ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
การใช้ prebiotic มีประโยชน์ในผู้ที่มีอาการท้องผูกมั้ยคะ

การใช้ prebiotic มีประโยชน์ในผู้ที่มีอาการท้องผูกมั้ยคะ

[รหัสคำถาม : 71] วันที่รับคำถาม : 01 มี.ค. 63 - 00:44:07 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Prebiotics คืออาหารที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถย่อยได้ และไม่ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหาร แต่จะถูกย่อยได้โดยแบคทีเรียในลำไส้ และทำให้เกิดกระบวนการหมักซึ่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียประจำถิ่น ได้แก่ bifidobacterial และ lactobacilli ตัวอย่าง Prebiotics ได้แก่ Inulin-type fructans และ fructooligosaccharides (FOS)[1] (ผลิตภัณฑ์ prebiotics ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย จะขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร เช่น Kaelyn Colla Plus Q10, Mega Fiber, Wheat Honey Plus, PediaSure Complete เป็นต้น[2,3])

จากการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ prebiotics ในการบรรเทาอาการท้องผูก โดยสืบค้นจากฐานข้อมูล Pubmed โดยใช้ keywords คือ “inulin and constipation”, “inulin-type fructans and constipation”และ “FOS and constipation” พบการศึกษา prebiotics ในการรักษาอาการท้องผูก เช่น
1) การศึกษาของ Souza และคณะ[4] เพื่อประเมินผลของการใช้ fructooligosaccharides ในทารกหรือเด็ก อายุ 6-24 เดือนที่มีอาการท้องผูก (จำนวน 36 คน) โดยเปรียบเทียบกับยาหลอก (maltodextrin) เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ขนาด fructooligosaccharides และ maltodextrin เท่ากับ 6, 9 หรือ 12 กรัม (ตามน้ำหนักตัว 6.0-8.9 kg, 9.0-11.9 kg, > 12 kg ตามลำดับ)
ผลการศึกษามีดังนี้
- ความสำเร็จในการรักษา (therapeutic success) วัดจากการถ่ายอุจจาระปกติ(หมายถึง อุจจาระนิ่ม จับตัวเป็นก้อน โดยไม่มีอาการปวดหรือถ่ายลำบาก) พบว่าความสำเร็จในการรักษา ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่ได้ prebiotic และกลุ่มควบคุม (ร้อยละ 83.3 และร้อยละ 55.6 ตามลำดับ, p=0.073)
- ผลลัพธ์ด้านอื่น ๆ พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านของ จำนวนครั้งที่ถ่ายต่อสัปดาห์ (p=0.320) และการปวดหรือร้องไห้ขณะถ่ายอุจจาระ (p=0.138) แต่ความยากลำบากในการถ่ายอุจจาระ (ร้อยละ 29.65 ± 41.73 และ 55.07 ± 43.44, (p=0.041) และการมีอุจจาระนิ่ม (73.38 ± 28.38 และ 55.38 ± 36.32, p-0.035 ตามลำดับ) มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่ได้รับ prebiotic และกลุ่มควบคุม
- กลุ่มที่ได้รับ prebiotic มีปริมาณ Bifidobacterium สูงกว่า baseline เริ่มต้นการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ(p=0.006)
- อาการข้างเคียงที่พบในกลุ่มที่ได้รับ fructooligosaccharides เป็น abdominal distension และท้องอืด จำนวน 2 ราย และอาเจียน 1 ราย ในช่วงสัปดาห์แรกของการได้รับ fructooligosaccharides
2) การศึกษา Closa-Monasterolo และคณะ[5] ศึกษาประสิทธิภาพ inulin-type fructans (Orafti®) ในเด็กอายุ 2-5 ปีที่มีอาการท้องผูก(จำนวน 17 คน) โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม inulin-type fructans ให้ 4 กรัม/วัน เทียบกับยาหลอก (maltodextrin) เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ ผลลัพธ์ที่วัดคือ 1) ลักษณะของอุจจาระ วัดโดยใช้ Modified Bristol Stool Form Scale สำหรับเด็ก (คะแนนตั้งแต่ 1 ถึง 7 โดยลักษณะของอุจจาระปกติ คะแนนเท่ากับ3) และ 2) ความถี่ในการถ่ายอุจจาระ(จำนวน stools/สัปดาห์) พบว่า กลุ่มที่ได้รับ inulin-type fructans มีลักษณะอุจจาระที่นิ่มกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Modified Bristol Stool Form Scale 2.57 คะแนน ± 0.58 vs 1.63 คะแนน ± 0.64 ตามลำดับ, p = 0.003) แต่ ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มในประเด็นความถี่ในการถ่ายอุจจาระ (1.36 ± 0.6 stools/สัปดาห์ vs 0.21± 1.9 stools/สัปดาห์, p = 0.179)
3) การศึกษา Micka และคณะ [6] เปรียบเทียบ Orafti® ในผู้ป่วยอายุ 20-75 ปี จำนวน 44 คน
แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งได้รับ Orafti® 4 กรัม วันละ 3 ครั้ง (12 กรัม/วัน) เป็นระยะเวลา
4 สัปดาห์ เทียบกับยาหลอก maltodextrin (12 กรัม/วัน) วัดผลลัพธ์ความถี่ในการถ่ายอุจจาระ(stools/สัปดาห์) และลักษณะของอุจจาระ(วัดโดยใช้ Bristol Stool Form Scale) พบว่า กลุ่มที่ได้รับ Orafti® มีความถี่ในการถ่ายอุจจาระมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก (median 4.0 stools/สัปดาห์ [IQR 2.5-4.5] และ 3.0 stools/สัปดาห์ [IQR 2.5-4.0] ตามลำดับ, p=0.038) ส่วนลักษณะของอุจจาระ ประเมินโดยใช้ Bristol Stool Form Scale (ลักษณะอุจจาระปกติ คะแนนเท่ากับ 3) มีค่าเฉลี่ย (median) เท่ากับ 3.0 คะแนน ทั้งสองกลุ่ม (median กลุ่มที่ได้รับ Orafti® เท่ากับ 3.0 คะแนน [IQR 3.0-4.0] ขณะที่ median กลุ่มยาหลอก เท่ากับ 3.0 คะแนน [IQR 2.1-4.0] เมื่อวัดคุณภาพชีวิต พบว่า กลุ่มที่ได้รับ Orafti® มีความพึงพอใจมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก (2.0 IQR [1.0-2.8] vs 1.5 IQR [0.8-2.3], p = 0.059)

โดยสรุป จากการศึกษาดังกล่าวข้างต้น prebiotic ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มขึ้นและเพิ่มความถี่ในการถ่ายอุจจาระ แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่มีอาการท้องผูก ควรปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติตัว เช่น รับประทานอาหารที่มีกากใย ดื่มน้ำให้เพียงพอ และการออกกำลังกาย หากมีอาการท้องผูกเรื้อรัง อุจจาระเป็นเลือด น้ำหนักลดผิดปกติไม่ทราบสาเหตุ มีอาการท้องผูกในผู้ที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี ควรปรึกษาแพทย์

References:
[1] Krinsky DL, Ferreri SP, Hemstreet B, Hume AL, Newton GD, Rollins CJ. et al. Handbook of Nonprescription drugs.18th edition. Washington DC: American Pharmacists Association; 2015. p410.
[2] MIMS Online [Internet]. Inulin: MIMS Thailand; 2020. [Cited 2020 Mar 4]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=inulin.
[3] MIMS Online [Internet]. fructooligosaccharides: MIMS Thailand; 2020. [Cited 2020 Mar 4]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=fructooligosaccharides
[4] Souza DDS, Tahan S, Weber TK, Araujo-Filho HB, de Morais MB. Randomized, Double-Blind, Placebo-Controlled Parallel Clinical Trial Assessing the Effect of Fructooligosaccharides in Infants with Constipation. Nutrients. 2018; 10(11): E1602.
[5] Closa-Monasterolo R, Ferré N, Castillejo-DeVillasante G, Luque V, Gispert-Llaurado M, Zaragoza-Jordana M, et al. The use of inulin-type fructans improves stool consistency in constipated children. A randomised clinical trial: pilot study. Int J Food Sci Nutr. 2017; 68(5): 587-594.
[6] Micka A, Siepelmeyer A, Holz A, Theis S, Schön C. Effect of consumption of chicory inulin on bowel function in healthy subjects with constipation: a randomized, double-blind, placebo-controlled trial. Int J Food Sci Nutr. 2017; 68(1): 82-89.

วันที่ตอบ : 09 มี.ค. 63 - 14:27:00




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110