ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
เพราะเหตุใดต้องใช้ NSS เช็ดผิวหนังก่อนฉีดวัคซีน BCG สามารถใช้ 70% alcohol เช็ดผิ

เพราะเหตุใดต้องใช้ NSS เช็ดผิวหนังก่อนฉีดวัคซีน BCG สามารถใช้ 70% alcohol เช็ดผิวหนังก่อนฉีดวัคซีน BCG ได้หรือไม่

[รหัสคำถาม : 88] วันที่รับคำถาม : 03 เม.ย. 63 - 16:32:12 ถามโดย : บุคลากร วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

วัคซีนป้องกันวัณโรคหรือวัคซีน BCG (Bacillus Calmette-Guerin Vaccine) ประกอบด้วยเชื้อวัณโรคสายพันธุ์ Mycobacterium bovis ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ถูกทำให้หมดฤทธิ์ในการทำให้เกิดโรค (attenuated strain) บริหารวัคซีนด้วยวิธีฉีดเข้าผิวหนัง (intradermal) ที่บริเวณต้นแขน ประมาณสัปดาห์ที่ 2 หลังฉีดจะมีตุ่มนูนเกิดขึ้นและแตกเป็นแผลเล็กๆ มีหนอง เป็นๆ หายๆ อยู่ประมาณ 6 สัปดาห์ แล้วจะหายไปเหลือแค่รอยแผลเป็นขนาดเล็กไว้[1][2][3]

ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน BCG เมื่อใช้ 70% alcohol เช็ดผิวหนังก่อนฉีดวัคซีนมีจำกัด โดยการศึกษาของ Smith (1947) ถึงประสิทธิภาพของ 70% alcohol ในการฆ่าเชื้อ Mycobacterium bovis (ชื่อเดิม Tubercle bacilli) พบว่า 70% alcohol สามารถฆ่าเชื้อได้หากมีระยะเวลาที่เชื้อสัมผัสกับ 70% alcohol อย่างน้อย 2-5 นาที[4]

นอกจากนี้ การศึกษาของ Perera และคณะ ซึ่งทำในทารกจำนวน 250 คนที่ได้รับวัคซีน BCG โดยก่อนฉีดวัคซีนจะมีการทำความสะอาดบริเวณที่จะฉีดด้วย 70% alcohol และรอให้แห้ง แล้วให้วัคซีนด้วยวิธีการฉีดเข้าผิวหนัง แล้วติดตามจนกระทั่งตรวจพบรอยแผลเป็นจากการฉีดวัคซีน ผลพบว่า ทารก 182 คนที่ได้รับติดตามผลจนจบการศึกษา ทุกคนมีรอยแผลเป็นบริเวณที่ฉีดวัคซีน จึงสรุปว่าการทำความสะอาดบริเวณที่ฉีดวัคซีนด้วย 70% alcohol ไม่มีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน BCG[5]

ดังนั้น ในการฉีดวัคซีน BCG ฉีดเข้าผิวหนัง (intradermal) ทำได้โดย ผสมวัคซีนผงแห้งในน้ำเกลือ 0.9% ปริมาตร 1 มิลลิลิตร แบ่งนำวัคซีนหลังผสมปริมาตร 0.1 มิลลิลิตร ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ก่อนฉีดให้ทำความสะอาดบริเวณที่ฉีดด้วยน้ำต้มสุก น้ำเกลือ 0.9% หรือ 70% alcohol แล้วรอให้แห้งก่อน จากนั้นจึงค่อยฉีดวัคซีน (เทคนิคการฉีดควรดึงหนังบริเวณที่ฉีดให้ตึง ค่อยๆแทงเข็มลงไปทำมุมกับผิวหนังประมาณ 15 องศา แล้วดันวัคซีนเข้าไป) ถ้าเทคนิคถูกต้องจะเห็นว่าเมื่อดันวัคซีนเข้าไปจะมีตุ่มนูนขึ้นมาให้เห็นชัด 6-8 มิลลิเมตรและหายไปในไม่ช้า แต่ราวสัปดาห์ที่ 2 หลังฉีดจะมีตุ่มนูนเกิดขึ้นและแตกเป็นแผลเล็กๆ มีหนอง เป็นๆ หายๆ อยู่ประมาณ 6 สัปดาห์ แล้วจะหายไปเหลือแค่รอยแผลเป็นขนาดเล็กไว้[1][2][3]


เอกสารอ้างอิง
1.สถานเสาวภา สภากาชาดไทย. วัคซีนบีซีจี [อินเทอร์เน็ต]. 2551. [เข้าถึงเมื่อ 6 มกราคม 2563]. เข้าถึงได้จาก: https://www.saovabha.com/th/product_vaccine.asp?nTopic=1
2.กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2562. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เวิร์ค พริ้นติ้ง จำกัด; 2562. หน้า 91-5.
3.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงสาธารณสุข. หลักสูตรเชิงปฏิบัติการสำหรับเจ้าหน้าที่สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2561. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน); 2561. หน้า 199.
4.Smith R. Alcohol as a Disinfectant against the Tubercle Bacillus. Public Health Reports (1896-1970). 1947; 62: 1285-95.
5.Perera PJ, Ranathunga N, Samaranayake GB, Samaranayake R. Events following BCG vaccination during neonatal period and factors that might affect potency and side effects. Journal of Vaccines & Immunization. 2013; 1(1): 1-5.
6.เมธินี ลักษมีการค้า, รุจิดา วิไลรัตน์, ธฤษิดา ปัญโญศักดิ์. ประสิทธิภาพของแอลกอฮอล์เจลและสารละลายแอลกอฮอล์ในการฆ่าเชื้อจุลชีพ. เวชสารแพทย์ทหารบก. 2557; 67(1): 21-8.
วันที่ตอบ : 01 มิ.ย. 64 - 14:47:23




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110