ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
Desloratadine สามารถใช้ในคนท้องได้หรือไม่ครับ หรือส่งผลต่อทารกในครรภ์อย่างไรครับ

Desloratadine สามารถใช้ในคนท้องได้หรือไม่ครับ หรือส่งผลต่อทารกในครรภ์อย่างไรครับ

[รหัสคำถาม : 8] วันที่รับคำถาม : 11 ธ.ค. 62 - 16:18:24 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Desloratadine เป็นยาแก้แพ้รุ่นที่ 2 (Second-generation antihistamines) ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งสารฮิสตามีน มีข้อบ่งใช้คือ รักษาโรคภูมิแพ้ตามฤดูกาล หรือโรคภูมิแพ้ที่เป็นตลอดปี ขนาดยาที่ใช้โดยทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่คือ รับประทาน 5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง (ขนาดสูงสุดไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อวัน)[1]
สำหรับความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์นั้น ยานี้จัดอยู่ในUS FDA Pregnancy Category C[1] การศึกษาในสัตว์ทดลอง(หนูและกระต่าย) ไม่พบการเกิดความพิการของตัวอ่อน(teratogenicity)[2] แต่ไม่มีข้อมูลการศึกษาในมนุษย์ จากการที่ desloratadine เป็นสารหลักที่ได้จากเมแทบอลิซึมของยา loratadine ในร่างกายจึงอาจอนุมานได้ว่าความปลอดภัยของ desloratadine อาจเป็นไปในแนวทางเดียวกับ loratadine[2,3]
จากการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับผลของยา loratadine ต่อทารกในครรภ์ จากฐานข้อมูล pubmed พบหลายการศึกษา[5,6,7,8] เช่น
1) การศึกษาแบบไปข้างหน้า (prospective study) ใน ปี 2002 เพื่อศึกษาผลของการใช้ยาแก้แพ้ ในการช่วงแรกของการตั้งครรภ์ พบว่าทารกที่มารดาได้รับ clemastine, cetirizine, terfenadine และ loratadine เกิดการเจริญผิดรูปตั้งแต่กำเนิด (Congenital malformations) คิดเป็นร้อยละ 3.20, 3.95, 3.22 และ 3.40 ตามลำดับ[4]
2) การศึกษาแบบไปข้างหน้า ในปี 2003 เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ loratadine ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ กับการเกิดการเจริญผิดรูปของทารก (major malformations) พบว่ากลุ่มที่มารดาได้รับ loratadine 162 คน เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์จำนวน 5 คน (มีความบกพร่องของไต (Kidney defect) ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic valve stenosis) มีความผิดปกติของโครโมโซม (Chromosomal abnormalities) ไส้เลื่อนทั้ง 2 ข้าง(Bilateral inguinal hernia) และ ข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิด (Congenital hip dislocation)) ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับยา 162 คน เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์จำนวน 6 คน (ได้แก่ Hypoplastic respiratory tract ไส้เลื่อนด้านขวา (Right inguinal hernia) เพดานโหว่(Cleft palate) รูเปิดท่อปัสสาวะต่ำกว่าปกติ (Hypospadias) ผนังกั้นหัวใจห้องล่างรั่ว (Ventricular septal defect) การตีบของลำไส้เล็กส่วนต้น (Pyloric stenosis)) ซึ่งความผิดปกติของทารกทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน[5]
3) การศึกษาแบบไปข้างหน้า ในปี 2003 เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ loratadine หรือยาแก้แพ้ชนิดอื่น กับการเกิดความผิดปกติที่สำคัญในทารก (major anomalies) ในหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับ loratadine 210 คน ได้รับยาแก้แพ้ชนิดอื่น 267 คน และกลุ่มควบคุม 929 คน พบว่ากลุ่มที่ได้รับ loratadine มีความเสี่ยงในการเกิด major anomalies ไม่แตกต่างกับกลุ่มที่ได้รับยาแก้แพ้ชนิดอื่น และกลุ่มควบคุม โดยมี RR เท่ากับ 0.56 (95% CI; 0.18-1.77) และ 0.77 (95%CI;0.27-2.19) ตามลำดับ เมื่อพิจารณาเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรกพบว่า กลุ่มที่ได้รับ loratadine มีความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด (congenital anomalies) ไม่แตกต่างกับกลุ่มที่ได้รับยาแก้แพ้ชนิดอื่น และกลุ่มควบคุม โดยมี RR เท่ากับ 0.17 (95% CI; 0.02-1.33) และ 0.27 (95%CI;0.04-1.94) ตามลำดับ[6]
4) การศึกษาแบบ meta-analysis ในปี 2008 เพื่อประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ loratadine ในหญิงตั้งครรภ์กับการเกิดรูเปิดท่อปัสสาวะต่ำกว่าปกติในเด็กทารกเพศชาย (Hypospadias) โดยรวบรวมการศึกษาตั้งแต่ปี 1989 – 2007 (case-control study 3 การศึกษา และ cohort studies 7 การศึกษา) พบว่าไม่มีความแตกต่างกันของการเกิด hypospadias ระหว่างมารดาที่ได้รับและไม่ได้รับยา loratadine ระหว่างตั้งครรภ์ (adjusted OR 1.28, 95% CI 0.69, 2.39) [7]
5) การศึกษาแบบ multicenter case-control study ในปี 2013 เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยา antihistamines ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ กับการเกิดความพิการแต่กำเนิดในทารก โดยรวบรวมข้อมูลระหว่างปี 1998-2010 พบว่า loratadine ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดรูเปิดท่อปัสสาวะต่ำกว่าปกติในทารกเพศชาย หรือปากแหว่งเพดานโหว่ในทารก โดยมี Adjusted OR เท่ากับ 0.8 (95% CI=0.4-1.7) และ 0.5 (95% CI=0.3-0.9) ตามลำดับ[8]
6) การศึกษาในประเทศสวีเดน เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยา loratadine ในหญิงตั้งครรภ์ระยะแรก ต่อการเกิดทารกเจริญผิดรูปแต่กำเนิด พบว่าการใช้ยา loratadine ในหญิงตั้งครรภ์มีความสัมพันธ์กับการเกิด hypospadias ในทารก[9]
โดยสรุปจากข้อมูลเท่าที่สืบค้นได้ การศึกษาส่วนใหญ่ไม่พบความแตกต่างของผลต่อทารกในครรภ์ระหว่างกลุ่มที่มารดาใช้และไม่ได้ใช้ยา loratadine ระหว่างตั้งครรภ์[5,6,7,8] แต่รูปแบบการศึกษา
ยังมีข้อจำกัดหลายประการ นอกจากนั้นข้อมูลจากเอกสารกำกับยาของ desloratadine บริษัทผู้ผลิตได้แนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงการใช้ในหญิงตั้งครรภ์[10] ดังนั้นการใช้ยานี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด และควรประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้ยา
เอกสารอ้างอิง
[1] Desloratadine : Drug information. In: UpToDate. Post TW. Ed. Massachusetts: UpToDate; 2019.
[2] Briggs GG, Freeman RK, Towers CV, Forinash AB. Drug in pregnancy and lactation 11th ed: Wolters Kluwer; 2017. P393-4.
[3] So M, Bozzo P, Inoue M, Einarson A. Safety of antihistamines during pregnancy and lactation. Can Fam Physician. 2010 May;56(5):427-9.
[4] Källén B. Use of antihistamine drugs in early pregnancy and delivery outcome. J Matern Fetal Neonatal Med. 2002 Mar;11(3):146-52.
[5] Moretti ME, Caprara D, Coutinho CJ, Bar-OzB, Berkovitch M, Addis A, et al. Fetal safety of loratadine use in the first trimester of preg-nancy: a multicentre study. J Allergy Clin Immunol 2003;111(3):479-83.
[6] Diav-Citrin O, Shechtman S, Aharonovich A, Moerman L, Arnon J, Wajnberg R, Ornoy A. Pregnancy outcome after gestational exposure to loratadine or antihistamines: a prospective controlled cohort study. J Allergy Clin Immunol.2003 Jun;111(6):1239-43.
[7] Schwarz EB, Moretti ME, Nayak S, Koren G. Risk of hypospadias in offspring of women using loratadine during pregnancy: a systematic review and meta-analysis. Drug Saf. 2008;31(9):775-88.
[8] Li Q, Mitchell AA, Werler MM, Yau WP, Hernández-Díaz S. Assessment of antihistamine use in early pregnancy and birth defects. J Allergy Clin Immunol Pract. 2013;1(6):666–74.
[9] Kallen B, Olausson PO. Monitoring of maternal drug use and infant congenital malformations. Does loratadine cause hypospadias? Int J Risk Saf Med 2001;14:115-9.
[10] Enter medicine name or company. Neoclarityn 5 mg film-coated tablets. [Cited 2019 November 28]; Available form: https://www.medicines.org.uk/emc/product/1639/smpc.


วันที่ตอบ : 03 ม.ค. 63 - 08:45:26




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110