ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
เคยป่วยเป็นโรคไตอักเสบ หมอให้การรักษาโดยให้กินยาเพรดนิโซโลน 5 mg ตั้งแต่วันละ 6

เคยป่วยเป็นโรคไตอักเสบ หมอให้การรักษาโดยให้กินยาเพรดนิโซโลน 5 mg ตั้งแต่วันละ 6 เม็ด และลดยามาเรื่อยๆ จนเหลือ 1 เม็ด แต่ตอนนี้ต้องการหยุดกินยานี้ จะต้องทำอย่างไร หยุดได้เลยหรือไม่ครับ

[รหัสคำถาม : 78] วันที่รับคำถาม : 05 มี.ค. 63 - 19:16:28 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

จากคำถาม “เคยป่วยเป็นโรคไตอักเสบ หมอให้การรักษาโดยให้กินยาเพรดนิโซโลน 5 mg ตั้งแต่วันละ 6 เม็ด และลดยามาเรื่อยๆ จนเหลือ 1 เม็ด แต่ตอนนี้ต้องการหยุดกินยานี้ จะต้องทำอย่างไร หยุดได้เลยหรือไม่ครับ”

โรคไตอักเสบ (Glomerulonephritis) เป็นคำเรียกรวมของความผิดปกติของหน่วยไต ที่มีกลไกการเกิดหลายแบบ เช่น ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน การสร้างแอนติบอดี (ผ่าน humoral Immunologic mechanism) การตอบสนองผ่านเซลล์ (cell-mediated Immunologic mechanism) หรือกระบวนการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เป็นต้น ที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยไต[1]
แนวทางการรักษาด้วยยา มีการใช้ยาหลายกลุ่ม ยาที่มักใช้เป็นส่วนใหญ่เป็ยยาในกลุ่ม Corticosteroid โดยมีระยะเวลาการรักษา 4 สัปดาห์ถึง 16 สัปดาห์[1] การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ในระยะสั้นไม่เกิน 3 สัปดาห์ สามารถหยุดยาได้โดยไม่ต้องค่อยๆลดขนาดยาแม้ใช้ในขนาดสูง[2] แต่หากใช้ยาเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 3-4 สัปดาห์ คาดว่ามีผลกดการทำงานของต่อมหมวกไต การหยุดยาจึงต้องค่อยปรับลดขนาดยาก่อนหยุดยา[3] เป้าหมายของการลดขนาดยาคือ เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคและป้องกันอาการจากการขาดฮอร์โมน cortisol[2] แนวทางการปรับลดขนาดยาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ โรคร่วม ระยะเวลาการใช้ยาก่อนหน้า เป็นต้น[2]
โดยการปรับลดขนาดยายังไม่มีแนวทางการปรับลดขนาดยาที่ชัดเจน[4] ทำให้มีแนวทางการปรับลดขนาดยาหลายวิธี
เช่น แนวทางการปรับลดขนาดยาในผู้ใหญ่ ที่ต้องทดสอบการทำงานของ HPA-axis ร่วมด้วย มีแนวทางดังนี้[4]
1. ปรับลดขนาดยาครั้งละ 2.5-5 mg ทุก 3-7 วัน จนกระทั่งถึง physiologic dose (5-7.5 mg prednisone/วัน)
2. เปลี่ยนไปใช้ยา Hydrocortisone 20 mg วันละครั้ง ตอนเช้า
3. ค่อยๆลดขนาดยา Hydrocortisone ครั้งละ 2.5 mg ทุก สัปดาห์หรือเดือน
4. จะพิจารณาหยุดหรือใช้ยาต่อจากการตรวจวัดระดับ morning cortisol ดังนี้
- ค่าน้อยกว่า 85 nmol/L: HPA-axis ยังไม่กลับมาทำงาน พิจารณาใช้ยาต่อแล้วประเมินซ้ำอีกครั้งใน 4-6 สัปดาห์
- ค่า 85-275 nmol/L: สงสัยเกิดการกดการทำงานของต่อมหมวกไต พิจารณาใช้ยาต่อโดยอาจพิจารณาทดสอบการทำงานของ HPA-axis หรือประเมินซ้ำอีกครั้งใน 4-6 สัปดาห์
- ค่า 276-500 nmol/L: HPA-axis สามารถทำงานได้ตามปกติ แต่อาจไม่เพียงพอในการป้องกันภาวะ adrenal crisis เมื่อเกิดความเครียดหรือมีภาวะเจ็บป่วย พิจารณาหยุดยา ติดตามอาการของผู้ป่วย อาจพิจารณาทดสอบการทำงานของ HPA-axis ต่อไปเพื่อประเมินการทำงานในภาวะเครียดหรืออาจใช้ยา steroid ในขนาดสูงระหว่างเกิดความเครียด
- ค่ามากกว่า 500 nmol/L: HPA-axis กลับมาทำงานสมบูรณ์ พิจารณาหยุดยาได้
หรืออีกแนวทางหนึ่งในการปรับระดับยาที่มีระบุไว้คือ เมื่อมีการใช้ยา Corticosteroids[2]
• เทียบเท่ากับการใช้ prednisone ≥40/วัน: ปรับลด 5-10 mg/วัน ทุก 1-2 สัปดาห์
• เทียบเท่ากับการใช้ prednisone 20-40 mg/วัน: ปรับลด 5 mg/วัน ทุก 1-2 สัปดาห์
• เทียบเท่ากับการใช้ prednisone 10-20 mg/วัน: ปรับลด 2.5 mg/วัน ทุก 2-3 สัปดาห์
• เทียบเท่ากับการใช้ prednisone 5-10 mg/วัน: ปรับลด 1 mg/วัน ทุก 2-4 สัปดาห์
• เทียบเท่ากับการใช้ prednisone <5 mg/วัน: ปรับลด 0.5 mg/วัน ทุก 2-4 สัปดาห์

ผู้ป่วยเคยรับประทานยา prednisolone 30 mg/วัน แล้วลดขนาดลงเรื่อยๆ เหลือ 5 mg/วัน ในกรณีที่ไม่สามารถตรวจวัดระดับ morning cortisol จะแนะนำให้ปรับลดขนาดยาตามแนวทางข้างต้นคือ เมื่อขนาดยาเทียบเท่ากับการใช้ prednisone 5-10 mg/วัน ให้ปรับลด 1 mg/วัน ทุก 2-4 สัปดาห์ จากนั้นเมื่อขนาดยา <5 mg/วัน ให้ปรับลด 0.5 mg/วัน ทุก 2-4 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ ต้องติดตามอาการในระหว่างการปรับลดขนาดยาด้วย หากมีอาการกำเริบอาจต้องปรึกษาแพทย์เพิ่มปรับเพิ่มขนาดยา และชะลอการปรับลดขนาดยาออกไปจนกว่าจะควบคุมอาการได้

เอกสารอ้างอิง
[1] Dipiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG, Posey LM. Pharmacotherapy. 20th edition. New York: McGraw – Hill Education; 2017.
[2] Furst DE. Glucocorticoid withdrawal. In: Post TW. Ed. Massachusetts: UpToDate; 2019.
[3] Caplan A, Fett N, Werth V. Glucocorticoids. In: Kang S, Amagai M, Bruckner AL, Enk AH, Margolis DJ, McMichael AJ, Orringer JS. eds. Fitzpatrick's Dermatology. 9th edition. New York: McGraw-Hill; 2019.
[4] Liu D, Ahmet A, Ward L, Krishnamoorthy P, Mandelcorn ED, Leigh R, et al. A practical guide to the monitoring and management of the complications of systemic corticosteroid therapy. Allergy, Asthma & Clinical Immunology 2013; 9(30): 1-25.

วันที่ตอบ : 05 มี.ค. 63 - 19:20:55




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110