ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Glycerin borax รักษาเชื้อราในช่องปากได้ดีไหมครับ แล้วมียาตัวไหนที่ใช้ทดแทนได้บ้

Glycerin borax รักษาเชื้อราในช่องปากได้ดีไหมครับ แล้วมียาตัวไหนที่ใช้ทดแทนได้บ้างครับ โรคนี้ต่างกับโรคซางอย่างไรครับ

[รหัสคำถาม : 79] วันที่รับคำถาม : 05 มี.ค. 63 - 19:23:27 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

จากคำถาม “Glycerin borax รักษาเชื้อราในช่องปากได้ดีไหมครับ แล้วมียาตัวไหนที่ใช้ทดแทนได้บ้างครับ โรคนี้ต่างกับโรคซางอย่างไรครับ”
แบ่งการตอบคำถามออกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้
1. ความแตกต่างระหว่างเชื้อราในช่องปากและแผลร้อนใน (ซาง)
เชื้อราในปาก หรือ Oral thrush โดยทั่วไปเป็นการติดเชื้อเฉพาะที่ในช่องปาก มีสาเหตุจากเชื้อยีสต์ Candida มักเป็นเชื้อ Candida albicans ซึ่งเป็นเชื้อประจำถิ่นในช่องปาก มีอาการแดงกระจายทั่วๆ มีปื้นขาวบนเยื่อบุแก้ม คอ ลิ้นหรือเหงือก และอาจมีอาการเจ็บปาก แสบลิ้น การรับรสเปลี่ยนไป กลืนลำบากร่วมด้วยได้[1]
ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อราในช่องปาก เช่น การใช้ยาสเตียรอยด์และยาปฏิชีวนะ การใช้ฟันปลอม ภาวะปากแห้งจากการใช้ยาบางชนิด (เช่น Tricyclic antidepressant, phenothiazine) การได้รับยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาที่ศีรษะหรือลำคอ โรคบางอย่าง (เช่น การติดเชื้อ HIV/AIDS โรคเบาหวาน ภาวะขาดสารอาหาร) การสูบบุหรี่หรือสารเคมีในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น[1]
แผลร้อนใน (Aphthous ulcer) มักมีอาการปวดบริเวณแผลที่เป็น โดยแผลมีลักษณะคือ เป็นแผลตื้น เฉพาะที่ รูปร่างกลมหรือรี มีของเหลวสีเหลืองอยู่ตรงกลางภายใน[2] สำหรับสาเหตุของการเกิดยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่คาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน หรือสารกระตุ้นการอักเสบ[3]

2. การรักษาโรคเชื้อราในช่องปากและการรักษาแผลร้อนใน
แนวทางการรักษาการติดเชื้อราในช่องปาก ทางเลือกแรกเป็นการใช้ยาทาหากไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยยาทา ไม่สามารถทนต่ออาการข้างเคียงของยาทา หรือมีการติดเชื้อระดับปานกลางถึงรุนแรง หรือมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายจะใช้การรักษาด้วยยารับประทาน[1] ยาที่ใช้รักษามีดังนี้
ยาที่ใช้รักษารูปแบบยาอม/ยากลั้วปาก[1]
1. Clotrimazole 10 mg troche: อม 1 เม็ดให้ละลายช้าๆในปากนาน 15-20 นาที วันละ 5 ครั้ง นาน 7-14 วัน
2. Nystatin 100,000 unit/cc ใช้ 5 cc กลั้วปากแล้วกลืน วันละ 4 ครั้ง นาน 7-14 วัน
3. Miconazole 50 mg mucoadhesive buccal tablet แปะบริเวณที่เป็นแผลร้อนในครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง นาน 7-14 วัน
ยารูปแบบรับประทาน[1]
1. Fluconazole 100 mg: 1-2 เม็ดต่อวัน รับประทาน 7-14 วัน
2. Itraconazole 10 mg/ml solution รับประทานครั้งละ 20 cc วันละ 1 ครั้ง นาน 7-14 วัน
3. Posaconazole 40 mg/ml suspension: รับประทาน 400 mg ทุกวัน หลังอาหาร นาน 7-14 วัน

การรักษาแผลร้อนใน ไม่มีแนวทางการรักษาที่ชัดเจน เน้นการรักษาความสะอาดของช่องปาก หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดบาดแผลที่เยื่อบุช่องปาก และการใช้ยาทาเพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น ยาอมกลั้วปาก (2% viscous lidocaine, Diphenhydramine liquid, Dyclonine lozenges) ยาป้ายปาก (Dexamethasone elixir 0.5 mg/5 cc, Clobetasol 0.05% gel/ ointment, Triamcinolone acetonide 0.1% in Orabase) เป็นต้น[3]


3. Glycerin borax ใช้รักษาเชื้อราในช่องปากได้หรือไม่
Glycerine borax พบในกรณีติดเชื้อราในช่องคลอด โดยเป็นการศึกษาทดลองในหลอดทดลอง (In vitro) ในปี 2009 ศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของกรดบอริกต่อการรักษาการติดเชื้อที่ช่องคลอด เชื้อที่ใช้ในการทดลองคือ C. albicans, C. glabrata, Saccharomyces cerevisiae strains) และเชื้อสายพันธ์ที่ดื้อต่อยา fluconazole ผลการทดลองพบว่า กรดบอริกมีผลยับยั้งเชื้อ (Bacteriostatic) โดยขึ้นอยู่กับขนาดและระยะเวลา ที่อุณหภูมิต่ำเชื้อจะไม่ถูกทำลายจากกรดบอริก นอกจากนี้ยังทดสอบผลของกรดบอริกที่มีต่อปัจจัยความรุนแรง (Virulence factor) ของการติดเชื้อ พบว่า กรดบอริกมีผลยับยั้งการสร้าง biofilm และการสร้าง germ tube ของเชื้อ ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพในการรักษา[4]
แต่ทั้งนี้จากการสืบค้นข้อมูลจากหนังสือและฐานข้อมูลยาต่างๆ ไม่พบข้อบ่งใช้ที่ชัดเจนของ Glycerin borax ทั้งในกรณีการใช้รักษาเชื้อราในช่องปาก หรือการรักษาแผลในช่องปาก

เอกสารอ้างอิง
[1] Dipiro JT, Talbert RL, Yee GC, Matzke GR, Wells BG, Posey LM. Pharmacotherapy. 20th edition. New York: McGraw – Hill Education; 2017. 1894-902.
[2] Lodi G. Oral lesions. In: Post TW. Ed. Massachusetts: UpToDate; 2019.
[3] Brice S. Recurrent aphthous stomatitis. In: Post TW. Ed. Massachusetts: UpToDate; 2019.
[4] Seta FD, Schmidt M, Vu B, Essmann M, Larsen B. Antifungal mechanisms supporting boric acid therapy of Candida vaginitis. Journal of Antimicrobial Chemotherapy (2009) 63, 325–336.

วันที่ตอบ : 05 มี.ค. 63 - 19:24:58




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110