ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
การใช้ยาต้านเชื้อราในผู้ป่วยที่ลืมถอดฟันปลอม

ผู้ป่วยใส่ฟันปลอมแล้วลืมถอด เกิดการติดเชื้อรา อยากทราบว่าควรเลือกใช้ยาต้านเชื้อราใด และควรบริหารยาในรูปแบบใดจึงจะเหมาะสมที่สุด ในระยะเวลาเท่าไหร่ สามารถใช้ยาต้านเชื้อราดังกล่าวในผู้ป่วยที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจทางปากและติดเชื้อราในช่องปากได้ด้วยหรือไม่ 

[รหัสคำถาม : 619] วันที่รับคำถาม : 14 ส.ค. 67 - 23:07:37 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

การติดเชื้อราในช่องปากในผู้ที่มีภาวะปากอักเสบเหตุฟันเทียม (denture stomatitis) เป็นปัญหาที่พบได้ถึงร้อยละ 15-70 ในผู้ที่ใช้ฟันเทียมชนิดถอดได้ สาเหตุหลักมาจากเชื้อราชนิด Candida albicans ยาต้านเชื้อราที่ใช้ในการรักษาอาการติดเชื้อราในช่องปากประกอบด้วยรูปแบบยาเฉพาะที่ในช่องปาก และรูปแบบยารับประทาน [1] การเลือกใช้รูปแบบใดขึ้นกับระดับความรุนแรงของการติดเชื้อรา
...
จากรายงานการศึกษาความไวของเชื้อราต่อยาต้านเชื้อราในผู้ป่วยวิกฤต พบว่า เขื้อ C. albicans ไวต่อยา nystatin (97.9%) amphotericin B (72.3%) miconazole (42.6%) itraconazole (19.3%) ketoconazole (6.3%) และ fluconazole (4.2%) [2] จากรายงานการศึกษาทางคลินิกที่ทำการรวบรวมการศึกษารูปแบบการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) และทำการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ต่อประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ยาฆ่าเชื้อราแต่ละชนิดในการรักษาภาวะติดเชื้อราในช่องปาก พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อราในช่องปากดีกว่ายาหลอกเรียงลำดับจากมากไปน้อยคือ fluconazole (79.3%) miconazole oral gel (76.9%) itraconazole oral solution (75.2%) clotrimazole (64.8%) itraconazole capsule (51.2%) ketoconazole (50.7%) amphotericin B (44.4%) miconazole buccal tablet (34.4%) และ nystatin (15.7%) [3]
...
ในผู้ที่มีภาวะการติดเชื้อราในช่องปากแบบไม่รุนแรงสามารถเลือกใช้ยาต้านเชื้อราเฉพาะที่ในช่องปาก ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2567 [4] ประกอบด้วย ยาอม clotrimazole เจลทาปาก miconazole nitrate และยาน้ำแขวนตะกอน nystatin (100,000 units/ml) โดยแนะนำให้ใช้ติดต่อกันนาน 7- 14 วันซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นภายใน 3 วัน ในกรณีที่ใช้ยาน้ำแขวนตะกอน nystatin ให้อมกลั้วครั้งละ 2-6 มิลลิลิตรนานอย่างน้อย 1-3 นาที วันละ 4 ครั้งหลังอาหารและก่อนนอนเป็นระยะเวลา 2-4 สัปดาห์ หากมีรอยโรคจำกัดอยู่เฉพาะในบริเวณช่องปากซึ่งการอมกลั้วน้ำยาทำให้ตัวยาสามารถสัมผัสกับเนื้อ เยื่อรอยโรคได้ทั้งหมดให้ทำการบ้วนน้ำยาทิ้งหลังการกลั้วเพื่อลดอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้และลดการรบกวนสมดุลของเชื้อจุลชีพในบริเวณที่ไม่มีรอยโรค แต่หากมีการติดเชื้อราแพร่กระจายไปยังเพดานอ่อนหรือคอหอยส่วนบนอาจค่อย ๆ กลืนน้ำยาช้า ๆ เพื่อให้ตัวยาได้ไปสัมผัสกับบริเวณที่มีรอยโรคดังกล่าวได้ [1]
...
ในผู้ที่มีการติดเชื้อราในช่องปากแบบรุนแรงที่มีการรุกรานของเชื้อราเข้าไปในเนื้อเยื่อของอวัยวะรวมทั้งในกระแสเลือด ควรเลือกใช้ยารับประทานต้านเชื้อราซึ่งที่มีการรับรองให้ใช้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2567 คือ fluconazole ขนาด 50 mg รับประทานครั้งละ 1 เม็ดวันละครั้งหลังอาหารติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ [1,5] มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อรา 78% และมีประสิทธิภาพในการลดการอักเสบของเนื้อเยื่อในช่องปาก 97% [6] ในผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจทางปากอาจพิจารณาให้ผลิตภัณฑ์เจลทาปาก miconazole ในกรณีที่มีการติดเชื้อราแบบไม่รุนแรง และพิจารณาให้ยารับประทาน fluconazole ทางสายให้อาหารกรณีที่มีการติดเชื้อราในช่องปากแบบรุนแรง โดยให้นำผงยาละลายกับน้ำแล้วบริหารยาผ่าน enteral feeding tube โดยสามารถบริหารได้ทั้งรูปแบบ gastric และ post-pyloric enteral feeding tubes ซึ่งจะให้ผลทางเภสัชจลนศาสตร์เช่นเดียวกับการรับประทาน [7] และทำการชะล้าง feeding tubes ด้วยน้ำหลังการบริหารยา

เอกสารอ้างอิง
[1]. พิริยา สุดสวัสดิ์, อรรถวุฒิ เลิศพิมลชัย, แมนสรวง อักษรนุกิจ. ทบทวนวรรณกรรมแนวทางการรักษาปากอักเสบเหตุฟันเทียม.วารสารทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์. 2565 เม.ย.;72(2) :S250-67.
[2]. Modrzewska BD, Kurnatowska, AJ, Khalid K. Drug susceptibility of fungi isolated from ICU patients. Ann Parasitol. 2017;63(3):189-198. doi: 10.17420/ap6303.105.
[3]. Fang J, Huang B, Ding Z. Efficacy of antifungal drugs in the treatment of oral candidiasis: A Bayesian network meta-analysis. J Prosthet Dent. 2021;125(2):257-265. doi: 10.1016/j.prosdent.2019.12.025.
[4]. คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ. บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2567 [อินเทอร์เน็ต]. 2567 [เข้าถึงเมื่อ 11 ส.ค. 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/20533.pdf
[5]. Martins KV, Gontijo SML. Treatment of denture stomatitis. Rev Bras Odontol. 2017;74(3) :312- 3. doi: 10.18363/rbo.v74n3.p.215.
[6]. Martin-Mazuelos E, Aller AI, Romero MJ, Rodriguez Armijo A, Gutierrez MJ, Bernal S, Montero O. Response to fluconazole and itraconazole of Candida spp. in denture stomatitis. Mycoses. 1997 Nov;40(7-8):283-9. doi: 10.1111/j.1439-0507.1997.tb00233.x.
[7]. Snowden L. Handbook of drug administration via enteral feeding tubes. 3rd ed. Aust Prescr. 2016 Apr;39(2):53. doi: 10.18773/austprescr.2016.004.

วันที่ตอบ : 16 ส.ค. 67 - 12:43:26




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110