ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
เพิ่มเติมจากคำถามที่ 84 ครับ ผมเป็นโรคซึมเศร้า เคยมีประวัติการใช้ยา sertraline

เพิ่มเติมจากคำถามที่ 84 ครับ ผมเป็นโรคซึมเศร้า เคยมีประวัติการใช้ยา sertraline ทำไมผมไม่สามารถบริจาคเลือดได้ถาวรครับ กลไกลของยามีผลยังไงที่ทำให้ผมไม่สามารถบริจาคเลือดได้ครับ

[รหัสคำถาม : 85] วันที่รับคำถาม : 25 มี.ค. 63 - 15:46:28 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ผู้บริจาคโลหิตที่มีประวัติการรักษาโรคทางจิตเวช ตามแนวทางของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย แนะนำว่าผู้ป่วยที่มีประวัติการรักษาโรคซึมเศร้าที่ยังได้รับยาเพื่อควบคุมอาการจะไม่รับบริจาคโลหิตชั่วคราว โดยจะพิจารณารับบริจาคโลหิตอีกครั้งหลังจากผู้ป่วยรักษาโรคซึมเศร้าจนสามารถควบคุมอาการได้โดยไม่ต้องใช้ยาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน แต่กรณีการได้รับยา Sertraline ทางสภากาชาดไทย พิจารณาที่จะไม่รับบริจาคโลหิตถาวร[1] แต่อย่างไรก็ตาม ในแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่ได้มีการห้ามบริจาคโลหิตถาวรในกรณีเคยได้รับยา Sertraline จะกำหนดให้ผู้ป่วยที่มีประวัติการรักษาเป็นโรคซึมเศร้า สามารถบริจาคโลหิตได้ในกรณีที่ผู้บริจาคมีความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจที่สามารถควบคุมอาการของโรคซึมเศร้าได้โดยไม่ต้องใช้ยา[2]
ยา Sertraline เป็นยาในกลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกได้ เนื่องจาก Serotonin มีความสัมพันธ์กับกลไกการห้ามเลือด (hemostasis) [4,6] การได้รับยา Sertraline สามารถยับยั้งการนำ Serotonin เข้าสู่เกล็ดเลือดโดยการยับยั้ง Serotonin transporter ที่เกล็ดเลือด ส่งผลให้ปริมาณ Serotonin ในเกล็ดเลือดลดลง ซึ่งมีผลลดการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด (platelet aggregation) ทำให้ประสิทธิภาพของกระบวนการห้ามเลือดลดลง เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะเลือดออกได้[4,5,6] ความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกจะเพิ่มขึ้นหากมีการใช้ Sertraline ร่วมกับยาต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาในกลุ่ม Nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs)[5] ซึ่งเป็นยาบรรเทาปวดอักเสบ
ดังนั้นแนะนำว่าหากผู้ป่วยซึมเศร้ามีความประสงค์ที่ต้องการบริจาคโลหิต ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาจนสามารถควบคุมอาการของโรคได้ และหยุดยา Sertraline มาแล้วอย่างน้อย 3 เดือน ก่อนบริจาคโลหิตต้องแจ้งข้อมูลประวัติการรักษาโรคซึมเศร้าและประวัติการใช้ยาซึมเศร้าอย่างถูกต้องและครบถ้วน เพื่อให้ศูนย์ที่รับบริจาคโลหิตประเมินความปลอดภัยในการบริจาคโลหิต




เอกสารอ้างอิง
1.ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย. คู่มือการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิต. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพมหานครฯ:ห้างหุ้นส่วนจำกัด อุดมศึกษา,2560.
2.World Health Organization. Blood donor selection: guidelines on assessing donor suitability for blood donation. Available: http:// https://www.who.int/publications detail/blood-donor-selection-guidelines-on-assessing-donor-suitability-for-blood-donation. Access 7 May 2020.
4. Bixby AL, VandenBerg A, Bostwick JR. Clinical Management of Bleeding Risk With Antidepressants. Ann Pharmacother. 2019 Feb;53(2):186-194.
5.Laporte S, Chapelle C, Caillet P, Beyens MN, Bellet F, Delavenne X, Mismetti P,Bertoletti L. Bleeding risk under selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) antidepressants: A meta-analysis of observational studies. Pharmacol Res. 2017 Apr;118:19-32.
6. Halperin D, Reber G. Influence of antidepressants on hemostasis. Dialogues ClinNeurosci. 2007;9(1):47-59.
วันที่ตอบ : 09 พ.ค. 63 - 15:11:11




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110