ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
การดูแลผู้ป่วย

Famotidine กับ Ranitidine ต่างกันยังไงบ้างและยากลุ่มนี้ดีกว่า PPIs เช่น omeprazole ในแง่ไหนบ้าง

[รหัสคำถาม : 641] วันที่รับคำถาม : 22 ก.ย. 67 - 11:05:47 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Famotidine และ ranitidine เป็นยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารกลุ่ม Histamine H2 antagonist ออกฤทธิ์ยับยั้งการจับกับ histamine-2 receptor ของ histamine ที่ gastric parietal cells ในกระเพาะอาหาร ทำให้ไม่มีการกระตุ้น proton pump หรือ เอนไซม์ H+/K+-ATPase เป็นผลให้มีการหลั่งกรดของ parietal cell ลดลง ยาสามารถยับยั้งการหลั่งกรดได้ทั้งในภาวะปกติและในภาวะที่ถูกกระตุ้นให้เกิดการหลั่งกรดเพิ่ม แต่ famotidine จะมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งเอนไซม์ย่อยโปรตีน pepsin ในกระเพาะอาหารด้วย ยาทั้งสองชนิดมีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคที่สัมพันธ์กับกรดในกระเพาะอาหารเหมือนกัน มีผลิตภัณฑ์จำหน่ายทั้งในรูปแบบยาฉีดและยารับประทาน (ยาเม็ดและยาน้ำ)[1] ในรูปยารับประทาน famotidine และ ranitidine มีระยะเวลาเริ่มออกฤทธิ์ (onset) ใกล้เคียงกันคือประมาณ 1 ชั่วโมง มีความถี่ในการรับประทานยาวันละ 1-2 ครั้งไม่แตกต่างกัน[1] ในขนาดยา equivalent dose ที่แนะนำให้ใช้ famotidine จะมีความแรงในการยับยั้งการหลั่งกรดสูงกว่า ranitidine 8 เท่า [2][3] โดยขนาดยารักษาต่อวันของ famotidine และ ranitidine เท่ากับ 40 มิลลิกรัม วันละครั้ง, 150 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ตามลำดับ ยาทั้งสองชนิดมีผลยับยั้งเอนไซม์ในระบบ cytochrome P450 ต่างกันโดย ranitidine จะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP2D6, CYP1A2, CYP2C19 แต่ famotidine จะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 ซึ่งเป็นเอนไซม์หลักที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงยากลุ่ม QTc-prolonging agents ดังนั้นจึงต้องระมัดระวับในการใช้ยา ranitidine และ famotidine ร่วมกับยาอื่นที่มีการเปลี่ยนแปลงผ่านเอนไซม์ดังกล่าวเหล่านี้ การใช้ยา famotidine อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงหัวใจเต้นผิดปกติได้ เนื่องจากได้มีการตรวจพบสาร N-nitrosodimethylamine (NDMA) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในยา ranitidine ที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดเกินเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ในปัจจุบันได้มีการถอนยา ranitidine ออกจากท้องตลาดแล้ว

ยากลุ่ม Histamine H2 antagonist มีข้อดีเหนือยากลุ่ม proton pump inhibitors (PPIs) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ proton pump หรือ เอนไซม์ H+/K+-ATPase ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการหลั่งกรดจาก gastric parietal cells คือ มีประสิทธิภาพในการลดอาการปวดท้องเนื่องจากกรดที่หลั่งในตอนกลางคืน (nocturnal acid breakthrough) ได้รวดเร็วกว่าและในระยะเวลานานกว่า 10-12 ชั่วโมง[1] เมื่อให้รับประทานก่อนนอน เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งการกระตุ้นการหลั่งกรดของ histamine ต่อ gastric parietal cell ทำให้ไม่มีการกระตุ้น proton pump และสามารถยับยั้งการหลั่งกรดได้ทั้งในภาวะปกติและในภาวะที่ถูกกระตุ้นให้เกิดการหลั่งกรดเพิ่ม ในขณะที่ยากลุ่ม PPIs จะยับยั้งการทำงานของ proton pump เฉพาะในช่วงที่ proton pump อยู่ในสภาวะที่ถูกกระตุ้นให้มีการหลั่งกรดเท่านั้นเนื่องจากยาต้องถูกเปลี่ยนแปลงให้อยู่ในรูปทำงาน (active form) เมื่ออยู่ในภาวะเป็นกรดที่ gastric parietal cell จึงทำให้ไม่สามารถยับยั้งการทำงานของ proton pump ในช่วงระยะพักในเวลากลางคืน[6] การให้ยากลุ่ม Histamine H2 antagonist ครั้งเดียวก่อนนอน ร่วมกับการใช้ยากลุ่ม PPIs วันละครั้งก่อนอาหารเช้า สามารถควบคุม nocturnal acid breakthrough ได้ดีกว่าการให้ยากลุ่ม PPIs อย่างเดียว[4] ยากลุ่ม PPIs มีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 [1] เช่นเดียวกับ famotidine รวมทั้งมีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP2D6[1] ดังนั้นจึงต้องระวังการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาเมื่อใช้ยา PPIs และ famotidine ร่วมกับยาอื่นที่มีการเปลี่ยนแปลงผ่านเอนไซม์ดังกล่าวเหล่านี้

เอกสารอ้างอิง
[1]. Erwin K, Moore L, Snoke J, Skylar S, Alvarez W, Carls K, et al. Drug Facts and comparisons 2017. United States of America: Kluwer Wolters; 2017: 2368-81 .
[2]. Langtry HD, Grant SM, Goa KL. Famotidine An Updated Review of its Pharmacodynamic and Pharmacokinetic Properties, and Therapeutic Use in Peptic Ulcer Disease and Other Allied Diseases. Drug. 1989 Oct.;38:551-90. doi.org/10.2165/00003495-198938040-00005 .
[3]. Berardi RR, Tankanow RM, Nostrant TT. Comparison of famotidine with cimetidine and ranitidine. Clin. Pharm. 1988 Apr.;7(4):271-84. PMID: 2896559 .
[4]. Tutuian R, Castell DO. Nocturnal acid breakthrough - approach to management. MedGenMed. 2004 Oct. 26;6(4):11. PMID: 15775838; PMCID: PMC1480544 .
[5]. Xue S, Katz PO, Banerjee P, Tutuian R, Castell DO. Bedtime H2 blockers improve nocturnal gastric acid control in GERD patients on proton pump inhibitors. Aliment Pharmacol Ther. 2001 Sep. ;15(9):1351-6. doi: 10.1046/j.1365-2036.2001.01050.x. PMID: 11552905 .
[6]. Sachs G, Shin JM, Hunt R. Novel Approaches to Inhibition of Gastric Acid Secretion. Curr Gastroenterol Report 2010;12:437–47. doi.org/10.1007/s11894-010-0149-5 .

วันที่ตอบ : 29 ก.ย. 67 - 17:17:02




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110