ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Diutropan กับ detrusitol กับ spasmo-lyt ใช้รักษาอาการปัสสาวะเล็ด มีข้อบ่งใช้เลือ

Diutropan กับ detrusitol กับ spasmo-lyt ใช้รักษาอาการปัสสาวะเล็ด มีข้อบ่งใช้เลือกใช้ต่างกันอย่างไร?

[รหัสคำถาม : 74] วันที่รับคำถาม : 03 มี.ค. 63 - 20:34:27 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Diutropan® เป็นชื่อการค้าของยา oxybutynin chloride Detrusitol® เป็นชื่อการค้าของยา tolterodine และ Spasmo-lyt® เป็นชื่อการค้าของยา trospium chloride[1] ยาทั้งสามชนิดจัดอยู่ในกลุ่มยาต้านโคลิเนอร์จิก(anticholinergic agent) ซึ่งออกฤทธิ์ปิดกั้นหรือยับยั้งฤทธิ์ของสารสื่อประสาท acetylcholine ที่ muscarinic (M) receptor ชนิด M3 บริเวณ detrusor muscle[2] ซึ่งเป็นชั้นกล้ามเนื้อเรียบที่เรียงตัวสลับกันไปมาบริเวณกระเพาะปัสสาวะ มีหน้าที่ขยายตัวออกเพื่อเก็บกักน้ำปัสสาวะ และหดตัวเข้าเพื่อขับปัสสาวะออก[3] ส่งผลให้ลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะมีขนาดโตสามารถเก็บกักปัสสาวะได้มากขึ้น

ข้อบ่งใช้ :
ยาทั้งสามชนิดมีข้อบ่งใช้ในการรักษาอาการที่เกิดเนื่องจากการมีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (overactive bladder) เช่น ความรู้สึกปวดอยากปัสสาวะอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันจนต้องรีบไปปัสสาวะเร่งด่วน (urgency) กลั้นปัสสาวะไม่ได้หรือปัสสาวะเล็ดราด (urinary incontinence) และปัสสาวะบ่อย (frequency)[4]

รูปแบบยา ขนาดยาที่ใช้ และการปรับขนาดยาในผู้ที่มีการทำงานของตับและไตบกพร่อง :
Oxybutynin chloride ในรูปแบบออกฤทธิ์นาน (extended release, ER) เริ่มต้นใช้ขนาด 5-10 mg วันละ 1 ครั้ง สามารถปรับขนาดยาเพิ่มขึ้น 5 mg ทุก 1-2 สัปดาห์ ขนาดสูงสุดวันละ 30 mg ในรูปแบบออกฤทธิ์ทันที (immediate release, IR) เริ่มต้นใช้ขนาด 5 mg แบ่งรับประทาน 2-3 ครั้งต่อวัน สามารถปรับขนาดยาเพิ่มขึ้น 5 mg ทุก 1-2 สัปดาห์ ในผู้ที่มีภาวะโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทร่วมด้วยให้เริ่มขนาดยาที่ 2.5 mg แบ่งรับประทาน 2-3 ครั้งต่อวัน ขนาดสูงสุด 5 mg วันละ 4 ครั้ง ไม่ต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับและไตบกพร่อง เนื่องจากมีปริมาณยาที่ถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับและขับออกทางไตน้อยมาก (<0.1%)[4]
Tolterodine ในรูปแบบออกฤทธิ์นาน ขนาด 4 mg รับประทาน วันละ 1 ครั้ง และรูปแบบออกฤทธิ์ทันที ขนาด 2 mg รับประทานวันละ 2 ครั้ง ต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับและไตบกพร่อง เนื่องจากยาถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับได้เป็นสารที่ยังคงมีฤทธิ์และขับออกทางไตเป็นหลัก (77%) ควรพิจารณาปรับขนาดยาลงครึ่งหนึ่งหากรับประทานร่วมกับยาที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4 เช่น ketoconazole clarithromycin ritonavir เป็นต้น[4]
Trospium chloride ในรูปแบบออกฤทธิ์นาน ขนาด 60 mg รับประทานวันละ 1 ครั้ง ตอนเช้า ในรูปแบบออกฤทธิ์ทันที ขนาด 20 mg รับประทานวันละ 2 ครั้ง ในผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของไตบกพร่อง (CrCl<30 mL/min) ต้องปรับขนาดยาในรูปแบบออกฤทธิ์ทันทีเป็น 20 mg รับประทานวันละครั้งและหลีกเลี่ยงการใช้ยาในรูปแบบออกฤทธิ์นาน[4] เนื่องจากยาถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับน้อยมาก (10%) และยาส่วนใหญ่ถูกขับออกทางไต[5]

อาการไม่พึงประสงค์ :
รายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่พบในยาทั้งสามชนิดมักเกิดจากฤทธิ์ anticholinergic ของยาจากการต้านการออกฤทธิ์ของ acetylcholine ต่อ M3 receptor บริเวณกล้ามเนื้อเรียบบริเวณทางเดินอาหาร ต่อมน้ำลาย และกล้ามเนื้อม่านตา[4] ก่อให้เกิดอาการข้างเคียง ท้องผูก ปวดท้อง ท้องอืด ปากแห้ง ตาพร่ามัวหรือมีการมองเห็นผิดปกติ เป็นต้น รวมทั้งอาการไม่พึงประสงค์ต่อระบบประสาทส่วนกลางในกลุ่มยาที่สามารถแพร่ผ่านเข้าสมองส่วนกลางได้ เช่น มึนงง ง่วงซึม ปวดศีรษะ เป็นต้น แต่เนื่องจาก trospium เป็นยากลุ่มใหม่ที่มีความจำเพาะต่อกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะมากกว่ายาตัวอื่น และไม่สามารถแพร่ผ่านเข้าสู่สมองส่วนกลางได้ ในขณะที่ tolterodine และ oxybutynin สามารถแพร่ผ่านเข้าสู่สมองส่วนกลางได้ trospium จึงมีรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากฤทธิ์ anticholinergic และอาการไม่พึงประสงค์ทางระบบประสาทน้อยกว่า oxybutynin และ tolterodine[6]

ข้อห้ามใช้และข้อควรระมัดระวัง :
ยาทั้งสามชนิดมีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะอุดตันของทางเดินปัสสาวะหรือต้อหินมุมปิดที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิด นอกจากนี้ยาทั้งสามชนิดสามารถลดการเคลื่อนไหวในทางเดินอาหารจึงควรระมัดระวังการใช้ในผู้ที่มีอาการท้องผูก หรือมีแผลในทางเดินอาหาร รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง เช่น myasthenia gravis นอกจากนี้ tolterodine ยังมีรายงานการเกิด QT prolong จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ที่มีประวัติการเกิด QT prolong หรือมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ[2]

ประสิทธิภาพในการรักษา :
ยาทั้งสามชนิดยังไม่มีข้อมูลการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพการรักษาโดยตรง จากการสืบค้นข้อมูล พบว่า
: ความสามารถในการลดจำนวนการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
oxybutynin มีประสิทธิภาพดีกว่า tolterodine[7]
: ความสามารถในการลดความถี่การถ่ายปัสสาวะ
trospium มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ tolterodine หรือ oxybutynin แต่ tolterodine มีประสิทธิภาพดีว่า oxybutynin[7] อย่างไรก็ตามจากความเห็นจากแพทย์ที่มีประสบการณ์การใช้ยาจากหลายสถาบันระบุให้ความเห็นว่า trospium มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ oxybutynin หรือ tolterdine ในการรักษาภาวะ overactive baldder[8-10]
ยาทั้งสามชนิดมีราคายาที่แตกต่างกันออกไป โดย oxybutynin ในรูปแบบ film coated tablets 5 mg ราคา 24 บาท/เม็ด ในรูปแบบออกฤทธิ์นาน 5 mg ราคา 195 บาท/เม็ด ส่วน tolterodine ในรูปแบบ film coated tablets 20 mg ราคา 103 บาท/เม็ด ในรูปแบบออกฤทธิ์นาน 2 mg ราคา 250 บาท/แคปซูล และTrospium chloride ในรูปแบบ film coated tablets 20 mg ราคา 89 บาท/เม็ด ในรูปแบบออกฤทธิ์นาน 60 mg ราคา 210 บาท/เม็ด[4]

ดังนั้นการเลือกใช้ยาทั้งสามชนิดควรพิจารณาถึง ภาวะการทำงานของตับและไตของผู้ป่วย ข้อห้ามใช้ของยา การเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาหรือความสามารถในการทนยา (tolerability) ของผู้ป่วย การใช้ยาอื่นร่วมของผู้ป่วย รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุดในการรักษาและผู้ป่วยมีความร่วมมือในการใช้ยา

เอกสารอ้างอิง :
1. MIMS Online Thailand. 2020. Available from: http://www.mims.com/thailand/drug/info/?type=brief
2. Hesch K. Agents for treatment of overactive bladder: a therapeutic class review. Proc (Bayl Univ Med Cent). 2007;20(3):307–314. doi:10.1080/08998280.2007.11928310.
3. Lexi-Comp, Inc. Urodynamic evaluation of women with incontinence. Drug information. [Online]. Available from: UpToDate online;2020. [cited 2020,Feb,15]
4. Lexi-Comp, Inc. Drug information. [Online]. Available from: UpToDate online;2020. [cited 2020,Feb,15]
5. Doroshyenko O, Jetter A, Odenthal KP, Fuhr U. Clinical pharmacokinetics of trospium chloride. Clin Pharmacokinet (2005) 44: 701-720
6. Hulya D. What is the success of drug treatment in urge urinary incontinence? What should be measured?. Arch Gynecol Obstet (2013) 287:511–518. Doi: 10.1007/s00404-012-2596-8.
7. Abrams P, Freeman R, Anderstrom C, Mattiasson A. Tolterodine, a new antimuscarinic agent: as effective but better tolerated than oxybutynin in patients with an overactive bladder. Br J Urol 1998;81(6):801–810.
8. Halaska M, Ralph G, Wiedemann A, Primus G, Ballering-Bruhl B, Hofner K, Jonas U. Controlled, double-blind, multicentre clinical trial to investigate long-term tolerability and efficacy of trospium chloride in patients with detrusor instability. World J Urol 2003;20(6):392–399.
9. Hashim H, Abrams P. Drug treatment of overactive bladder: efficacy, cost and quality-of-life considerations. Drugs 2004;64(15):1643–1656.
10. Trospium chloride (Sanctura): another anticholinergic for overactive bladder. Med Lett Drugs Ther 2004;46:63–64.

วันที่ตอบ : 03 มี.ค. 63 - 21:00:47




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110