ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
รบกวนเภสัชกรท่านใดที่พอจะมีความรู้เรื่องของ colloid (polygeline, dextran, succin

รบกวนเภสัชกรท่านใดที่พอจะมีความรู้เรื่องของ colloid (polygeline, dextran, succinylated gelatin) ช่วยให้ข้อมูลเรื่องของความแตกต่างของ 3 ตัวนี้ด้วยครับ และแต่ละตัวมีความแตกต่างในการเลือกใช้อย่างไร (ขอ reference ด้วยนะครับ) ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

[รหัสคำถาม : 80] วันที่รับคำถาม : 10 มี.ค. 63 - 23:12:16 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Colloids ได้แก่ สารน้ำที่มีส่วนผสมทั้ง electrolytes เช่น Na, Cl และยังมีส่วนผสมของสารที่มีขนาดมวลโมเลกุลใหญ่ซึ่งผ่าน capillary membrane ได้น้อยกว่าสารน้ำกลุ่ม crystalloids สารน้ำในกลุ่ม colloids สามารถแบ่งออกตามคุณสมบัติของที่มาได้เป็น 2 กลุ่ม [1] คือ
1. Natural colloid [2] ได้แก่ human albumin ซึ่งผลิตจากกระบวนการแยกพลาสมาของผู้บริจาคโลหิต ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้เป็นสารน้ำทดแทนแก่ผู้ป่วย [2] มี human albumin ขนาดโมเลกุล 69 kDalton ความเข้มข้น 5% เป็น isooncotic solution ซึ่งทำให้เกิด 80% volume expansion มีระยะเวลาในการออกฤทธิ์ 16-24 ชั่วโมง ใช้ทดแทนสารน้ำในภาวะ shock จากการเสียเลือด แผลไฟไหม้ ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือมีภาวะ hypoalbuminuria มีข้อดีคือเป็นส่วนประกอบปกติในพลาสมาของมนุษย์ จึงไม่เป็นสารแปลกปลอมที่ทําให้ไตต้องกําจัดออกหรือมีผลต่อการทำงานของไต มีโอกาสเกิด anaphylactoid reaction น้อยกว่า colloids สังเคราะห์อื่น อย่างไรก็ตามในการนำไปใช้ในผู้ที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งมีการปล่อยสารสื่อกลางการอักเสบที่ทำให้เกิดการรั่วของหลอดเลือด การให้ albumin อาจเพิ่มการเกิด interstitial oedema ได้ มีข้อเสียคือมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสารน้ำชนิดอื่น

2. Semisynthetic colloids ผลิตจากการ สังเคราะห์สารตามธรรมชาติบางอย่าง เช่น แป้ง หรือ gelatin มีข้อดีคือราคาถูกกว่า human albumin แต่มีข้อเสียคือเป็นสารแปลกปลอมที่ทําให้ไตต้องกําจัดออกหรือมีผลต่อการทํางานของไต และอาจทําให้เกิดปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรงได้ colloids ในกลุ่มนี้ ได้แก่
2.1 Dextran [3] เป็น synthetic glucose polymer ขนาดใหญ่ (polysaccharide) น้ำหนักโมเลกุลประมาณ 40,000-70,000 Dalton แล้วแต่ชนิด เนื่องจากมีโมเลกุลที่ใหญ่จึงทำให้ดึงน้ำจาก interstitial space เข้าสู่หลอดเลือดไว้ได้มาก มี % volume expansion สูงกว่า 5% albumin ระยะเวลาในการออกฤทธิ์ 6-12 ชั่วโมง ภาวะแทรกซ้อน ที่พบได้แก่ ภาวะไตวายเมื่อให้อัตราเร็วมากกว่า 20 cc/h โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ขาดน้ำซึ่งจะทำให้ dextran ตกตะกอนในท่อไต ดังนั้นจึงควรให้ร่วมไปกับ crystalloid พบปฏิกิริยา anaphylactoid ได้ตั้งแต่อาการรุนแรงน้อยจนถึงมาก นอกจากนี้ยังรบกวนการเกิดลิ่มเลือดเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกโดยลดการเกาะตัวของ platelet และกดการทำงานของ factor V VII และ VIII รบกวนความสามารถ crossmatch ของเลือด และลดการทำงานของ reticuloendothelial system เป็นผลให้ลด immune response ของร่างกาย dextran มี 2 ชนิดได้แก่
Dextran 40
น้ำหนักโมเลกุลประมาณ 40,000 Dalton มักใช้เพื่อลดความหนืดของเลือด (hemodilution) ทำให้เลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกายได้ดีขึ้น หรือใช้ระหว่างทำการผ่าตัดต่อ (microsurgery) หลอดเลือดบริเวณนิ้วมือหรือแขน
Dextran 70
น้ำหนักโมเลกุลประมาณ 70,000 Dalton ใช้เป็น volume expander โดยไม่ควรให้เกิน 20 cc/kg ใน 24 ชั่วโมงแรก ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า dextran 40
2.2 Gelatin[2,3,4] เช่น Haemaccel® (urea-linked gelatin, polygeline) Gelufosine® (succinylated gelatin) เป็นต้น มีน้ำหนักโมเลกุลประมาณ 30,000-50,000 Dalton เนื่องจากมีขนาดโมเลกุลไม่ใหญ่จึงสามารถกระจายออกสู่ส่วน extravascular space ได้ดี ผลิตภัณฑ์ polygeline มีในรูปแบบ 3.5% ที่มีการผสม electrolytes: Na+ 145 mmol/l, K+ 5.1 mmol/l, Ca2+ 6.25 mmol/l และ Cl− 145 mmol/l มีผลดีในผู้ที่มีภาวะ hypokalemia และ/หรือ ภาวะ hypocalcemia ร่วม ส่วน succinylated gelatin มีในรูปแบบ 4% solution ที่มีการผสม electrolytes: Na+ 154 mmol/l, K+ 0.4 mmol/l, Ca2+ 0.4 mmol/l และ Cl− 120 mmol/l ซึ่งสามารถให้ในผู้ที่มีภาวะ hyperchloremia ได้รวมทั้งสามารถให้ร่วมกับการทำ blood transfusion
สารกลุ่ม gelatin เมื่อให้แล้วจะอยู่ในกระแสเลือดและคงระดับ oncotic pressure ได้ไม่นานเท่า dextran หรือ starch ถูกขับออกทางไตและลำไส้โดยไม่เปลี่ยนแปลงสภาพภายใน 2-8 ชั่วโมงขึ้นกับปริมาณที่ให้ (ระยะเวลาในการออกฤทธิ์ 2-8 ชั่วโมง) และถูกขับออกจากร่างกายหมดภายใน 48 ชั่วโมง ดังนั้นจึงมีโอกาสคั่งในร่างกายน้อยแม้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง นำมาใช้เพิ่ม intravascular volume (70-80%) ในผู้ที่มีแผลไฟไหม้ การติดเชื้อในกระแสเลือด หรือมีภาวะ shock จากการเสียเลือดและยังหาเลือดทดแทนไม่ได้ โดยให้ได้ในขนาด 1-2 เท่าของปริมาณเลือดที่เสียแต่ไม่ควรให้เกิน 2,000 cc ใช้สำหรับทำ hemodilution ในการผ่าตัดที่ต้องใช้ cardiopulmonary bypass หรืออาจใช้ในการทำ hemodialysis เนื่องจากไม่สะสมในร่างกาย มีราคาถูกกว่า albumin และ synthetic colloids อื่น ๆ ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้คือ ก่อให้เกิด anaphylactoid reaction ที่เชื่อว่าเกิดจากการหลั่ง histamine (พบได้น้อยกว่าและมีระดับความรุนแรงในการเกิดอาการน้อยกว่ากลุ่ม dextran) โดยเฉพาะเมื่อให้ด้วยอัตราเร็ว ควรระวังในผู้ป่วยที่มีประวัติภูมิแพ้และโรคหืด อาจเพิ่มระดับ serum amylase ได้ นอกจากนี้หากใช้ในผู้ป่วย ascites ที่ได้รับการทำ large volume paracentesis อาจมีผลกระตุ้นระบบ renin-angiotensin-aldosterone ได้
2.3 Hydroxy ethyl starch (HES) [1,4] เช่น Voluven® เป็นแป้งสังเคราะห์ที่มีลักษณะคล้าย glycogen มี hetastarch (69,000 dalton) และ pentastarch (120,000 Dalton) ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้มีขนาดโมเลกุล 70-450 KDalton ในรูปแบบ 6% เป็น isooncotic solution มักใช้เป็น plasma substitute ส่วนในรูปแบบ 10% starch เป็น hyperoncotic plasma expander สามารถเพิ่ม volume expansion ได้เทียบเท่า albumin แต่มีราคาถูกกว่า albumin ระยะเวลาในการออกฤทธิ์ 8-12 ชั่วโมง ก่อให้เกิดผลข้างเคียงคือ ภาวะการทำงานของไตบกพร่อง กระตุ้นระบบ complement ทำให้มีปัญหาในการแปลผลการสุ่มหา antibody ได้ อาจก่อให้เกิดภาวะ coagulopathy โดยขัดขวางการทำงานของ factor VIII และ platelet อาจก่อให้เกิดการแพ้แบบ anaphylactoid reaction จากการกระตุ้นการหลั่ง histamine ได้ นอกจากนี้ยังอาจเพิ่มระดับ serum amylase
การใช้สารน้ำทดแทนในผู้ป่วย septic shock มีการศึกษาทางคลินิกเปรียบเทียบผลการใช้ human albumin เทียบกับ สารน้ำกลุ่ม crystalloids (normal saline solution) ในผู้ป่วย septic shock [5] พบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ human albumin มีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่า ส่วนประสิทธิภาพของการเพิ่ม volume effect ในกลุ่ม synthetic colloids ได้แก่ HES และ gelatin เปรียบเทียบกับ crystalloids พบว่ามีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันทางสถิติ แต่ HES และ gelatin เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด acute kidney injury ได้สูงกว่า [5] ดังนั้น ในปัจจุบัน International surviving sepsis campaign guideline ได้แนะนำให้เลี่ยงการใช้ semisynthetic colloids และแนะนำให้มีการทดแทนสารน้ำด้วย crystalloids ก่อนในช่วงแรกแล้วจึงเปลี่ยนมาให้สารน้ำทดแทนด้วย human albumin
การใช้สารน้ำทดแทนในผู้ป่วย nonhemorrhagic shock จากภาวะ hypoalbuminamia พิจารณาเลือกใช้ human albumin เนื่องจากทำให้เกิด rapid plasma volume expansion และควรหลีกเลี่ยงการใช้ colloids กลุ่ม hyperoncotic starch เนื่องจากทำให้เกิด acute kidney injury ได้
การใช้สารน้ำที่เป็น synthetic colloids ทดแทนในผู้ป่วย ควรเลือกใช้ในกรณีที่จำเป็นและ
พิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับสภาวะของคนไข้และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง
1. บันดาล ซื่อตรง. การใช้สารน้ำในการรักษาผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะช็อคจากการติดเชื้อ. วารสารกุมารเวชศาสตร์. 2561;12:216-8.
2. Mitra S, Khandelwal P. Are all colloids same? How to select the right colloid?. Indian journal of anaesthesia, 2009; 53(5): 592–607.
3. พัชนี ภาษิตชาคริต. เอกสารประกอบการสอน วิสัญญีวิทยาปฏิบัติการทางคลินิกเรื่องการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ (Peripheral venous cannulation). Available from: https://www.google.com/url?sa=t&rct=j&q=&esrc=s&source=web&cd=9&cad=rja&uact=8&ved=2ahUKEwiD2-jduJrnAhUPxzgGHeReD_EQFjAIegQICRAB&url=http%3A%2F%2Felearning-anesswu.com%2Fanesdept%2Fwp-content%2Fuploads%2F2017%2F05%2FIV-%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%25AD%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25AA%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A3.docx&usg=AOvVaw3H7CCYA1c6oNmGw0QBnRcg. Accessed January 24, 2020.
4. B. Braun Medical Industries Sdn. Gelofusine® [package insert on the Internet]. Available from:
https://www.bbraun.co.th/content/dam/catalog/bbraun/bbraunProductCatalog/S/AEM2015/en-th/b/15242422-0816-gelofusine.pdf.bb-.52409711/15242422-0816-gelofusine.pdf. Accessed January 22, 2020.
5. National Drug information. Fluids and electrolytes (colloid and crystalloid) Available at:
http://ndi.fda.moph.go.th/uploads/evidance_file/20170503184142.pdf. Accessed January 7, 2020.

วันที่ตอบ : 10 มี.ค. 63 - 23:21:28




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110