ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
กินยาคุมฉุกเฉินไปได้ประมาณ 1 อาทิตย์แล้วค่ะ อยากทราบว่า หลัง 1 อาทิตย์นี้ประจำเ

กินยาคุมฉุกเฉินไปได้ประมาณ 1 อาทิตย์แล้วค่ะ อยากทราบว่า หลัง 1 อาทิตย์นี้ประจำเดือนก็ยังไม่มา แล้วดื่มแอลกอฮอล์ไปด้วย จะมีผลอะไรไหมคะ จะท้องไหมคะ ยาจะมีประสิทธิภาพอยู่ไหมคะ แล้วประจำเดือนจะมาปกติไหมคะ

[รหัสคำถาม : 87] วันที่รับคำถาม : 03 เม.ย. 63 - 16:25:35 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินสำหรับรับประทานที่นิยมใช้ในประเทศไทย คือ levonorgestrel (ขนาดยา 0.75 มิลลิกรัม/เม็ด) เป็นยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในขนาดสูงที่รับประทานหลังจากมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดโอกาสที่จะตั้งครรภ์หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน[1] โดยยาออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมน luteinizing hormone (LH) ที่พุ่งสูงมากก่อนไข่ตก จึงส่งผลยับยั้งการเจริญของถุงไข่ หรือการแตกของถุงไข่ได้ [2]

วิธีการรับประทานยามี 2 วิธี ได้แก่
1. รับประทาน levnonorgestrel เม็ดแรกภายใน 72 ชั่วโมง หลังมีเพศสัมพันธ์ หลังจากรับประทานเม็ดแรกไป 12 ชั่วโมง ให้รับประทานเม็ดที่ 2 ตาม
2. รับประทาน levonorgestrel 2 เม็ด (ขนาดยารวม 1.5 มิลลิกรัม) พร้อมกันครั้งเดียว ซึ่งสามารถรับประทานได้ ภายใน 120 ชั่วโมง หลังจากมีเพศสัมพันธ์
โดยหากมีการอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมง ขณะรับประทานยาเม็ดใดเม็ดหนึ่งหรือสองเม็ดจะต้องเริ่มรับประทานยาใหม่ โดยอาจให้ยาต้านอาเจียนร่วมด้วยก่อนเริ่มให้ยา[1]

การรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินทั้ง 2 วิธี มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่แตกต่างกัน คิดเป็นร้อยละ 99.36 และ 99.43 ตามลำดับ[3] อย่างไรก็ตามระยะเวลาในการรับประทานยามีผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ โดยมีการศึกษาต่อมาพบว่า หากรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ประมาณร้อยละ 79 แต่หากรับประทานภายใน 72 – 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ลดลงเหลือประมาณร้อยละ 60 [4] นอกจากนี้จากการสืบค้นข้อมูลไม่รายงานผลของแอลกอฮอล์ต่อประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน[5,6]

ทั้งนี้การรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินอาจทำให้รอบเดือนแปรปรวนไปจากเดิม กล่าวคือ รอบเดือนรอบต่อไปมาช้าหรือมาเร็วกว่าวันที่คาดการณ์ไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ อีกทั้งยังพบว่าในผู้หญิงบางรายที่รับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินอาจทำให้มีเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ซึ่งเลือดที่ออกดังกล่าวสามารถหายไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องให้การรักษา[7] ดังนั้น หลังการรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแล้วรอบเดือนอาจจะมาคลาดเคลื่อนได้ประมาณ 1 สัปดาห์ แต่หากผ่านไป 1 สัปดาห์ จากวันที่รอบเดือนควรจะมาปกติแล้วรอบเดือนยังไม่มา แนะนำให้ตรวจการตั้งครรภ์

เอกสารอ้างอิง
1. World Health Organization. Fact sheet: emergency contraception. Geneva: World Health Organization; 2016.
2. Lexi-Comp, Inc. Emergency contraception.[Online]. Available from: UpToDate online. 2019. [cited 2020 Jan 15].
3. Dada OA, Godfrey EM, Piaggio G, von Hertzen H; Nigerian Network for Reproductive Health Research and Training. A randomized, double-blind, noninferiority study to compare two regimens of levonorgestrel for emergency contraception in Nigeria. Contraception. 2010 Oct;82(4):373-8.
4. Thomin, A., Keller, V., Daraï, E., & Chabbert-Buffet, N. (2014). Consequences of emergency contraceptives: the adverse effects. Expert Opinion on Drug Safety, 13(7), 893–902.
5. Lexi-Comp, Inc. Ethanol. In: Drug information.[Online]. Available from: UpToDate online. 2019. [cited 2020 Jan 15].
6. Lexi-Comp, Inc. Levonorgestrel. In: Drug information.[Online]. Available from: UpToDate online. 2019. [cited 2020 Jan 15].
7. Armstrong C. ACOG recommendations on emergency contraception. Am Fam Physician 2010; 82(10): 1278.


วันที่ตอบ : 03 เม.ย. 63 - 16:40:12




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110