ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
การใช้ยา misoprostol ก่อนตรวจชิ้นเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก

เปรียบเทียบประสิทธิภาพของ misoprostol sublingual กับ misoprostol vaginal tablet ต่างกันหรือไม่ ในการใช้ก่อน ตรวจชิ้นเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial biopsy)

[รหัสคำถาม : 616] วันที่รับคำถาม : 14 ส.ค. 67 - 11:52:22 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

การตรวจชิ้นเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial biopsy) เป็นการวินิจฉัยหาพยาธิสภาพในมดลูก ได้แก่ การเจริญผิดปกติของมดลูก เลือดออกผิดปกติในช่องคลอด หรือ ภาวะมีบุตรยาก เป็นต้น โดยวิธีที่นิยม มีความแม่นยำ สะดวก คือ การผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูก (Hysteroscopy) โดยทำการส่องกล้องและตัดชิ้นเนื้อในโพรงมดลูกที่สงสัยในเวลาเดียวกัน แต่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในการทำหัตถการ เช่น การฉีกขาดของปากมดลูก หรือ การมีเลือดออก เป็นต้น จึงจำเป็นในการขยายปากมดลูกก่อนการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูกซึ่งการใช้ยา misoprostol นอกข้อบ่งใช้ (off-labeled) เพื่อทำให้ปากมดลูกนุ่มเตรียมพร้อมสำหรับการทำหัตถการทางนรีเวช สามารถบริหารยาได้หลายรูปแบบ ได้แก่ เหน็บช่องคลอด อมใต้ลิ้น และ แบบรับประทาน โดยรูปแบบยาอมใต้ลิ้นสามารถดูดซึมได้ทำให้ถึงระดับยาสูงสุดเร็ว ขณะที่การบริหารยาในช่องคลอด ทำให้มีการหดตัวของมดลูกที่นานและสม่ำเสมอกว่า [1-3,7]
......
การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ misoprostol ในรูปแบบเหน็บช่องคลอดและอมใต้ลิ้นในผู้หญิงระยะก่อนหมดประจำเดือน พบการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (Randomized Controlled Trial) หลายการศึกษา โดยวัดประสิทธิภาพหลัก คือ ความกว้างของปากมดลูกอ้างอิงจากขนาดเครื่องมือ (Hegar number) โดยไม่มีแรงต้านจากรูเปิดด้านในของปากมดลูก (Internal os) ซึ่งการศึกษาทั้งหมดใช้ misoprostol ขนาด 400 mcg พบการศึกษาหนึ่ง จำนวน 120 คน ถูกสุ่มแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 40 คน ในการบริหารยา misoprostol ในรูปแบบต่างกัน ได้แก่ รับประทาน (PO) เหน็บช่องคลอด (PV) หรือ อมใต้ลิ้น (SL) พบว่าความกว้างของปากมดลูกเฉลี่ยก่อนการผ่าตัดส่องกล้องเท่ากับ 6.1 ± 2.0 มม. (PO) , 6.4 ± 2.1 มม. (PV) และ 6.4 ± 1.8 มม. (SL) ตามลำดับ ซึ่งความกว้างของปากมดลูกในการบริหารยาก่อนผ่าตัดไม่แตกต่างกัน [4] ผลลัพธ์ให้ผลสอดคล้องกับ การศึกษาในผู้หญิงจำนวน 141 คน ถูกสุ่มในอัตราส่วนเท่ากัน ในการบริหารยารูปแบบรับประทาน อมใต้ลิ้น หรือ เหน็บช่องคลอด พบความกว้างของปากมดลูกเฉลี่ยสำหรับกลุ่มที่ให้ misoprostol ทางอมใต้ลิ้น รับประทาน และเหน็บช่องคลอด เท่ากับ 7.5±2.0 มม. , 7.5±1.9 มม. และ 7.6±2.4 มม.ตามลำดับ ซึ่งความกว้างปากมดลูกไม่มีความแตกต่างกัน [5] และการศึกษาในผู้หญิง 160 คน ถูกสุ่มเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 40 คน เพื่อเปรียบเทียบยารูปแบบ รับประทาน อมใต้ลิ้น เหน็บช่องคลอด และกลุ่มควบคุม (ไม่ได้บริหารยา) ผลลัพธ์ความกว้างปากมดลูกเฉลี่ยก่อนการผ่าตัดส่องกล้อง เท่ากับ 7.62 ± 1.81 มม. , 7.58 ± 1.77 มม. และ 7.60 ± 2.15 มม. ตามลำดับ ซึ่งขยายได้มากกว่ากลุ่มควบคุม 5.65 ± 2.12 มม.[6] ซึ่งกลุ่มที่บริหารยารูปแบบต่างกันสามารถขยายปากมดลูกได้ไม่แตกต่างกัน เเต่การศึกษาหนึ่ง ในผู้หญิงจำนวน 110 คน แบ่งเป็นกลุ่ม 2 กลุ่มในการบริหารยาเหน็บช่องคลอดและอมใต้ลิ้น กลุ่มละ 55 คน โดยวัดขนาดเครื่องมือที่สอดเข้าไปในปากช่องคลอดโดยไม่มีแรงต้านจากรูเปิดด้านในของปากมดลูก (Internal os) ใช้เทคนิคปกปิด 2 ทางต่อผู้ป่วยและแพทย์ผู้ส่องกล้อง โดยให้รูปแบบยาต่างกัน (double-dummy) เเละใช้ vitamin B6 เป็นยาหลอก พบว่าการบริหารแบบอมใต้ลิ้นก่อนการผ่าตัดส่องกล้องใช้ขนาดเครื่องมือหมายเลข 5 ซึ่งขนาดใหญ่กว่าการบริหารยาทางช่องคลอดที่ใช้ขนาดเครื่องมือหมายเลข 4 การศึกษาจึงให้ผลกลุ่มที่บริหารยาทางใต้ลิ้นสามารถขยายปากมดลูกได้มากกว่าเหน็บช่องคลอด [7]
......
ประสิทธิภาพของยาในด้านระยะเวลาที่ใช้ในการขยายปากมดลูก ซึ่งวัดจากการใช้เครื่องมือหมายเลข 10 พบว่า ผลการศึกษาส่วนใหญ่ให้ผลไม่แตกต่างกันในระยะเวลาที่ใช้ในการขยายปากมดลูก [4-6] และ พบการศึกษาให้ผลค่าเฉลี่ยระยะเวลาในการใช้เครื่องมือเข้าไปในช่องคลอดในกลุ่มอมใต้ลิ้นเท่ากับ 2.2 ± 0.4 นาที และ ในกลุ่มเหน็บช่องคลอด 2.7±0.7 นาที ซึ่งเเตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.001) แต่ไม่แตกต่างในผลทางคลินิก [7] ส่วนการวัดคะเเนนจากการประเมินความง่ายในการขยายปากมดลูกมาตราส่วน 5 ระดับจากแพทย์ให้ผลไม่ต่างกันในรูปแบบรับประทาน อมใต้ลิ้น และเหน็บช่องคลอด [4-6]
......
ในด้านความปลอดภัยจากการรายงานของผู้ป่วยโดยวัดอาการอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ไข้ ภาวะเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งการศึกษาให้ผลไม่แตกต่างกันในการใช้ยาแบบอมใต้ลิ้น เหน็บช่องคลอดและรับประทาน[4-6] แต่พบหนึ่งการศึกษาที่ให้ผลในกลุ่มอมใต้ลิ้นพบอาการท้องเสีย 7 คน ซึ่งมากกว่ากลุ่มอมใต้ลิ้น 0 คน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.001) [7]
......
ภาพรวมการศึกษาทั้งหมดให้ผลไม่แตกต่างกันในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ misoprostol ในการบริหารยาทางช่องคลอด อมใต้ลิ้น หรือแบบรับประทาน เพื่อเตรียมพร้อมระหว่างการส่องกล้องตรวจชิ้นเนื้อเยื่อโพรงบุมดลูก ให้ผลลัพธ์ที่ไม่ต่างกันในด้านการขยายปากมดลูก ความกว้างของปากมดลูกอ้างอิงจากขนาดเครื่องมือ (Hegar number) โดยไม่มีแรงต้านจากรูเปิดด้านในของปากมดลูก (Internal os), ความง่ายในการขยายปากมดลูกที่ประเมินจากแพทย์ รวมถึงอาการไม่พึงประสงค์ ดังนั้นสามารถบริหาร misoprostol ในการใช้ขยายปากมดลูกก่อนผ่าตัดส่องกล้องในทางอมใต้ลิ้น หรือ เหน็บช่องคลอด โดยมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน ซึ่งการเลือกใช้ยาอาจพิจารณาตามดุลพินิจของแพทย์และความสะดวกของผู้ป่วยในการบริหารยา [4-7]

เอกสารอ้างอิง
[1]. Vitale SG, Buzzaccarini G, Riemma G, Pacheco LA, Di Spiezio Sardo A, Carugno J, et al. Endometrial biopsy: Indications, techniques and recommendations. An evidence-based guideline for clinical practice. J Gynecol Obstet Hum Reprod. 2023;52(6):102588.
[2]. Wieslander, Cecilia K., et al. "Therapeutic Gynecologic Procedures." CURRENT Diagnosis & Treatment: Obstetrics & Gynecology, 12e Eds. Alan H. DeCherney, et al. McGraw-Hill Education, 2019, Accessed June 28, 2024.
[3]. Misoprostol, Lexi-Drugs. UpToDate Lexidrug. UpToDate Inc. https://online.lexi.com. Accessed June 28, 2024.
[4]. Ganer Herman H, Kerner R, Gluck O, Feit H, Keidar R, Bar J, Sagiv R. Different Routes of Misoprostol for Same-Day Cervical Priming Prior to Operative Hysteroscopy: A Randomized Blinded Trial. J Minim Invasive Gynecol. 2017 Mar-Apr;24(3):455-460.
[5]. Lee YY, Kim TJ, Kang H, Choi CH, Lee JW, Kim BG, Bae DS. The use of misoprostol before hysteroscopic surgery in non-pregnant premenopausal women: a randomized comparison of sublingual, oral and vaginal administrations. Hum Reprod. 2010 Aug;25(8):1942-8.
[6]. Song T, Kim MK, Kim ML, Jung YW, Yoon BS, Seong SJ. Effectiveness of different routes of misoprostol administration before operative hysteroscopy: a randomized, controlled trial. Fertil Steril. 2014 Aug;102(2):519-24.
[7]. Tanha FD, Salimi S, Ghajarzadeh M. Sublingual versus vaginal misoprostol for cervical ripening before hysteroscopy: a randomized clinical trial. Arch Gynecol Obstet. 2013 May;287(5):937-40.

วันที่ตอบ : 26 ส.ค. 67 - 17:29:27




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110