0, 3, 9 เดือน ทุก 0, 6, 12 เดือน และทุก 0, 12, 24 เดือน จะวัดผลลัพธ์จากค่าซีรั่ม anti-HPV geometry mean titers (GMT) ซึ่งเป็นการวัดแอนติบอดีที่เกิดจากการกระตุ้นของวัคซีน HPV หากมีค่าสูงขึ้นนั้นหมายถึงระดับของแอนติบอดีหรือระดับภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนนั้นมีระดับสูงขึ้น โดยจะวัดผล 1 เดือนหลังจากฉีดวัคซีนครบ 3 เข็ม หากค่าอัตราส่วนของ GMT ระหว่างแผนการฉีดในรูปแบบอื่นๆ เทียบกับแผนการฉีดตามมาตรฐาน มีค่ามากกว่า 0.5 หมายความว่าแผนการฉีดรูปแบบอื่นไม่ได้มีประสิทธิภาพด้อยกว่าแผนการฉีดรูปแบบมาตรฐาน และติดตามผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น เช่น ปฏิกิริยาบริเวณที่ฉีด, ไข้ (ติดตามไป 7 วัน) และติดตามอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นแบบร้ายแรงไปอีก 30 วันหลังจากทำการฉีดครั้งสุดท้าย ผลการศึกษาพบว่าอัตราส่วนของ GMT ระหว่างแผนการฉีดรูปแบบ 0, 3 และ 9 เดือน, รูปแบบ 0, 6 และ 12 เดือน, รูปแบบ 0, 12 และ 24 เดือน มีค่ามากกว่า 0.5 ในทุกรูปแบบ แสดงให้เห็นว่าแผนการฉีดวัคซีนในรูปแบบอื่นไม่ได้มีประสิทธิภาพด้อยกว่ารูปแบบมาตรฐาน โดยมีผลข้างเคียงที่พบได้คล้ายกันในแผนกำหนดการทุกรูปแบบคือ ปวดบริเวณที่ฉีดร้อยละ 46.6-68.7[6]

กล่าวโดยสรุปหากลืมนัดฉีดวัคซีน HPV เข็มที่ 3 ช้าไป 10 วัน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใดก็ตาม ยังสามารถไปฉีดวัคซีนต่อได้ ไม่จำเป็นต้องเริ่มฉีดใหม่ โดยหากเป็นวัคซีน HPV ชนิด quadrivalent แนะนำให้ฉีดครบ 3 เข็มภายใน 1 ปี[3]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Human Papillomavirus (HPV) Vaccines - NCI [Internet]. [cited 2022 Nov 27]. Available from: https://www.cancer.gov/about-cancer/causes-prevention/risk/infectious-agents/hpv-vaccine-fact-sheet.
[2]. Human Papillomavirus Vaccine (Bivalent). In: Specific Lexicomp Online Database [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc. [updated 24 Oct. 2022; cited 17 Nov. 2022]. Available from: http://online.lexi.com.
[3]. Human Papillomavirus Vaccine (Quadrivalent). In: Specific Lexicomp Online Database [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc. [updated 14 Nov. 2022; cited 17 Nov. 2022]. Available from: http://online.lexi.com.
[4]. Human Papillomavirus Vaccine (9-Valent). In: Specific Lexicomp Online Database [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc. [update 24 Oct. 2022; cite 17 Nov. 2022]. Available from: http://online.lexi.com.
[5]. J Thomas Cox, Joel M Palefsky. Human papillomavirus vaccination. In: Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2022.
[6]. Neuzil KM, Canh DG, Thiem VD, Janmohamed A, Huong VM, Tang Y, et al. Immunogenicity and Reactogenicity of Alternative Schedules of HPV Vaccine in Vietnam: A Cluster Randomized Noninferiority Trial. JAMA. 2011;305(14):1424–31.

วันที่ตอบ : 14 ม.ค. 66 - 19:15:30




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110