ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยาหอมเทพจิตร และยาหอมตรา 5 เจดีย์ มีข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ไหมคะ

ยาหอมเทพจิตร และยาหอมตรา 5 เจดีย์ มีข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ไหมคะ

[รหัสคำถาม : 69] วันที่รับคำถาม : 27 ก.พ. 63 - 11:11:33 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ในคำถามมียาหอม 2 ชนิด คือยาหอมเทพจิตร และ ยาหอม 5 เจดีย์

ยาหอมเทพจิตรเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ในสูตรตำรับ ผงยา ประกอบด้วย
1. ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง ดอกบัวขม ดอกบัวเผื่อน หนักสิ่งละ 4 กรัม ดอกมะลิ หนัก 183 กรัม
2. ผิวมะกรูด ผิวมะงั่ว ผิวมะนาว ผิวส้มตรังกานู หรือส้มจุก ผิวส้มจีน ส้มโอผิว ผิวส้มเขียวหวาน หนักสิ่งละ 4 กรัม ผิวส้มซ่าหนัก 28 กรัม
3. โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพา โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี หนักสิ่งละ4กรัม
4. เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุษย์ เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ หนักสิ่งละ4กรัม
5. ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ ลูกกระวาน ดอกกานพลู แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาว แก่นจันทน์ชะมด กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก เปลือกชะลูด เปลือกอบเชย หัวเปราะหอม รากแฝกหอม หนักสิ่งละ 2 กรัม
6. พิมเสน หนัก 4 กรัม การบูร หนัก 1 กรัม

ยาหอมเทพจิตรมี ข้อบ่งใช้ในการแก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย (อาการที่รู้สึกใจหวิววิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม) ใจสั่น และบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น

การรับประทานยาหอมเทพจิตร
ชนิดผง รับประทานครั้งละ 1 - 1.4 กรัม ละลายน้ำสุกเมื่อมีอาการ ทุก 3 - 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
ชนิดเม็ด รับประทานครั้งละ 1 - 1.4 กรัมเมื่อมีอาการทุก 3-4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3ครั้ง

ข้อควรระวังในการใช้ยาหอมเทพจิตร คือต้องระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และ ยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets) ระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของ "การบูร" และเกิดพิษได้ ตลอดจนระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้

“ยาหอมตรา 5 เจดีย์”มีส่วนประกอบหลัก คือ ต้นพิมเสน พิมเสนป่า กิ่งอบเชยจีน โสยเซ็ง ชะเอมเทศ กานพลู โกฐกระดูก กฤษณา และโกฐสอ

สรรพคุณ สำหรับแก้ลม เช่น ลมจุกเสียด แน่น ช่วยขับลมในกระเพาะ ลำไส้ แก้หน้ามืด ตาลาย เวียนศีรษะ อ่อนเพลียละเหี่ยใจ ยานี้ใช้ได้ทั้งดมและรับประทาน

ข้อควรระวังในการใช้ยาหอม5 เจดีย์ เมื่อพิจารณาจากสูตรตำรับเทียบกับยาหอมเทพจิตร แล้วจะเป็นในทางเดียวกันคือต้องระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และ ยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets) เพราะมี โกฐสอ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลองค์ประกอบในยาหอม 5 เจดีย์เป็นข้อมูลจากฉลากยา อาจจะมีองค์ประกอบอื่นอีกในปริมาณไม่มาก ที่ไม่ได้แสดง ไว้ หากมีองค์ประกอบของ เกสรทั้ง 5 ก็ต้องระวังในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้ เป็นต้น
วันที่ตอบ : 19 ส.ค. 63 - 14:22:20




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110