ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยา Magesto®, Combizym® และ Enzyplex® แตกต่างกันอย่างไร

ยา Magesto®, Combizym® และ Enzyplex® แตกต่างกันอย่างไร

[รหัสคำถาม : 70] วันที่รับคำถาม : 29 ก.พ. 63 - 22:17:41 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Magesto®, Combizym® และ Enzyplex® เป็นยาที่ใช้ในการบรรเทาอาการปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ แน่นอึดอัดท้องมีลมมากหรือไม่สบายท้องหลังมื้ออาหารที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของท่อทางเดินอาหารส่วนบน (บริเวณกระเพาะอาหารและลำไล้เล็กส่วนต้น) โดยกลุ่มอาการเหล่านี้สามารถเกิดจากสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น โรคแผลเปื่อยในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น (peptic ulcer disease) โรคหลอดอาหารอักเสบเนื่องจากกรดไหลย้อน (GERD) ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (chronic pancreatitis) เป็นต้น รวมถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่มีผลระคายเคืองบริเวณหลอดอาหารกระเพาะอาหารหรือลำไล้เล็กส่วนต้น[1, 2]

Magesto® เป็นยาเม็ด (tablet) รูปสามเหลี่ยม ลักษณะเป็นเม็ดยา 3 ชั้น ชั้นในมีส่วนประกอบของเอนไซม์ Mamylase และ Diastase ซึ่งเป็นเอนไซม์ช่วยในการย่อยสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต กลุ่มสารช่วยขับลมแก้จุกเสียด (cinnamon oil clove oil fennel oil ginger oil และ menthol) และสารสกัด scopolia มีฤทธิ์ลดอาการปวดเกร็งในช่องท้อง ส่วนชั้นนอกมีส่วนประกอบของ sodium bicarbonate calcium carbonate และ aluminium hydroxide ซึ่งมีฤทธิ์ลดกรดในกระเพาะอาหาร[3, 4] ยานี้จึงเหมาะกับผู้ที่มีความบกพร่องในการย่อยอาหารกลุ่มแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต โดยมีอาการจุกเสียดแน่นท้อง ปวดเกร็งช่องท้องร่วมกับมีภาวะกรดเกิน ขนาดยาในผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 2 เม็ด ขนาดยาในเด็กอายุ 6-12 ปีให้รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 3 ครั้งพร้อมอาหารและห้ามเคี้ยว[3] มีผลข้างเคียงทำให้ท้องผูก คลื่นไส้อาเจียน ระคายเคืองคอและกระเพาะอาหาร[4]

Enzyplex® เป็นยาเม็ดที่มีส่วนประกอบสำคัญคือเอนไซม์ amylase 10,000 IU protease 9,000 IU และ lipase 240 IU ซึ่งช่วยเพิ่มการย่อยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ตามลำดับ สาร desoxycholic acid และdimethylpolysiloxane ซึ่งเป็นสาร emulsifier ช่วยในการแตกตัวไขมันเพื่อเพิ่มการดูดซึมไขมันในลำไส้ และกลุ่มวิตามิน ได้แก่ วิตามิน B1 B2 B6 B12 และ niacinamide ซึ่งมีส่วนช่วยการทำงานของตับในการเผาผลาญไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต ยา Enzyplex® จึงเหมาะกับผู้ที่มีภาวะท้องอืดท้องเฟ้อ เรอ แน่นเนื่องจากมีความบกพร่องในการย่อยอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน[5, 6] โดยรับประทานครั้งละ 1-2 เม็ดวันละ 3 ครั้ง พร้อมหรือหลังอาหารแต่ละมื้อ[5] แต่ในปัจจุบันยา Enzyplex® ได้ถูกยกเลิกทะเบียนตำรับยาแล้วตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2558[7]

Combizym® เป็นยาในรูปแบยาเม็ดเคลือบ(coated tablets) ที่มีส่วนประกอบสำคัญคือ pancreatin ซึ่งเป็นกลุ่มเอนไซม์สกัดจากตับอ่อนของหมูที่ประกอบด้วยเอนไซม์ lipase 7,400 IU protease 420 IU และ amylase 7,000 IU ช่วยในการย่อยไขมัน โปรตีนและคาร์โบไฮเดรตตามลำดับ กลุ่มเอนไซม์สกัดจากรา Aspergillus oryzae ที่ประกอบด้วยเอนไซม์ cellulase 70 IU protease 10 IU และ amylase 170 IU[8] ช่วยในการย่อยเซลลูโลส โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตตามลำดับ ในบัญชียาหลักแห่งชาติยานี้จัดเป็นยาในบัญชี ง หมายถึง ยาที่มีความจำเป็นต้องมีการระบุข้อบ่งใช้และเงื่อนไขการสั่งใช้ยาเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับอ่อนบกพร่อง (pancreatic insufficiency) และก่อให้เกิดภาวะการดูดซึมสารอาหารผิดปกติ (malabsorption syndrome) โดยเฉพาะสารอาหารกลุ่มไขมันที่ทำให้มีภาวะอุจจาระมีไขมันมาก (steatorrhea)[9, 10] ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดตับอ่อนหรือกระเพาะอาหาร และผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (chronic pancreatitis) ขนาดยาในผู้ใหญ่และเด็กรับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด พร้อมอาหารหลักและ 1 เม็ดพร้อมอาหารว่างระหว่างมื้ออาหารหลัก[8],[9] โดยขนาดยาต้องปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายตามความต้องการเอนไซม์ lipase และผลตอบสนองต่อการใช้ยารักษา การรับประทานยาต้องกลืนยาทั้งเม็ดห้ามบดหรือเคี้ยวเม็ดยา ยามีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารอาจก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนและอาการไม่สบายท้อง หากอมยาไว้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังรอบปากและเยื่อเมือกในกระพุ้งแก้มได้ การใช้ยาในขนาดสูงมากเกินไปอาจทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณรอบทวารหนักและภาวะกรดยูริกเกินในเลือด มีคำเตือนและข้อควรระวังการใช้ในเด็กโดยเฉพาะหากใช้ยาในขนาดสูงเพราะมีรายงานการเกิดภาวะลำไส้ตีบจากการเกิดพังผืด (fibrosing colonopathy) ในเด็กอายุ 2-13 ปี ซึ่งเป็นโรคซิสติกไฟโบรซิส (cystic fibrosis)[11] มีข้อห้ามใช้ในผู้ที่แพ้โปรตีนจากหมูและผู้ที่มีภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันหรือเกิดการกำเริบของตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง เนื่องจากยาไม่ช่วยในการยับยั้งการหลั่งเอนไซม์จากตับอ่อนและไม่ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง[9]

ดังนั้นยา Magesto® Enzyplex® และCombizym® แม้จะเป็นยาที่ช่วยในการบรรเทาอาการปวด แน่นท้อง หรือไม่สบายท้องเหมือนกัน แต่ก็มีส่วนประกอบที่แตกต่างกันทั้งชนิดและปริมาณของเอนไซม์ รวมทั้งสารออกฤทธิ์อื่นๆในตำรับ ดังนั้นการเลือกใช้ยาต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการในผู้ป่วยตามรายละเอียดข้อบ่งใช้ของยานั้นๆ

เอกสารอ้างอิง

1. National Institute for Health and Care Excellence (NICE). 2015. Dyspepsia and gastro-oesophageal reflux disease in adults (QS96). Available from: https://www.clinicalkey.com/#!/content/nice_guidelines/65-s2.0-QS96. Accessed on January 10, 2020.
2. Freedman S. Clinical manifestations and diagnosis of chronic pancreatitis in adults. In: Post TW, ed. UpToDate.; 2019 (Accessed on January 10, 2020)
3. MIMS Online [Internet]. Mims Hongkong; c2020. Available from: https://www.mims.com/hongkong/drug/info/magesto/?type=brief. Accessed on January 10, 2020.
4. Takeda Pharmaceuticals. Magesto Tablet. 2019. Available from: https://www.tabletwise.com/hongkong/magesto-tablet. Accessed on January 10, 2020.
5. MIMS Online [Internet]. Mims Hong kong; c2020. Available from: https://www.mims.com/hongkong/drug/info/enzyplex/. Accessed on January 10, 2020.
6. Enzyplex. Product details. Available from: https://www.unilab.com.ph/products/enzyplex/?fbclid=IwAR0DhNjUUqe1PGD1us46PVNGDKt2gtLKseSeF2xZJhq_z3fUc_u_b0LAiwA. Accessed on January 10, 2020.
7. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. ตรวจสอบเลขผลิตภัณฑ์สุขภาพ. Available from: https://oryor.com/oryor2015/css_check_product.php. Accessed on January 10, 2020.
8. MIMS Online [Internet]. Mims Hong kong; c2020. Available from: https://www.mims.com/hongkong/drug/info/combizym/?type=brief. Accessed on January 10, 2020.
9. คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ. Thai National Formulary 2008 Volume 1 Gastro-intestinal system.
Available from: http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/main_drug_file/20171115142328.pdf. Accessed on January 10, 2020.
10. กลุ่มนโยบายแห่งชาติด้านยา. บัญชียาหลักแห่งชาติ. 2016. Available from: http://ndi.fda.moph.go.th/drug_national_detail/index/1836?fbclid=IwAR29L9BX_pUnMof0GvkmM9G094F17F3NtBXC22pQKYVXyOuBGXXklOijQSs. Accessed on January 10, 2020.
11. FitzSimmons SC, Burkhart GA, Borowitz D, Grand RJ, et al. High-dose pancreatic-enzyme supplements and fibrosing colonopathy in children with cystic fibrosis. N Engl J Med. 1997 May 1;336(18):1283-9. PubMed PMID: 9113931.

วันที่ตอบ : 02 มี.ค. 63 - 10:18:08




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110