ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
การใช้ยา azithromycin ในการรักษา COPD

ผู้ป่วยชาย อายุ 62 ปี หนัก 78 kg สูง 182 cm เป็นโรคปอด (suspected COPD) แพทย์สั่งยา azithromycin 250 mg 1x1 ac เป็นเวลา 90 วัน และอาจให้รับประทานยาต่ออีกเป็นระยะเวลารวม 1 ปี อยากทราบวัตถุประสงค์และความเหมาะสมในการใช้ยา สามารถใช้ยาในกลุ่ม macrolide ตัวอื่นแทนได้หรือไม่

[รหัสคำถาม : 632] วันที่รับคำถาม : 09 ก.ย. 67 - 01:28:50 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

อยู่ระหว่างการสืบค้นข้อมูล
วันที่ตอบ : 09 ก.ย. 67 - 14:07:55


No : 2

โรคถุงลมโป่งพองหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease, COPD) เป็นโรคในกลุ่มอาการปอดอักเสบเรื้อรังที่มีพยาธิสภาพของถุงลมโป่งพองร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของผนังหลอดลมจนเกิดการตีบแคบของหลอดลม ในผู้ป่วยที่มีภาวะอาการของโรค COPD ที่คงที่ (stable COPD ) จะเน้นเป็นการควบคุมหรือป้องกันการกำเริบของโรคโดยใช้ยาปฏิชีวนะ[1] จากรายงานการศึกษาทางคลินิกโดยการรวบรวมการศึกษารูปแบบการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) และทำการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) พบว่า ยาปฏิชีวนะกลุ่ม macrolides จะลดการกำเริบของโรค COPD ได้ดีที่สุดและก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์น้อยที่สุด รองลงมาคือ ยากลุ่ม quinolones และ tetracycline[2]

ยากลุ่ม macrolides ที่มีการแนะนำให้ใช้ในการลดการเกิดการกำเริบของโรค คือ ยา azithromycin ขนาด 250 มิลลิกรัมต่อวัน และยา erythromycin ขนาด 250 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง[1] จากรายงานการศึกษาทางคลินิกโดยการรวบรวมการศึกษารูปแบบการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) และทำการวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ในปี 2023 พบว่า ยา azithromycin และ erythromycin มีประสิทธิภาพในการลดความถี่ของการเกิดการกำเริบของโรคต่อปีและลดการเข้ารักษาในโรงพยาบาลของผู้ป่วยโดยมีค่า odds ratio (OR) ของ azithromycin และ erythromycin เท่ากับ −0.50 (95% CI: −0.81, −0.19; p = 0.001) และ 0.60 (95% CI: 0.3, 0.97; p = 0.04) ตามลำดับ การได้รับยา azithromycin หรือ erythromycin ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 และ 6 เดือน ให้ประสิทธิผลในการลดการกำเริบของโรคไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่การได้รับยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน 1 ปี จะสามารถลดการกำเริบของโรคได้สูงกว่าการให้ยาในระยะสั้นดังกล่าว [OR = 0.27 (95% CI: 0.11, 0.68; p = 0.005; I2 = 81%)[3] เนื่องจากยา erythromycin มีความเสี่ยงในการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาสูงกว่ายา azithromycin จากการมีคุณสมบัติยับยั้ง cytochrome P450 3A isozymes ในขณะที่ azithromycin ปราศจากคุณสมบัติดังกล่าว[4-5] ดังนั้นในผู้ป่วย COPD ที่มีการใช้ยากลุ่ม xanthine oxidase ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา erythromycin เนื่องจากมีผลเพิ่มระดับยาในเลือดของยากลุ่ม xanthine oxidase ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดความเป็นพิษต่อร่างกายได้[8] นอกจากนี้ยา erythromycin มีความสะดวกในการรับประทานยาน้อยกว่าต้องรับประทานวันละ 2 ครั้ง ในขณะที่ยา azithromycin สามารถรับประทานวันละ 1 ครั้ง[1] รวมทั้งยา erythromycin ยังก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดมวนท้อง ท้องเสีย เป็นต้น รวมทั้งการเกิดภาวะ QT prolongation หรือการเกิด cardiac arrhythmia ได้สูงกว่ายา azithromycin[4,6,7] ในทางปฏิบัติจึงแนะนำให้ใช้ยา azithromycin ขนาด 250 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน 1 ปีเพื่อป้องกันการเกิดการกำเริบของโรค COPD

เอกสารอ้างอิง
[1]. สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. แนวทางการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในภาวะอาการคงที่. แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ ภาพพิมพ์ จำกัด; 2565 [เข้าถึงเมื่อ 6 กรกฎาคม, 2567]; หน้า 55. เข้าถึงได้จาก:
https://www.tst.or.th/wp-content/uploads/2023/02/แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคปอดอุดกั้น%E2%80%8B.pdf
[2]. Janjua S, Mathioudakis AG, Fortescue R, Walker RA, Sharif S, Threapleton CJ, Dias S. Prophylactic antibiotics for adults with chronic obstructive pulmonary disease: a network meta-analysis. Cochrane Database Syst Rev. 2021 Jan. 15;1(1):CD013198. doi: 10.1002/14651858. CD013198.pub2.
[3]. Nakamura K, Fujita Y, Chen H, Somekawa K, Kashizaki F, Koizumi H, Takahashi K, Horita N, Hara Y, Muro S, Kaneko T. The Effectiveness and Safety of Long-Term Macrolide Therapy for COPD in Stable Status: A Systematic Review and Meta-Analysis. Diseases. 2023 Oct. 27;11(4):152. doi: 10.3390/diseases11040152.
[4]. Hopkins S. Clinical toleration and safety of azithromycin. Am. J . Med. 1991;91:40-45.
[5]. Hasler WL. Gastroparesis current concepts and considerations. Medscape J. Med. 2008;10:16.
[6]. Ray WA, Murray KT, Meredith S, Narasimhulu SS, Hall K, Stein CM. Oral erythromycin and the risk of sudden death from cardiac causes. N. Engl. J. Med. 2004;351:1089-96.
[7]. Rubinstein E. Comparative safety of the different macrolides. Int. J. Antimicrob Agents. 2001;18(suppl 1):S71-S76.
[8]. Global Initiative for Chronic Obstructive Lung Disease. Prevention and management of COPD. In: Ruth Hadfield, eds. Global strategy for the diagnosis, management, and prevention of Chronic Obstructive Lung Disease. 2024 [cited Aug. 24, 2024]; p.74. Available from: https://goldcopd.org/wp-content/uploads/2024/02/GOLD-2024_v1.2-11 Jan. 24_WMV.pdf

วันที่ตอบ : 25 ก.ย. 67 - 20:04:13




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110