ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ตอนนี้ผมเป็นระยะเริ่มแรกของริดสีดวง เป็นมา 1 อาทิตย์ มีก้อนเนื้อโผล่ออกมาสองติ่ง

ตอนนี้ผมเป็นระยะเริ่มแรกของริดสีดวง เป็นมา 1 อาทิตย์ มีก้อนเนื้อโผล่ออกมาสองติ่งประมาณ 1 cm ตอนนี้ได้ใช้ยา Proctosidyl ทั้งเหน็บและทา แล้วยาทานเป็น Daflon 500 ทานวันละ 2 เม็ด 3 เวลา ร่วมกับการปรับพฤติกรรม ดื่มน้ำมากๆ ทานผักผลไม้ อยากทราบว่าสามารถทานยาเพชรสังฆาต ควบคู่ไปกับ Daflon 500 ได้หรือไม่ จะเป็นอันตรายไหม? และอยากทราบว่าอาการที่เป็นอยู่จะใช้เวลามากไหมที่จะให้มันยุบตัวลงไปและปวดน้อยลง และมีวิธีการอย่างอื่นอีกไหม?

[รหัสคำถาม : 73] วันที่รับคำถาม : 02 มี.ค. 63 - 22:51:23 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ตามแนวทางการรักษาโรคริดสีดวงทวารจะแบ่งประเภทของการรักษาตามระดับความรุนแรงของโรคคือแบบไม่ต้องได้รับการรักษา การใช้ยาบรรเทาอาการ และการทำหัตถการ[1] สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง เช่น ปวด เลือดออก ติ่งยื่นออกมาโดยหดกลับไม่ได้ ควรได้รับการทำหัตถการวิธีการต่าง ๆ เช่น การผ่าตัด การรัดยาง การฉีดยาให้ริดสีดวงฝ่อ การตัดเย็บหัวริดสีดวง ซึ่งการรัดยางเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด[2]

ผู้ป่วยที่มีเพียงอาการ คัน แสบร้อน ระคายเคือง บวม แบบไม่รุนแรง อาจจะไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เนื่องจากเป็นอาการที่สามารถหายเองได้ แต่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คือ รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือการไม่นั่งในห้องน้ำนาน ๆ อาจจะสามารถใช้ยารูปแบบยาเหน็บทวารหรือยาทารูทวาร เพื่อช่วยบรรเทาอาการได้ เช่น ยาชาลดอาการปวด หรือยาสเตียรอยด์ลดอาการบวมและอักเสบ แต่ยังไม่มีการศึกษาผลจากการใช้ต่อเนื่องระยะยาว นอกจากนี้การใช้ยาอาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้[1] ตัวอย่างเช่น ยา Protosedyl® ซึ่งยาผสมระหว่าง ยาชา (cinchocaine HCl 5 mg) และยาสเตียรอยด์ (hydrocortisone 5 mg) เป็นต้น

Daflon® เป็นยารับประทานกลุ่ม flavonoids ประกอบด้วย diosmin 450 mg และ hesperidin 50 mg ถูกนำมาใช้รักษาริดสีดวง แต่ยังไม่ทราบถึงกลไกการออกฤทธิ์ที่แน่ชัด เชื่อว่าเกี่ยวกับการสร้างความแข็งแรงของหลอดเลือด เพิ่ม venous tone เพิ่ม lymphatic drainage และ stabilize capillary permeability[2] ประสิทธิภาพของการรักษายังไม่ชัดเจนนัก ซึ่งอาจจะช่วยลดการเลือดออกและอาการคันได้ แต่ไม่สามารถลดอาการปวดได้[3] ไม่พบประสิทธิภาพในการลดขนาดของริดสีดวง ยานี้มีอาการข้างเคียง ได้แก่ การเกิดผื่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย และอาการทางระบบประสาท ได้แก่ นอนไม่หลับ มึนเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ[4]

เพชรสังฆาต (Cissus quadrangularis Linn.) เป็นสมุนไพรที่ใช้กันในเอเชียและแอฟริกา ประกอบด้วยสารสำคัญคือ flavonoids, triterpenoids, ascorbic acid เป็นยาสมุนไพรที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ยังมีข้อมูลจำกัดเกี่ยวกับกลไกในการรักษาริดสีดวง เชื่อว่าสามารถแก้ปวด แก้อักเสบ และรักษาริดสีดวงได้ แต่ข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับเพชรสังฆาตเปรียบเทียบกับยาหลอก พบว่ายาไม่ได้มีประสิทธิภาพเหนือกว่ายาหลอก ทั้งในเรื่องของการลดอาการปวดและอาการบวม[5][6] ผลข้างเคียงของยา ได้แก่ ท้องเสีย ปวดท้อง ท้องผูก[6]

โดยสรุป ยาสมุนไพรเพชรสังฆาตและยา Daflon® มีประสิทธิภาพไม่ชัดเจนในการรักษาริดสีดวงทวาร การใช้ยาร่วมกันจะเพิ่มผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร ในกรณีของผู้ถามซึ่งใช้ Daflon® ร่วมกับ Protosedyl® ซึ่งยาที่ใช้อยู่ช่วยบรรเทาอาการริดสีดวงทวาร เช่น ความปวด บวม คัน เลือดออก ได้ ยังไม่มียาที่มีประสิทธิภาพในการลดขนาดของริดสีดวงทวาร หรือลดการกลับเป็นซ้ำ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น มีติ่งเนื้อโผล่ออกมาและไม่หดกลับ มีอาการปวด เลือดออกมาก จะต้องได้รับการรักษาโดยการทำหัตถการ

เอกสารอ้างอิง :
1.Handbook of Nonprescription Drugs: An Interactive Approach to Self-Care, 17th Edition
2.Davis BR, Lee-Kong SA, Migaly J, Feingold DL, Steele SR. The American Society of Colon and Rectal Surgeons Clinical Practice Guidelines for the Management of Hemorrhoids. Dis Colon Rectum. 2018 Mar;61(3):284-292.
3.Perera N(1), Liolitsa D, Iype S, Croxford A, Yassin M, Lang P, Ukaegbu O, van Issum C. Phlebotonics for haemorrhoids. Cochrane Database Syst Rev. 2012 Aug 15;(8).
4.MIMS Online [Internet]. Daflon 500: MIMS Thailand; 2020. cited 2020 Jan 10]. Available from: https://www.mims.com/thailand/drug/info/daflon%20500%20mg/?type=brief
5.Panpimanmas S, Sithipongsri S, Sukdanon C, Manmee C. Experimental comparative study of the efficacy and side effects of Cissus quadrangularis L. (Vitaceae) to Daflon (Servier) and placebo in the treatment of acute hemorrhoids. J Med Assoc Thai. 2010 Dec;93(12):1360-7.
6.Sawangjit R, Puttarak P, Saokaew S, Chaiyakunapruk N. Efficacy and Safety of Cissus quadrangularis L. in Clinical Use: A Systematic Review and Meta-analysis of Randomized Controlled Trials. Phytother Res. 2017 Apr;31(4):555-567
วันที่ตอบ : 02 มี.ค. 63 - 22:54:33




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110