ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ตอนนี้ภรรยาให้นมลูกอยู่ อยากทราบว่าสามารถใช้ยาแก้ท้องเสียอย่าง norfloxacin หรือพ

ตอนนี้ภรรยาให้นมลูกอยู่ อยากทราบว่าสามารถใช้ยาแก้ท้องเสียอย่าง norfloxacin หรือพวกตัวยาที่คล้ายๆกันในกลุ่มนี้ได้รึเปล่าครับ

[รหัสคำถาม : 63] วันที่รับคำถาม : 21 ก.พ. 63 - 09:17:33 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Quinolones เป็นยาต้านจุลชีพที่ใช้รักษาการติดเชื้อที่ไวต่อยานี้ ยาในกลุ่มนี้ที่นำมาใช้ในการรักษาอาการท้องเสียจากการติดเชื้อ (infectious diarrhea) เช่น Norfloxacin, Ofloxacin, Ciprofloxacin และ Levofloxacin [1,2] อาการไม่พึงประสงค์จากยากลุ่ม Quinolones เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มึนเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ และมีผลต่อระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ (เช่น เอ็นอักเสบหรือฉีกขาด, ข้ออักเสบ, ปวดข้อ)

สำหรับข้อมูลด้านการขับออกทางน้ำนม ของยา Norfloxacin, Ciprofloxacin, Ofloxacin และ Levofloxacin ในหญิงให้นมบุตร มีรายละเอียดโดยย่อดังนี้
1) Norfloxacin ข้อมูลยังไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการขับออกของยาทางนม มีข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตรายงานว่า ตรวจไม่พบปริมาณยา norfloxacin ในน้ำนมของมารดาให้นมบุตรที่รับประทาน Norfloxacin 200 mg ครั้งเดียว [3] อย่างไรก็ตามข้อมูลจากเอกสารกำกับยาของบริษัทผู้ผลิตระบุว่า “Norfloxacin ต้องไม่ใช้ในหญิงให้นมบุตร (Norfloxacin must not be used by lactating women)” [4]
2) Ciprofloxacin [5] ถูกขับออกทางน้ำนม พบว่าในหญิงให้นมบุตรที่ได้รับ Ciprofloxacin 750 mg จำนวน 3 ครั้ง จะมีระดับยาในเลือดเฉลี่ยสูงสุดที่ 2 ชั่วโมง (2.06 mcg/ml) และต่ำที่สุด (0.02 mcg/ml) ที่ 24 ชั่วโมง ในขณะที่ระดับยาในน้ำนม พบระดับยาเฉลี่ยสูงสุด (3.79 mcg/ml) ที่ 2 ชั่วโมง และต่ำที่สุด (0.02 mcg/ml) ที่ 24 ชั่วโมง มีอัตราส่วนของปริมาณยาในน้ำนมต่อในเลือด (milk-serum ratio) อยู่ระหว่าง 0.85-2.14 และมีอัตราส่วนที่สูงสุดที่ 4 ชั่วโมง หลังรับประทานยามื้อสุดท้าย ข้อมูลจากเอกสารกำกับยาของบริษัทผู้ผลิตระบุว่า “ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยา Ciprofloxacin ระหว่างการในนมบุตร (Ciprofloxacin should not be used during breast-feeding)” [6] อย่างไรก็ตามหากจำเป็นต้องใช้ยานี้ ควรให้นมแก่บุตรหลังจากรับประทานยา Ciprofloxacin ≥ 48 ชั่วโมง
3) Ofloxacin [7] ถูกขับออกผ่านทางน้ำนม ในความเข้มข้นที่ใกล้เคียงกับระดับยาในเลือดของมารดา การรับประทาน Ofloxacin 200 mg ครั้งเดียว ระดับยาในเลือดและน้ำนม มีความเข้มข้นที่ใกล้เคียงกัน เมื่อศึกษาในหญิงให้นมบุตร 10 คน รับประทาน ofloxacin 400 mg จำนวน 3 ครั้ง พบระดับยาในเลือดเฉลี่ยสูงสุด (2.45 mcg/ml) ที่ 2 ชั่วโมง และต่ำที่สุด (0.03 mcg/ml) ที่ 24 ชั่วโมง ระดับยาในน้ำนม พบระดับยาเฉลี่ยสูงสุด (2.41 mcg/ml) ที่ 2 ชั่วโมง และต่ำที่สุด (0.05 mcg/ml) ที่ 24 ชั่วโมง โดยมีอัตราส่วนของปริมาณยาในน้ำนมต่อในเลือด (milk-serum ratio) อยู่ระหว่าง 0.98-1.66 และมีอัตราส่วนที่สูงที่สุด ที่ 24 ชั่วโมง หลังรับประทานยามื้อสุดท้าย อย่างไรก็ตามข้อมูลจากเอกสารกำกับยาของบริษัทผู้ผลิตระบุว่า “ควรหยุดการให้นมบุตรระหว่างใช้ยา Ofloxacin (breast-feeding should be discontinued during treatment with ofloxacin)” [8]
4) Levofloxacin [9] ถูกขับออกทางน้ำนมได้ พบว่าเมื่อรับประทาน levofloxacin 500 mg ต่อวัน
จะมีระดับยาสูงสุดในน้ำนม เท่ากับ 8.2 µg/ml ที่ 5 ชั่วโมงหลังได้รับยา โดยค่าครึ่งชีวิตของยาในน้ำนม เท่ากับ 7 ชั่วโมง และปริมาณยาในน้ำนมลดลงจนไม่สามารถตรวจวัดได้ (< 0.05 µg/ml) ที่ 48 ชั่วโมง หลังได้รับยามื้อสุดท้าย [10] อย่างไรก็ตามข้อมูลจากเอกสารกำกับยาของบริษัทผู้ผลิตระบุว่า “ห้ามใช้ Levofloxacin ในระหว่างการให้นมบุตร (Levofloxacin is contraindicated in breast-feeding women)” [11]

จากการที่อาการท้องเสีย เกิดจาหลายสาเหตุ และอาจเกิดจากการติเชื้อหรือไม่ก็ได้ การใช้ยา
กลุ่ม Quinolones เช่น Norfloxacin สามารถก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ รวมทั้งอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบกระดูกและกล้ามเนื้อได้ในกลุ่มเด็ก [12] ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนใช้ยานี้

References
[1] Tribble DR. Antibiotic Therapy for Acute Watery Diarrhea and Dysentery. Mil Med. 2017; 182(S2): 17–25.
[2] Riddle MS, DuPont HL, Connor BA. ACG Clinical Guideline: Diagnosis, Treatment, and Prevention of Acute Diarrheal Infections in Adults. Am J Gastroenterol. 2016; 111(5): 602-22.
[3] Briggs GG, Freeman RK, Yaffe SJ. Drugs in Pregnancy and Lactation. 10th edition. Philadelphia: Wolters Kluwer; 2015. p1003-6.
[4] Norfloxacin: Summary of product characteristics. Available from: https://www.galenreasoner.com/monographs/7826/precautions. Accessed on March 11, 2020.
[5] Briggs GG, Freeman RK, Yaffe SJ. Drugs in Pregnancy and Lactation. 10th edition. Philadelphia: Wolters Kluwer; 2015. p275-8.
[6] Ciprofloxacin: Summary of product characteristics. Available from: https://www.galenreasoner.com/substances/ciprofloxacin/precautions. Accessed on March 11, 2020.
[7] Briggs GG, Freeman RK, Yaffe SJ. Drugs in Pregnancy and Lactation. 10th edition. Philadelphia: Wolters Kluwer; 2015. P1011-3.
[8] Ofloxacin: Summary of product characteristics. Available from: https://www.galenreasoner.com/substances/ofloxacin/precautions. Accessed on March 11, 2020.
[9] Briggs GG, Freeman RK, Yaffe SJ. Drugs in Pregnancy and Lactation. 10th edition. Philadelphia: Wolters Kluwer; 2015. P794-5.
[10] Cahill JB Jr, Bailey EM, Chien S, Johnson GM. Levofloxacin secretion in breast milk: a case report. Pharmacotherapy. 2005; 25(1): 116-8.
[11] Levofloxacin: Summary of product characteristics. Available from: https://www.galenreasoner.com/substances/levofloxacin/precautions. Accessed on March 11, 2020.
[12] Jackson MA, Schutze GE; COMMITTEE ON INFECTIOUS DISEASES. The Use of Systemic
and Topical Fluoroquinolones. Pediatrics. 2016;138(5): e20162706.
วันที่ตอบ : 13 มี.ค. 63 - 10:08:08




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110