ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ผมมีปัญหาผมร่วงมาตั้งแต่อายุ 20 ปี ตอนนี้คุณหมอให้กินยา finasteride แต่ก็ไม่ได้เ

ผมมีปัญหาผมร่วงมาตั้งแต่อายุ 20 ปี ตอนนี้คุณหมอให้กินยา finasteride แต่ก็ไม่ได้เห็นผลชัดเจน แต่มีปัญหาเมื่อทานได้ประมาณ 1 ปี มีอาการของขนที่แขน และขาร่วง โดยก่อนร่วงจะมีจุดแดงที่รูขน เลยอยากทราบว่าเป็นอาการข้างเคียงของยาหรือไม่

[รหัสคำถาม : 77] วันที่รับคำถาม : 04 มี.ค. 63 - 13:46:32 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ปัญหาผมร่วงส่วนใหญ่พบได้ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี แบ่งความรุนแรงเป็น 3 ระดับ คือ ผมร่วงระดับเล็กน้อยซึ่งจะมีผมร่วงเป็นหย่อม ผมร่วงระดับปานกลางซึ่งจะมีผมร่วงทั้งศีรษะ และผมร่วงระดับรุนแรงมากซึ่งจะมีผมร่วงทั้งศีรษะร่วมกับมีขนที่คิ้วหรือตามตัวร่วงด้วย[1] ส่วนใหญ่สามารถหายเองได้ภายใน 1 ปี (34-50%) และบางรายอาจลุกลามเป็นผมร่วงทั้งศีรษะ หรือ ผมร่วงทั้งศีรษะร่วมกับมีขนคิ้วหรือตามตัวร่วงด้วย (14-25%) ระยะเวลาในการเกิดผมร่วงจะแตกต่างไปในแต่ละบุคคลไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ โดยพบว่าในผู้ทีมีอายุน้อยกว่า 30 ปีและมีอาการเล็บฝ่อร่วมด้วยจะมีโอกาสเกิดผมร่วงแบบรุนแรงได้[2]
แนวทางการรักษาอาการผมร่วงขึ้นกับระดับความรุนแรงของการเกิดผมร่วง กรณีที่มีผมร่วงระดับระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ยาที่ใช้รักษาคือ ยา finasteride รูปแบบรับประทาน และยา minoxidil รูปแบบใช้ภายนอก กรณีผมร่วงระดับรุนแรงที่มีผมร่วงทั้งศีรษะร่วมกับมีขนที่คิ้วหรือตามตัวร่วงด้วย อาจต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive drug) การรักษาด้วยแสงอัลตราไวโอเลตเอ (PUVA) หรือ minoxidil รูปแบบใช้ภายนอก
ยา Finasteride ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประเทศอังกฤษ ว่าสามารถใช้ในการรักษาผมร่วงในผู้ที่มีผมร่วงบริเวณตรงกลางศีรษะและแนวผมด้านหน้าระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยให้รับประทานยา finasteride 1 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน จากการติดตามประสิทธิภาพของการใช้ยา finasteride ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี พบว่า ผู้ป่วยจะมีจำนวนผมเพิ่มขึ้นจากเดิมและผมร่วงน้อยลงหลังจากใช้ยาไป 1 ปี หลังจากนั้นผลการรักษาจะเริ่มลดลงจนอยู่ในระดับคงที่ในปีที่ 4 ของการใช้ยา และกลับไปมีอาการผมร่วงเหมือนเดิมได้หากผู้ป่วยหยุดใช้ยาเป็นเวลา 6-9 เดือน สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปีแล้วผมยังไม่ขึ้นเพิ่มจากเดิม แสดงว่าผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา finasteride[3],[4],[5] ผลข้างเคียงจากการใช้ยา finasteride ที่พบ ได้แก่ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ความต้องการทางเพศลดลง การหลั่งน้ำอสุจิผิดปกติ เต้านมโตในเพศชาย ซึมเศร้า ในผู้ที่ใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลา 4-6 ปี สามารถพบภาวะความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า แขนขาบวม และเยื่อบุจมูกอักเสบได้[6],[7] อย่างไรก็ตามจากการสืบค้นจากฐานข้อมูลสารสนเทศทางยายังไม่พบรายงานการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการขนที่แขนหรือขาร่วง
คาดว่าอาการขนที่แขนขาร่วงของผู้ป่วยไม่ได้เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา finasteride แต่อาจเกิดจากการที่ผู้ป่วยใช้ยา finasteride ไม่ได้ผล หรือเกิดจากการมีผมร่วงในระดับที่รุนแรงมากขึ้นที่ส่งผลให้มีขนที่แขนขาร่วงด้วย แนวทางการรักษาผมร่วงด้วยยากรณีที่ใช้ยา finasteride ไม่ได้ผล สามารถเปลี่ยนไปใช้ยาทาภายนอก 3% minoxidil ทาที่บริเวณหนังศีรษะวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 6-7 เดือน จากข้อมูลประสิทธิผลการรักษา พบว่า ผู้ป่วยจะมีผมขึ้นเพิ่มจากเดิมและมีผมร่วงลดลงหลังจากใช้ยาไป 1 ปี อย่างไรก็ตามจากการติดตามผลการรักษาด้วยยา minoxidil ติดต่อกันเป็นเวลานาน 5 ปี พบว่า ประสิทธิผลในการรักษาจะค่อยๆลดลง แต่จำนวนเส้นผมจะยังมีมากกว่าเมื่อตอนเริ่มต้นการรักษา[2] และอาจจะกลับมามีอาการผมร่วงได้อีกเมื่อหยุดใช้ยา การศึกษาวิจัยทางคลินิกล่าสุดในปี 2018 ในรูปแบบการศึกษาแบบการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized double-blind controlled trial) ในผู้ป่วยที่มีผมร่วงระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง จำนวน 40 ราย โดยใช้ยา minoxidil ร่วมกับยา finasteride ในรูปแบบยาทาใช้ภายนอก ทาติดต่อกันนาน 24 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับยาทาภายนอก minoxidil เดี่ยวๆ พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับยาทาภายนอก 0.25% finasteride ร่วมกับยาทาภายนอก 3% minoxidil จะมีความหนาของเส้นผมมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาทาภายนอก 3% minoxidil minoxidil เพียงอย่างเดียว และไม่พบการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาในผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม[8] อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ได้ติดตามผู้ป่วยในระยะเวลานาน 24 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมตามคำแนะนำในการใช้ยา finasteride คือใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน และยา minoxidli คือใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลา 6-7 เดือน แต่ข้อมูลในส่วนของผลข้างเคียงจากการใช้ยายังอาจจะไม่ชัดเจน เนื่องจากไม่ได้มีการติดตามผู้ป่วยต่อเนื่องหลังจากจบการรักษา จึงไม่มีรายงานการเกิดผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการใช้ยาเป็นระยะเวลานานกว่า 24 สัปดาห์

เอกสารอ้างอิง
1. พญ.ชมนาด นวดปลอด. Alopecia and Hair shaft disorder. Dermatology. 2018;10:4-10.
2. สุนิสา ไทยจินดา. ผมร่วง และศีรษะล้าน. สงขลานครินทร์เวชสาร. 2008;6:587-99.
3. Gold Standard. Finasteride. [Internet]. Drug monograph. 2018 [cited 2020 Jan 1]. Available from: https://www.clinicalkey.com/#!/content/drug_monograph/6-s2.0-247
4. Yoshitake T, Takeda A, Ohki K, Inoue Y, Yamawaki T, Otsuka S, Akimoto M,
Nemoto M, Shimakura Y, Sato A. Five-year efficacy of finasteride in 801 Japanese
men with androgenetic alopecia. J Dermatol. 2015 Jul;42(7):735-8.
5. Jeff Donovan, MD, PhDBeth G Goldstein, MDAdam O Goldstein, MD, MPH. Treatment of androgenetic alopecia in men. Uptodate. Feb 27, 2019.
6. Finasteride. In: Lexi-drug online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: 2019 [update 23 Feb 2019; cited 1 Jan 2020]. Available from: https://online.lexi.com/lco/action/doc/retrieve/docid/multinat_f/4669458?cesid=5e9EYtfI8Vd&searchUrl=%2Flco%2Faction%2Fsearch%3Fq%3Dfinasteride%26t%3Dname%26va%3Dfinasteride
7. Jason M. Hirshburg, MD, PhD, Petra A. Kelsey, BS and Jason S. Reichenberg, MD. Adverse Effects and Safety of 5-alpha Reductase Inhibitors (Finasteride, Dutasteride): A Systematic Review. 2016 Jul;9(7):56-62.
8. Suchonwanit P, Srisuwanwattana P, Chalermroj N, Khunkhet S. J Eur Acad Dermatol Venereol. A randomized, double-blind controlled study of the efficacy and safety of topical solution of 0.25% finasteride admixed with 3% minoxidil vs. 3% minoxidil solution in the treatment of male androgenetic alopecia. 2018 Dec;32(12):2257-2263.

วันที่ตอบ : 04 มี.ค. 63 - 13:49:17




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110