ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
แฟนเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 พบหมอที่สถาบันมะเร็ง คุณหมอให้ทานยาทาม๊อคซิเฟน หลัง

แฟนเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 พบหมอที่สถาบันมะเร็ง คุณหมอให้ทานยาทาม๊อคซิเฟน หลังจากตรวจชิ้นเนื้อ ไม่ต้องให้คีโม เพราะมี Her-2 เป็น 3+ กลัวผลข้างเคียงจากยามาก แต่ก็กลัวมะเร็งกลับมาเป็นอีก พบว่ามีการวิจัยว่ายา "TAS-108" ได้ผลดีกว่า ไม่ทราบว่าเมืองไทยมีขายหรือยัง

[รหัสคำถาม : 75] วันที่รับคำถาม : 03 มี.ค. 63 - 22:03:43 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงทั่วโลก เกิดจากมีการแบ่งตัวผิดปกติไม่สามารถควบคุมได้ของเซลล์ที่อยู่ภายในต่อมหรือท่อน้ำนม ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ การมีระดับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนสูงในร่างกายเนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนมีฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดการแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนของเซลล์เนื้อเยื่อเต้านม และการมีความผิดปกติหรือมีการกลายพันธุ์ของยีน HER-2 ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์โดยมียีน HER-2 แสดงออกมาให้เห็นมากเกินไปเป็นผลให้มีการเพิ่มจำนวนตัวรับ HER-2 (HER-2 receptor) บนผิวของเซลล์เนื้อเยื่อเต้านมอย่างผิดปกติ เรียกผู้ป่วยที่มีตัวรับสัญญาณฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen receptor) เป็นบวกว่า Estrogen receptor (ER) positive disease และเรียกผู้ป่วยที่มีตัวรับยีน HER-2 (HER-2 receptor) เป็นบวกว่า HER-2 positive disease ระดับการแสดงออกของ estrogen และ HER-2 มีความสำคัญต่อการพิจารณาแนวทางการรักษา และการพยากรณ์การดำเนินโรคและการตอบสนองต่อการรักษา
ผู้ป่วยกลุ่ม ER positive disease แนวทางหลักในการรักษาคือ ยาต้านฮอร์โมน (endocrine therapy)
ผู้ป่วยกลุ่ม HER-2 positive disease แนวทางหลักในการรักษาคือ ยาต้าน HER-2 (anti-HER-2 therapy)
ผู้ป่วยที่ให้ผลบวกต่อการตรวจระดับตัวรับฮอร์โมนเพศหญิงหรือ HER-2 แนวทางหลักในการรักษาคือ ยาต้าน HER-2 และ/หรือร่วมกับยาต้านฮอร์โมน
ผู้ป่วยที่ให้ผลลบต่อการตรวจระดับตัวรับฮอร์โมนเพศหญิงหรือ HER-2 แนวทางหลักในการรักษาคือ ยาเคมีบำบัด (chemotherapy)[1]
ชนิดของตัวรับเอสโตรเจนมี 2 ชนิด คือ ตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดแอลฟา (estrogen receptor alpha; ER-α) และตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดเบต้า (estrogen receptor beta; ER-β) ซึ่ง ER-α พบได้ส่วนใหญ่ในเนื้อเยื่อของระบบสืบพันธุ์ (มดลูกและรังไข่) เต้านม ไต กระดูก เนื้อเยื่อไขมัน และตับ ส่วน ER-β พบได้ในรังไข่ อัณฑะ ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบประสาทส่วนปลาย เยื่อบุหลอดเลือด กล้ามเนื้อเรียบ ปอด ต่อมลูกหมาก ลำไส้ใหญ่ ไต และระบบภูมิคุ้มกัน โดยมะเร็งเต้านมมากกว่าครึ่งมีการแสดงออกของ ER-α เป็นจำนวนมาก ส่วนการแสดงออกของ ER-β พบได้ประมาณ 80% ของเซลล์เยื่อบุเต้านมปกติ และมีการแสดงออกของตัวรับนี้ลดลงหรือตรวจไม่พบในเซลล์มะเร็งเต้านม ดังนั้นการตรวจพบ ER-β จะสัมพันธ์กับการพยากรณ์โรคที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในทางตรงกันข้าม การตรวจไม่พบ ER-β จะสัมพันธ์กับการพยากรณ์โรคที่แย่ลง[2]
ยาต้านฮอร์โมนที่นำมาใช้ในการรักษามะเร็งเต้านม แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ดังนี้ [1]
1). Selective estrogen receptor modulators (SERMs)
SERMs ทำงานโดยไปแย่งจับที่ตัวรับเอสโตรเจนของเซลล์เนื้อเยื่อเต้านม แบบ partial estrogen antagonist ทำให้เอสโตรเจนไม่สามารถมาจับกับตัวรับเอสโตรเจนและออกฤทธิ์ได้ ส่งผลให้มีการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลดลง แต่ในขณะเดียวกันยากลุ่มนี้จะไปกระตุ้นเพิ่มการทำงานของเอสโตรเจนที่เซลล์เยื่อบุมดลูก กระดูก และระบบหัวใจและหลอดเลือด (partial estrogen agonist) ยาในกลุ่มนี้ที่มีการใช้ในประเทศไทยในปัจจุบันคือ tamoxifen raloxifene และ toremifene[3]
Tamoxifen มีข้อบ่งใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม (metastatic breast cancer) ที่มีตัวรับเอสโตรเจนเป็นบวกและใช้ในการรักษาเสริม (adjuvant therapy) ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกที่ตัวรับเอสโตรเจนเป็นบวก รวมทั้งมีข้อบ่งใช้ในการลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งเต้านม โดยสามารถใช้ได้ทั้งในผู้ป่วยหญิงที่ยังมีประจำเดือนหรือหมดประจำเดือนแล้ว[4]
ผลข้างเคียงจากยา Tamoxifen ที่พบได้บ่อย มีดังนี้[4]
- ระบบต่อมไร้ท่อและเมทาบอลิซึม (endocrine & metabolic) เช่น อาการร้อนวูบวาบ (3% ถึง 80%) บวม (32%) น้ำหนักลด (23%) ประจำเดือนไม่มา (16%) เป็นต้น
- ระบบสืบพันธุ์ (genitourinary) เช่น ตกขาว (13% ถึง 55%) มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดผิดปกติ (2% ถึง 23%) เป็นต้น
- ระบบทางเดินอาหาร (gastrointestinal) เช่น คลื่นไส้ (5% ถึง 26%) อาเจียน (12%) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงจากยา Tamoxifen ที่รุนแรงแต่มีโอกาสเกิดน้อย ดังนี้
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular) เช่น โรคหัวใจขาดเลือด (ischemic heart disease) (3%) ลิ่มเลือดในหลอดดำอุดตัน (deep vein thrombosis) (≤2%) กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (myocardial infarction) (1%) เป็นต้น
- ระบบต่อมไร้ท่อและเมทาบอลิซึม เช่น เนื้องอกรังไข่ (3%) เป็นต้น
- ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (neuromuscular & skeletal) เช่น กระดูกพรุน (7%) เป็นต้น
Raloxifene และ Toremifene ให้ผลในการรักษามะเร็งเต้านมได้ไม่แตกต่างกับ Tamoxifen แต่ Raloxifene และ Toremifene ส่งผลให้เกิดกระดูกพรุนได้น้อยกว่า Tamoxifen[5] แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยา Tamoxifen จัดเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ (บัญชี ค.) ส่วน Raloxifene และ Toremifene จัดเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ[6]
2). Aromatase inhibitors (AIs)[1]
ยากลุ่มนี้มีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อโรมาเตส (aromatase) ที่มีหน้าที่เปลี่ยนฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจนเป็นฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน ที่ต่อมหมวกไต (ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างก็มีฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน และฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน แต่มีในระดับที่แตกต่างกัน) โดยเอนไซม์อโรมาเตสพบอยู่ในเซลล์ไขมัน เซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์มะเร็งเอง ยากลุ่มนี้มีความแตกต่างจาก tamoxifen ตรงที่ไม่มีผลในการกระตุ้นการออกฤทธิ์ของเอสโตรเจน (no partial estrogen agonist activity) สามารถแบ่งได้เป็นชนิดสเตียรอยด์ (steroidal AIs) ซื่งจับกับตำแหน่งที่ออกฤทธิ์ของเอนไซม์อย่างถาวรเป็นผลให้เอนไซม์นั้นไม่สามารถทำงานได้อีกอย่างถาวร ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ exemestane (aromasin®) และกลุ่มไม่ใช่สเตียรอยด์ซึ่งจับกับตำแหน่งที่ออกฤทธิ์ของเอนไซม์แบบไม่ถาวร เอนไซม์นั้นจะสามารถกลับมาทำงานได้อีก ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ anastrozole (arimidex®) และ letrozole (femara®)
ยาต้านการทำงานของเอนไซม์อโรมาเตสจัดเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่หมดประจำเดือนแล้ว เนื่องจากการสร้างเอสโตรเจนทั้งหมดของร่างกายในผู้ป่วยกลุ่มนี้มาจากต่อมหมวกไต ในทางตรงกันข้าม การใช้ยาต้านการทำงานของเอนไซม์อโรมาเตสเพียงอย่างเดียว (monotherapy) ถือเป็นข้อห้ามในการรักษาผู้ป่วยที่ยังมีประจำเดือน ทั้งนี้นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์จากการใช้ยาดังกล่าวแล้วยังส่งผลเสียตามมาอีกด้วย เนื่องจากมีการกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมน gonadotropin (FSH, LH) และกระตุ้นให้มีการตกไข่ ส่งผลให้มีการสร้างเอสโตรเจนจากรังไข่มากขึ้นเนื่องจากเอสโตรเจนยังคงถูกสร้างจากรังไข่ได้
ผลข้างเคียงของยาต้านการทำงานของเอนไซม์อโรมาเตสที่สำคัญ ได้แก่[7]
- ระบบกระดูก เช่น ปวดเมื่อยตามข้อ การลดลงของมวลกระดูกที่ส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกเสื่อมและกระดูกหัก
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด มีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น
ข้อดีของยากลุ่มนี้เมื่อเปรียบเทียบกับ tamoxifen คือมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก อาการทางระบบสืบพันธุ์ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด หลอดเลือดสมองตีบ และลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำน้อยกว่า tamoxifen
3). Selective estrogen receptor downregulators (SERDs)[1]
ยากลุ่มนี้ทำงานโดยขัดขวางการจับกันระหว่างเอสโตรเจนและตัวรับเอสโตรเจนเช่นเดียวกับ tamoxifen แต่หลังจากจับกันแล้ว จะทำให้ตัวรับเอสโตรเจนไม่สามารถทำงานได้อีก ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ fulvestrant (faslodex®) SERDs ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะโรคลุกลามวัยหลังหมดประจำเดือนที่ล้มเหลวจากการได้รับยาต้านฮอร์โมนกลุ่มอื่นมาก่อน
ผลข้างเคียงจากยากลุ่มนี้ที่พบได้บ่อย ดังนี้[8]
- ระบบต่อมไร้ท่อและเมทาบอลิซึม เช่น อาการร้อนวูบวาบ มีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง เป็นต้น
- ระบบประสาทส่วนกลาง เช่น อ่อนเพลีย ปวดหัว เป็นต้น
- ระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง เป็นต้น
4). ยายับยั้งการหลั่งฮอร์โมน gonadotropins (FSH, LH) จากต่อมใต้สมองเพื่อยับยั้งไม่ไห้มีการตกไข่

ยาต้าน HER-2: Trastuzumab เป็นยา recombinant monoclonal antibody (mAb) ที่ยับยั้งการแสดงออกของยีน HER-2 มีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งเต้านมในผู้ป่วยที่มีการแสดงออกของยีน HER-2 ร่วมกับการรักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัด การให้ยา Trastuzumab เเนะนำให้ใช้เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยกลไกในการออกฤทธิ์ของยายังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน กลไกการออกฤทธิ์ที่อาจเป็นไปได้ของยา Trastuzumab คือ ยับยั้งไม่ให้เกิดการรวมตัวกันระหว่างตัวรับ HER-2 และตัวรับของ Epidermal growth factor receptor (EGFR receptor) ทำให้ยับยั้งการส่งสัญญาณกระตุ้นเซลล์มะเร็ง กระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มาทำลายเซลล์มะเร็ง และกระตุ้นให้เกิดกระบวนการนำ transtuzumab ที่จับกับตัวรับ HER-2 เข้าสู่เซลล์ตามด้วยการย่อยสลาย ทำให้ตัวรับ HER-2 ที่ผิวเซลล์ลดจำนวนลง[9]
ผลข้างเคียงจากยา Trastuzumab ที่พบได้บ่อย ดังนี้[9]
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ลดการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้าย เป็นต้น
- ระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ปวด สั่น ปวดหัว นอนไม่หลับ มึนงง เป็นต้น
- ระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง เป็นต้น
- ระบบภูมิคุ้มกันทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น อ่อนแรง ปวดหลัง เป็นต้น

TAS-108 เป็นยาในกลุ่มสเตียรอยด์ที่มีการพัฒนาเพื่อใช้ในการรักษามะเร็งเต้านมทั้งในผู้ป่วยหญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนและหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีตัวรับเอสโตรเจนเป็นบวก[10] โดยมีกลไกในการออกฤทธิ์ต่อตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนทั้งชนิด ER-α และ ER-β ซึ่งแตกต่างจากยาต้านฮอร์โมนเอสโตรเจนตัวอื่นๆที่มีการใช้ก่อนหน้า โดยจากการศึกษาของ Yamamoto Y และคณะ, 2005 พบว่ายา TAS-108 มีฤทฺธิ์ยับยั้งการทำงานของ ER-α (pure antagonist) บริเวณเต้านม และมีฤทฺธิ์กระตุ้นการทำงานของ ER-β บางส่วน (partial agonist) บริเวณมดลูก ซึ่งแตกต่างจาก tamoxifen ที่มีฤทฺธิ์กระตุ้นการทำงานของ ER-α บางส่วน ส่วน raloxifene มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อ ER-α และ ER-β ไม่แตกต่างกับยา TAS-108 แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องของความสามารถในการจับกับตัวรับเอสโตรเจน โดย raloxifene มีความสามารถในการจับกับ ER-β น้อยกว่า ER-α 10 เท่า แต่ TAS-108 มีความสามารถในการจับกับตัวรับเอสโตรเจนทั้ง 2 ชนิดเท่าๆกัน ยา TAS-108 มีความแตกต่างจาก fulvestrant โดย fulvestrant มีฤทฺธิ์ยับยั้งการทำงานต่อทั้ง ER-α และ ER-β ผลการศึกษาผลของยาต่อมดลูก TAS-108 มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของตัวรับเอสโตรเจนที่มดลูก และมีความเสี่ยงต่ำในการเกิดมะเร็งเยื่อบุมดลูก[11]
จากข้อมูลเท่าที่มีมาถึงปัจจุบัน ยา TAS-108 ยังอยู่ในช่วงของการวิจัยทางคลินิก (Clinical trial) ซึ่งได้ทำการวิจัยในระยะที่ 2 (Phase II) จบแล้ว และกำลังวางแผนที่ทำการวิจัยในระยะที่ 3 ต่อไป โดยในการวิจัยระยะที่ 2 ได้ทำการวิจัยเพื่อหาขนาดยารักษาที่เหมาะสม (optimal dose) ในการรักษามะเร็งเต้านมในผู้ป่วยหญิงวัยหมดประจำเดือนแล้วที่มีตัวรับเอสโตรเจนเป็นบวก พบว่าขนาดยาที่เหมาะสมของ TAS-108 คือ 40 mg รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ทุกวัน[12]

เอกสารอ้างอิง
1. NCCN Clinical Practice Guidelines in Oncology (NCCN Guidelines®). Breast cancer Version 2.2020. Available at: https://www.nccn.org/professionals/physician_gls/pdf/breast.pdf. Accessed on January 14, 2020.
2. Lee HR, Kim TH, Choi KC. Functions and physiological roles of two types of estrogen receptors, ERα and ERβ, identified by estrogen receptor knockout mouse. Lab Anim Res. 2012;28(2):71-76.
3. MIMS Thailand. Cancer hormone therapy. Available at: https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=cancer%20hormone%20therapy&context=therapeutic%20classes&overridecontextsearchinput=false. Accessed on January 14, 2020.
4. Tamoxifen: Drug information. In: Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2019. Accessed on January 14, 2020.
5. Johnston S. Endocrinology and hormone therapy in breast cancer: Selective oestrogen receptor modulators and down regulators for breast cancer. BCR. 2005;7(3):119-30.
6. สำนักคณะกรรมการอาหารและยา. รายการบัญชียาหลักแห่งชาติ. Available at: www.fda.moph.go.th/sites /drug /New/nlem2561.pdf. Accessed on January 14, 2020.
7. Aromatase inhibitors: Drug information. In: Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2019. Accessed on January 14, 2020.
8. Fulvestrant: Drug information. In: Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2019. Accessed on January 14, 2020.
9. Trastuzumab: Drug information. In: Post TW, ed. UpToDate. Waltham: UpToDate; 2019. Accessed on January 14, 2020.
10. TAS-108. Available at: https://www.drugbank.ca/drugs/DB05966. Accessed on January 14, 2020.
11. Yamamoto Y, Shibata J, Yonekura K, Sato K, Hashimoto A, Aoyagi Y, Wierzba K, Yano S, Asao T, Buzdar AU, Terada T: TAS-108, a novel oral steroidal antiestrogenic agent, is a pure antagonist on estrogen receptor alpha and a partial agonist on estrogen receptor beta with low uterotrophic effect. Clin Cancer Res. 2005 Jan 1;11(1):315-22.
12. Inaji H, Iwata H, Nakayama T, Yamamoto N. Randomized phase II study of three doses of oral TAS-108 in postmenopausal patients with metastatic breast cancer. 2012 Jun; 103(9):1708-13. DOI: 10.1111/j.1349-7006.2012.02354.x. Accessed on January 14, 2020.
วันที่ตอบ : 03 มี.ค. 63 - 22:23:40




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110