ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Td boost

กรณีฉีดวัคซีน Td ครบ course เกิน 10 ปี ไม่ได้ฉีดกระตุ้น แล้วโดนสุนัขกัดอีก จำเป็นต้องฉีด Td 1 course ใหม่หรือไม่ หรือให้ booster แค่ 1 เข็ม เพราะอะไร

[รหัสคำถาม : 643] วันที่รับคำถาม : 22 ก.ย. 67 - 12:42:05 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

การให้วัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (Diphtheria-Tetanus-Pertussis) นั้น มีความจำเป็นเพื่อให้มีความครอบคลุมของภูมิคุ้มกันต่อโรคคอตีบบาดทะยักและไอกรนในประชากรผู้ใหญ่[1] รายงานที่แสดงถึงการลดลงของภูมิคุ้มกันตามอายุภายหลังจากการได้รับการฉีดวัคซีน โดยที่ภูมิคุ้มกันต่อโรคคอตีบและบาดทะยักลดลงจาก 91% ในเด็กอายุ 6-11 ปี เหลือเพียง 30% ในกลุ่มอายุ 70 ปี [2] สำหรับการใช้วัคซีน dT ป้องกันโรคบาดทะยักในผู้ใหญ่จะขึ้นอยู่กับประวัติการรับวัคซีนและความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อบาดทะยัก[3,4] Centers for Disease Control and Prevention (CDC) แนะนำ การประเมินลักษณะบาดแผล ร่วมกับประวัติการได้รับวัคซีนบาดทะยัก ในการพิจารณาการให้วัคซีนป้องกันบาดทะยักดังนี้ แผลที่มีการปนเปื้อน หรือแผลรุนแรง (dirty or major wounds) อาทิเช่น บาดแผลที่ลึกหรือบาดแผลจากการของมีคม บาดแผลที่มีการปนเปื้อนสกปรก เช่น ดิน อุจจาระ หรือ น้ำลายจากการถูกสัตว์หรือคนกัด และบาดแผลที่มีเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักครบชุดแล้ว แต่ได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายเมื่อ 5 ปีหรือมากกว่านั้น ควรได้รับวัคซีนกระตุ้น (booster) เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันอีกครั้ง[5]

สำหรับผู้ป่วยรายนี้ มีบาดแผลจากการถูกสุนัขกัด หากได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักเข็มสุดท้ายภายใน 5 ปี ก่อนเกิดแผล ไม่จำเป็นต้องรับวัคซีน Td กระตุ้น 1 เข็ม แต่หากไม่เคยได้รับวัคซีน Td หรือได้รับไม่ครบ course จะต้องได้รับ Tetanus Immunoglobulin (TIG) ในทันที ร่วมกับการฉีดวัคซีน Td จนครบ course[3,4] อย่างไรก็ตามผู้ป่วยรายนี้ได้รับวัคซีน Td เข็มสุดท้ายเกิน 10 ปีมาแล้ว จึงควรได้รับการฉีด Td กระตุ้น 1 เข็ม โดยไม่จำเป็นต้องเริ่ม course ใหม่ และกรณีที่ไม่เคยได้รับ Tdap ควรให้ Tdap แทน Td 1 เข็ม

เอกสารอ้างอิง
[1] Borella-Venturini M, Frasson C, Paluan F, DE Nuzzo D, DI Masi G, Giraldo M, et al. Tetanus vaccination, antibody persistence and decennial booster: a serosurvey of university students and at-risk workers. Epidemiol Infect. 2017 Jul.;145(9):1757-1762.
[2] McQuillan GM, Kruszon-Moran D, Deforest A, Chu SY, Wharton M. Serologic immunity to diphtheria and tetanus in the United States. Ann Intern Med. 2002 May 7;136(9):660-6.
[3] กรมควบคุมโรค. กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน. ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2562 [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 29 มิถุนายน 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/938420191209023015.pdf
[4] Minnesota Department of Health. Summary Guide to Tetanus Prophylaxis in Routine Wound Management [Internet]. 2022 [cited 2024 Jul 8]. Available from: https://www.health.state.mn.us/diseases/tetanus/hcp/tetwdmgmt.html
[5] Centers for Disease Control and Prevention. Clinical Guidance for Wound Management to Prevent Tetanus [Internet]. 2024 [cited 2024 Sep 1]. Available from: https://www.cdc.gov/tetanus/hcp/clinical-guidance/index.html

วันที่ตอบ : 26 ก.ย. 67 - 19:29:37




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110