ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ตอนนี้อายุ 20 ปีแล้ว ตัวเตี้ยมาก เคยได้ยินคนพูดถึงยาเร่งความสูง มีจริงไหมคะ ถ้าม

ตอนนี้อายุ 20 ปีแล้ว ตัวเตี้ยมาก เคยได้ยินคนพูดถึงยาเร่งความสูง มีจริงไหมคะ ถ้ามีหาได้ที่ไหน อยากทราบรายละเอียดค่ะ

[รหัสคำถาม : 82] วันที่รับคำถาม : 20 มี.ค. 63 - 00:06:56 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ความสูงของคนจะถูกกำหนดด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสุขภาพของตัวบุคคล โกรทฮอร์โมน (growth hormone) เป็นสารเคมีในร่างกายที่มีอิทธิพลโดยตรงต่อความสูง รวมทั้งความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก วัยที่มีระดับโกรทฮอร์โมนสูงสุด คือ วัยเด็ก และวัยแรกรุ่น เนื่องจากเป็นวัยเจริญเติบโต และฮอร์โมนนี้จะค่อย ๆ ลดระดับลงเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน ดังนั้นอัตราการเพิ่มความสูงในคนจะเพิ่มอย่างรวดเร็วใน 2 ช่วงคือ ช่วงตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 2 ขวบ และช่วงเข้าสู่วัยรุ่น[1,2] อัตราการเพิ่มความสูงจะช้าลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งแผ่นปิดปลายกระดูก (epiphyseal plate) ปิดในช่วงอายุประมาณ 15-16 ปี ในเพศหญิง และ 18-20 ปี ในเพศชาย แผ่นปิดปลายกระดูก (epiphyseal plate) เป็นกระดูกอ่อนที่อยู่บริเวณส่วนปลายของกระดูกยาวทั้งสองด้าน epiphyseal plate ช่วยให้กระดูกสามารถยืดยาวมากขึ้น โดยการยืดยาวออกของกระดูกจะถูกกระตุ้นโดย โกรทฮอร์โมน ที่หลั่งออกมา ในช่วงวัยที่มีอัตราการเพิ่มความสูงหากต้องการเพิ่มการหลั่งโกรทฮอร์โมน จะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของร่างกาย โดยรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ และนอนหลับอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง ภายหลังจากแผ่นปลายกระดูกปิดแล้วความสูงแทบจะไม่เพิ่มขึ้นอีก[3]


จากข้อมูลที่มีในปัจจุบันยังไม่มีรายงานการศึกษาทางคลินิกในการใช้โกรทฮอร์โมนในคนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป พบข้อมูลรายงานประสิทธิภาพการใช้โกรทฮอร์โมนเพื่อเพิ่มความสูงเฉพาะในเด็กที่เตี้ยโดยไม่ทราบสาเหตุโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 10 ปี โดยพบว่าโกรทฮอร์โมนสามารถเพิ่มความสูงของวัยผู้ใหญ่ในเด็กที่เตี้ยโดยไม่ทราบสาเหตุได้ แต่การใช้ยาจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแพทย์และมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ $35000 ต่อความสูงที่เพิ่มขึ้น 2.54 เซนติเมตร[4] อาการข้างเคียงของโกรทฮอร์โมนที่พบได้บ่อยคือ การบวมบริเวณขาหรือเท้า ปวดข้อ และการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบน[5]


สำหรับในประเทศไทยผลิตภัณฑ์โกรทฮอร์โมนที่อนุมัติให้ขึ้นทะเบียนตำรับยามีเพียงชนิดเดียว คือ Somatropin โดยมีข้อบ่งใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะขาดโกรทฮอร์โมนเท่านั้น โดยช่วงอายุที่ได้รับโกรทฮอร์โมนแล้วจะมีผลต่อการเพิ่มส่วนสูงมากที่สุดคือช่วงก่อนวัยรุ่น[6] Somatropin มีจำหน่ายได้เฉพาะในโรงพยาบาลที่มีกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม์ ที่ได้รับอนุมัติบัตรและวุฒิบัตรอนุสาขาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม์จากแพทยสภาเท่านั้น ในปัจจุบันยังไม่มีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมใดที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในประเทศไทยรับรองว่าสามารถเพิ่มความสูงได้





เอกสารอ้างอิง
1. Olarescu NC, Gunawardane K, Hansen TK, Møller N, Jørgensen JOL. Normal Physiology of Growth Hormone in Adults. 2019 Oct 16. In: Feingold KR, et al. editors. Endotext [Internet]. South Dartmouth (MA): MDText.com, Inc.; 2000-. Available from
http://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK279056/
2. Lee JH, Kim SK, Lee EK, Ahn MB, Kim SH, Cho WK, et al, Factors affecting height velocity in normal prepubertal children,” Ann Pediatr Endocrinol Metab. 2018. 23: 148-153
3. MedlinePlus[Internet]. Lindberg D: National Library of Medicine (US); [updated 2011].Osteoporosis; [updated 2011; reviewed 2011; cited 2020 Jan 8]; Available from: https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/magazine/issues/winter11/articles/winter11pg12.html
4. Finkelstein BS, Imperiale TF, Speroff T, Marrero U, Radcliffe DJ, Cuttler L, Effect of Growth Hormone Therapy on Height in Children With Idiopathic Short Stature: A Meta-analysis, Arch Pediatr Adolesc Med. 2002. 156: 230-240
5. Somatropin. In: Micromedex [database on the Internet]. Greenwood Village, CO: Thomson Micromedex.[cited 2020 Jan 16 ]. Available from: www.micromedexsolutions.com.
6. Beisti Ortego A, Fuertes Rodrigo C, Ferrer Lozano M, Labarta Aizpun JI, de Arriba Muñoz A, Adult height in short children born small for gestational age treated with growth hormone, Medicina Clínica. 2019. 153: 133-182





วันที่ตอบ : 20 มี.ค. 63 - 00:32:50




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110