ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
อยากทราบว่ายา Triferdine® ซึ่งเป็นยาผสมของ Fe+Folic+Iodine ทานได้มากสุดกี่เม็ดต่

อยากทราบว่ายา Triferdine® ซึ่งเป็นยาผสมของ Fe+Folic+Iodine ทานได้มากสุดกี่เม็ดต่อวัน โดยที่ปริมาณไอโอดีนไม่มากเกินไป เพราะถ้าทาน 1 เม็ดต่อวันจะได้ Fe และ Folic น้อยเกินไป ข้างขวดเขียนวันละ 1 เม็ด หรือตามแพทย์สั่ง

[รหัสคำถาม : 66] วันที่รับคำถาม : 25 ก.พ. 63 - 18:44:21 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

หญิงตั้งครรภ์อาจไม่ได้จำเป็นต้องได้รับการเสริมวิตามินและแร่ธาตุเป็นประจำ หากประเมินแล้วว่าได้รับวิตามินและแร่ธาตุจากการรับประทานอาหารเพียงพอและมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์ส่วนใหญ่เลือกที่จะจ่ายวิตามินและแร่ธาตุเสริมให้แก่หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากมักพบว่าหญิงตั้งครรภ์ส่วนมากได้รับวิตามินและแร่ธาตุจากอาหารไม่เพียงต่อความต้องการ[1] โดยมีการแนะนำปริมาณไอโอดีน โฟเลตและธาตุเหล็ก ไว้ดังนี้

1. ไอโอดีน (Iodine)

หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรต้องการไอโอดีนมากขึ้นกว่าภาวะปกติ เนื่องจากแม่ต้องการไอโอดีนไปสร้าง thyroid hormones ส่งให้แก่ทารกในครรภ์ สร้างเส้นประสาทในสมองในช่วงไตรมาสแรก หญิงตั้งครรภ์ขาดไอโอดีนจะส่งผลให้พัฒนาการของสมองทารกในครรภ์ไม่สมบูรณ์และเกิดโรคปัญญาอ่อนตามมา ในไตรมาส 2 และ 3 ทารกในครรภ์ยังต้องการใช้ไอโอดีนในการเจริญเติบโตอีกด้วย อีกทั้งแม่มีการสูญเสียไอโอดีนทางปัสสาวะเพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์[2]

หญิงตั้งครรภ์ควรได้ปริมาณไอโอดีน 229 mcg/วัน หญิงให้นมบุตรควรได้ 289 mcg/วัน[3] โดยทั่วไปการรับประทานอาหารทะเล 2 ครั้งต่อสัปดาห์และรับประทานจากผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆจะได้ไม่เกิน 100 mcg/วัน ดังนั้นจึงควรได้รับการเสริมไอโอดีนอีกปริมาณ 100-150 mcg/วัน[3,4,5] การศึกษาในประเทศไทยพบว่า การเสริมด้วยยาเม็ดไอโอดีน 150 mcg/วัน ทำให้ป้องกันภาวะขาดไอโอดีนได้และไม่ทำให้ระดับไอโอดีนเกินไปจนเกิดอันตรายแก่ร่างกาย[2]

2. โฟเลต (Folate)

โฟเลตเป็น Coenzymes ในการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิกและกรดอะมิโน มีความสำคัญในการเจริญเติบโตของทารกและรกในกระบวนการจำลองดีเอ็นเอ การแบ่งเซลล์และการสังเคราะห์นิวคลีโอไทด์[1] หญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์ควรเริ่มรับประทาน 1 เดือนก่อนการตั้งครรภ์และ 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์เพื่อลดโอกาสการเกิดความผิดปกติของหลอดประสาท (Neural tube defects; NTDs) ของทารก[6] และความต้องการของโฟเลตยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระหว่างการตั้งครรภ์ในไตรมาส 2 และ 3[1] เพราะการเสริมโฟเลตอย่างต่อเนื่องหลังไตรมาสแรกจะช่วยเพิ่มความเข้มข้นของโฟเลตในซีรั่มและเม็ดเลือดแดงของแม่ เพิ่มความเข้มข้นโฟเลตที่เลือดจากสายสะดือและรก (Cord blood) อีกทั้งยังป้องกันการเพิ่มขึ้นของความเข้มข้น homocysteine ที่เกิดขึ้นได้ในช่วงการตั้งครรภ์ระยะท้าย[7] และอาจมีประโยชน์ในเรื่องพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็ก (cognitive development), การเข้าใจในความหมายของคำ (word reasoning) [8] แม้จะมีบางการศึกษาพบว่าการเสริมโฟเลตหลังไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงทำให้เด็กที่เกิดมาน้ำหนักตัวมาก (large-for-gestational-age; LGA) แต่งานวิจัยนี้มีข้อจำกัด คือ ใช้ขนาดตัวอย่างน้อย ไม่ได้เก็บข้อมูลด้านการรับประทานอาหารของผู้ป่วยทำให้ไม่สามารถประเมินผลกระทบจากการได้รับโฟเลตจากอาหารและไม่สามารถกำจัดผลทางวิตามินอื่นๆเนื่องจากมีการใช้วิตามินอื่นร่วม[9]

ปริมาณโฟเลตที่แนะนำต่อวัน ดังนี้
- หญิงตั้งครรภ์อายุต่ำกว่า 18 ปี ควรได้รับ 400-600[1,10] mcg/วัน แต่ไม่ควรเกิน 800 mcg/วัน หากอายุ 19-50 ปี ควรได้รับ 400-600[1,10] mcg/วัน แต่ไม่ควรเกิน 1000 mcg/วัน[1]
- หญิงให้นมบุตรที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ควรได้รับ 500 mcg/วัน แต่ไม่ควรเกิน 800 mcg/วัน หากอายุ 19-50 ปี ควรได้รับ 500 mcg/วัน แต่ไม่ควรเกิน 1000 mcg/วัน[11]

หากเคยมีประวัติเกิด NTDs ในการตั้งครรภ์ครั้งก่อนหรือคนใกล้ชิดในครอบครัวมีประวัติการคลอดทารกที่มีความผิดปกติแบบ NTDs แนะนำให้รับประทานเพิ่มเป็น 4 mg/วัน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิด NTDs ของทารกในครรภ์ได้มากถึงร้อยละ 72[1]

3. ธาตุเหล็ก (Iron)

ธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้าง Hemoglobin และมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากในระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากมีความจำเป็นในการสร้างเนื้อเยื่อของทารกและรก ช่วยเพิ่มปริมาตรของเซลล์เม็ดเลือดแดงของแม่ถึง 20-30 % ช่วยป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์ ซึ่งหากเกิดภาวะโลหิตจางขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตของทั้งแม่และเด็ก เกิดการคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐาน อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของเด็กอีกด้วย ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีระดับฮีโมโกลบินปกติก่อนการตั้งครรภ์ แนะนำให้รับประทานธาตุเหล็กเสริม 30 mg/วัน โดยควรเริ่มให้ภายในสัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์ สำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์แฝดหรือมีภาวะซีดตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ (มีระดับ hemoglobin < 11 g/dL หรือ hematocrit < 33% ในไตรมาส 1 และ 3, มีระดับ Hemoglobin < 10.5 g/dL หรือ hematocrit < 32% ในไตรมาสที่ 2 และมี Ferritin < 10 ถึง 15 mcg/L) ควรเสริมธาตุเหล็ก 60-100 mg/วัน เมื่อระดับ hemoglobin กลับสู่ปกติ ให้ปรับขนาดธาตุเหล็กเสริม เหลือ 30 mg/วัน[1,10]

ดังนั้น ยา Triferdine® ซึ่งใน 1 เม็ดของยาประกอบด้วย Potassium iodide 196 mcg (มีปริมาณ iodine 150 mcg), Ferrous fumarate 185 mg (มีปริมาณ ferrous 60.81 mg), Folic acid 400 mcg[12] ขนาดยาเหมาะสมในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โดยทั่วไป คือ รับประทาน 1 เม็ดต่อวัน เพียงพอต่อการเสริมโดยไม่ทำให้ได้รับไอโอดีนมากเกินไป

เอกสารอ้างอิง

1. West EH, Hark L, Catalano PM. Nutrition During Pregnancy. In: Gabbe SG, Niebyl JR, Simpson JL, Landon MB, Galan HL, Jauniaux ER, et al. Obstetrics: Normal and Problem Pregnancies. 7th ed. Amsterdam: Elsevier; 2017. p. 122-135.
2. นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล, นันทยา จงใจเทศ, นันทจิต บุญมงคล, จุฑารัตน์ สุภานุวัฒน์, ปัทมา ดวงมุสิก. รายงานการศึกษาผลของการให้ยาเม็ดเสริมไอโอดีนต่อภาวะโภชนาการไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. 2562.
3. Mestman JH. Thyroid and Parathyroid Diseases in Pregnancy. In: Gabbe SG, Niebyl JR, Simpson JL, Landon MB, Galan HL, Jauniaux ER, et al. Obstetrics: Normal and Problem Pregnancies. 7th ed. Amsterdam: Elsevier; 2017. p. 910-937. e6.
4. Meija L, Rezeberga D. Proper maternal nutrition during pregnancy planning and pregnancy: a healthy start in life. the Ministry of Health of Latvia and the WHO Regional Office for Europe; 2017.
5. The Public Health Committee of the American Thyroid Association. Iodine Supplementation for Pregnancy and Lactation - United States and Canada: Recommendations of the American Thyroid Association. Thyroid. 2006;16(10):949-51.
6. Bibbins-Domingo K, Grossman DC, Curry SJ, Davidson KW, Epling JW Jr, García FA, et al. Folic Acid Supplementation for the Prevention of Neural Tube Defects: US Preventive Services Task Force Recommendation Statement. JAMA. 2017;317(2):183-189.
7. McNulty B, McNulty H, Marshall B, Ward M, Molloy AM, Scott JM, et al. Impact of continuing folic acid after the first trimester of pregnancy: findings of a randomized trial of Folic Acid Supplementation in the Second and Third Trimesters. Am J Clin Nutr. 2013 Jul;98(1):92-8.
8. McNulty H, Rollins M, Cassidy T, Caffrey A, Marshall B, Dornan J, et al. Effect of continued folic acid supplementation beyond the first trimester of pregnancy on cognitive performance in the child: a follow-up study from a randomized controlled trial (FASSTT Offspring Trial). BMC Med. 2019 Oct 31;17(1):196.
9. Wang S, Ge X, Zhu B, Xuan Y, Huang K, Rutayisire E, et al. Maternal Continuing Folic Acid Supplementation after the First Trimester of Pregnancy Increased the Risk of Large-for-Gestational-Age Birth: A Population-Based Birth Cohort Study. Nutrients. 2016 Aug 15;8(8).
10. World Health Organization. WHO recommendations on antenatal care for a positive pregnancy experience
Publication date. Geneva: WHO; 2016.
11. Meyers LD, Hellwig JP, Otten JJ. Dietary reference intakes : the essential guide to nutrient requirements. Washington, DC: The National Academy Press; 2006.
12. MIMS Drug Reference. 155th ed. Bangkok (Thailand): TIMS (Thailand); 2019. Triferdine. p. 425-6.

วันที่ตอบ : 25 ก.พ. 63 - 18:49:32




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110