ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
การสลับฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า

ผู้ป่วยฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ยี่ห้อ Speeda จาก รพช. หากต้องการฉีด PCEC ที่โรงพยาบาลสงขลาได้หรือไม่ สามารถสลับฉีดวัคซีนทั้งสองชนิด เช่น ฉีด Speeda® (CPRV) เข็ม 1 และ 2 ต่อมาฉีด PCEC เป็นเข็มที่ 3 แล้วฉีด Speeda® ต่อได้มั้ยเข็มที่ 4 และ 5 ได้หรือไม่ และหากฉีดวัคซีนเข็มแรกแบบ ID เข็มสองจะฉีดแบบ IM ได้หรือไม่

[รหัสคำถาม : 622] วันที่รับคำถาม : 24 ส.ค. 67 - 14:40:19 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่มีการผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงที่มีจำหน่ายในประเทศไทย มีดังนี้[1]
1. Chromatographically purified vero cell rabies vaccine (CPRV) ชื่อการค้าได้แก่ Speeda® ผลิตจากการเลี้ยงเชื้อ fixed rabies virus พันธุ์ L. pasteur PV2061 ใน vero cells
2. Purified chick embryo cell rabies vaccine (PCECV หรือ PCEC) ชื่อการค้าได้แก่ Rabipur® ผลิตจากการเลี้ยงเชื้อ fixed rabies virus พันธุ์ Flury LEP-C25 ใน primary chick embryo fibroblast cells
3. Purified Vero Cell Rabies Vaccine (PVRV) ชื่อการค้าได้แก่ Verorab® ผลิตจากการเลี้ยงเชื้อ fixed rabies virus พันธุ์ PMWI 138-1503-3M ใน vero cells และ Abhayrab® ผลิตจากการเลี้ยงเชื้อ fixed rabies virus พันธุ์ L. Pasteur 2061 15 passages ใน vero cells
...
แนวทางเวชปฏิบัติโรคพิษสุนัขบ้า กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข แนะนำไว้ว่า วัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยใกล้เคียงกัน สามารถใช้แทนกันได้ และสามารถบริหารโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าในผิวหนังได้ แต่ควรใช้วิธีฉีดแบบเดียวกันตลอดจนครบตามแผนการฉีดวัคซีน[1]  สำหรับแนวทางการรักษาขององค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำไว้ว่า สามารถสลับเปลี่ยนวิธีการบริหารและชนิดของวัคซีนได้หากมีความจำเป็น ทั้งในกรณีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าล่วงหน้า (pre-exposure prophylaxis) และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค (post-exposure prophylaxis)[2] ข้อมูลการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค โดยการสลับรูปแบบการฉีดจากฉีดเข้ากล้าม (IM) เป็นฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง (ID) หรือจาก ID เป็น IM จำนวน 47 คน (ผู้ป่วยกลุ่มที่ 1) ร่วมกับการสลับฉีดชนิดวัคซีนจาก PCECV เป็น PVRV หรือจาก PVRV เป็น PCECV จำนวน 43 คน (ผู้ป่วยกลุ่มที่ 2)[3] ผลจากการติดตามผู้ป่วย พบว่า ในวันที่ 14 ผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 มีระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า หรือ rabies virus neutralizing antibody (RVNA) titer อยู่ในช่วง 7.5-22.5 IU/ml และมีค่า geometric mean concentration (GMC) อยู่ที่ 14.83 IU/ml ผู้ป่วยกลุ่มที่ 2 มี RVNA titer อยู่ในช่วง 7.5-15.5 IU/ml และมีค่า GMC อยู่ที่ 11.84 IU/ml โดยระดับมาตรฐานของ RVNA titer ที่มีผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันตามแนวทางของ WHO คือ มากกว่า 0.5 IU/ml ภายในวันที่ 7-14 ภายหลังการฉีดวัคซีน[2] แต่ในส่วนของค่า GMC ไม่มีค่ามาตรฐานกำหนด เพียงนำมาใช้เพื่อสรุประดับแอนติบอดีเฉลี่ยในกลุ่มตัวอย่างหลังการฉีดวัคซีน หลังฉีดวัคซีนจนครบชุดไปแล้ว 6 เดือน ผู้ป่วยทุกรายมีสุขภาพดี  นอกจากนี้ข้อมูลการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการสลับรูปแบบการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าล่วงหน้า โดยสลับรูปแบบการฉีดวัคซีนชนิด PCEC จาก IM เป็น ID หรือจาก ID เป็น IM จำนวน 20 คน โดยในกลุ่มที่เคยได้รับวัคซีน 1 ml ฉีด IM จะได้รับการฉีดวัคซีน 0.1 ml ID ส่วนกลุ่มที่เคยได้รับวัคซีนทาง ID จะได้รับการฉีดวัคซีน IM พบว่า การฉีดวัคซีน PCEC ทั้ง 2 กรณี ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของ RVNA titer 15 เท่า และไม่มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีนในทั้ง 2 กรณี[4] ทั้งวัคซีน PVRV และ CPRV (Speeda®) เป็นวัคซีนชนิดเซลล์เพาะเลี้ยงใน vero cell เหมือนกัน แต่แตกต่างกันในวิธีการทำให้วัคซีนมีความบริสุทธิ์ ข้อมูลการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้าหลังการสัมผัสโรค พบว่า วัคซีนทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้าเทียบเท่ากัน[5] จึงอาจสามารถใช้วัคซีนทั้งสองชนิดทดแทนกันได้ เนื่องจากวัคซีน CPRV (Speeda®) สามารถใช้ฉีดได้ทั้งแบบ IM และ ID ดังนั้นจึงอาจสามารถสลับรูปแบบการฉีดจาก ID ในครั้งแรกเป็น IM ในครั้งต่อไปได้ เนื่องจากยังไม่มีรายงานการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการใช้วัคซีนทั้งสองชนิดสลับทดแทนกันหรือสลับรูปแบบการฉีดของวัคซีน CPRV (Speeda®) โดยตรง และจากแนวทางเวชปฏิบัติโรคพิษสุนัขบ้า ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) จึงควรเปลี่ยนชนิดวัคซีนทดแทนในกรณีที่มีความจำเป็นและควรใช้วัคซีนชนิดที่เปลี่ยนทดแทนตลอดจนครบตามแผนการฉีดวัคซีนรวมทั้งควรใช้วิธีฉีดแบบเดียวกันตลอดจนครบตามแผนการฉีดวัคซีน

เอกสารอ้างอิง
[1]. กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางเวชปฏิบัติโรคพิษสุนัขบ้าและคำถามที่พบบ่อย [Internet]. 2018 [Accessed on 29 June 2024]. Available from https://ddc.moph.go.th/dcd/journal_detail.php?publish=14785.
[2]. WHO. Rabies vaccines and immunoglobulins: WHO position [Online]. 2018 [Cited June 29, 2024]. Available from https://iris.who.int/bitstream/handle/10665/272372/WER9316-201-219.pdf?sequence=1.
[3]. Ravish HS, Sudarshan MK, Madhusudana SN, Annadani RR, Narayana DH, Belludi AY, et al. Assessing safety and immunogenicity of post-exposure prophylaxis following interchangeability of rabies vaccines in humans. Human vaccines immunotherapeutics. 2014;10(5):1354-8.
[4]. Sudarshan MK, Madhusudana SN, Mahendra BJ, Narayana DH, Giri MS, Muhamuda K, et al. Boosting effect of purified chick embryo cell rabies vaccine using the intradermal route in persons previously immunized by the intramuscular route or vice versa. Natl Med J India. 2006 Jul-Aug;19(4):192-4.
[5]. Lang J, Cetre JC, Picot N, Lanta M, Briantais P, Vital S, et al. Immunogenicity and safety in adults of a new chromatographically purified Vero-cell rabies vaccine (CPRV): a randomized, double-blind trial with purified Vero-cell rabies vaccine (PVRV). Biologicals. 1998 Dec;26(4):299-308.

วันที่ตอบ : 10 ก.ย. 67 - 20:49:51




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110