ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ปกติทานยาคุม yasmin ถ้ากินกลูต้ามากๆจะอันตรายมั้ยค่ะ

ปกติทานยาคุม yasmin ถ้ากินกลูต้ามากๆจะอันตรายมั้ยค่ะ

[รหัสคำถาม : 98] วันที่รับคำถาม : 13 พ.ค. 63 - 17:35:06 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

กลูตาไธโอน (glutathione) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่เซลล์ในร่างกายมนุษย์สามารถสังเคราะห์ได้เอง โดยมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ (antioxidation) ขับสารพิษ (detoxification) และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (immune enhancer) ในปัจจุบันมีการนำกลูตาไธโอนมาใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ รวมถึงการใช้กลูตาไธโอนในการรักษาฝ้าและทำให้ผิวขาวเปล่งปลั่ง[5] โดยมีการศึกษาที่สนับสนุนการใช้กลูตาไธโอน ได้แก่ การศึกษาของ Dilokthornsakul และคณะ พบว่า กลูตาไธโอนในรูปแบบทาภายนอกความเข้มข้น 2.0% และรูปแบบรับประทาน ขนาด 250-500 มิลลิกรัม/วัน สามารถทำให้สีผิวสว่างขึ้นได้ในบริเวณที่โดนแสงแดด ซึ่งวัดจากค่า skin melanin index แต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในการลดลงของ skin melanin index ของผิวหนังในบริเวณที่ไม่โดนแสงแดด นอกจากนี้ กลูตาไธโอนมีแนวโน้มในการลดริ้วรอย เพิ่มความยืดหยุ่นของผิวหนัง และลดจุดด่างดำจากรังสียูวี อาการข้างเคียงที่พบ ได้แก่ ท้องอืด มีผื่นแดง คัน เป็นต้น[2] อย่างไรก็ตาม กลูตาไธโอนยังไม่มีข้อมูลยืนยันทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และยังไม่ได้รับการอนุมัติข้อบ่งใช้ในการรักษาฝ้าและทำให้ผิวขาวเปล่งปลั่ง จากองค์การอาหารและยาทั้งของประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย ในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์กลูตาไธโอนที่พบในท้องตลาดส่วนใหญ่อยู่ในรูปยาเม็ดหรือผงละลายน้ำสำหรับรับประทาน แต่มีข้อเสียคือกลูตาไธโอนในรูปแบบดังกล่าวสามารถถูกทำลายได้ในทางเดินอาหารของมนุษย์จึงนิยมนำมาใช้ในรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำแทน[4] ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังฉีดกลูตาไธโอน ได้แก่ ผิวหนังแดง ความดันโลหิตต่ำ หอบหืดเฉียบพลัน หรืออาจจะเกิดอาการแพ้แบบรุนแรง (anaphylactic reaction) จากการปนเปื้อนหรือความไม่บริสุทธิ์ของสารนี้[5]
ส่วน Yasmin® เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมประกอบด้วยตัวยาสำคัญ คือ drospirenone 3 mg และ ethinyl estradiol 0.03 mg ข้อบ่งใช้อื่นๆ ได้แก่ รักษาสิว รักษาอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือน (PMDD) เป็นต้น[1] แต่ไม่พบการศึกษาที่แสดงถึงประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมในการช่วยเรื่องการลดความเหี่ยวย่นและการหย่อนคล้อยของใบหน้า[3] สำหรับการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมอาจเกิดอาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคัดเต้านม ท้องอืด ปวดศีรษะ มีน้ำสะสมมากในร่างกาย (ตัวบวมน้ำ) มีเลือดคล้ายประจำเดือนออกกะปริบกะปรอย ตลอดจนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ[1]
จากการสืบค้นข้อมูล สามารถสรุปได้ว่า การรับประทานกลูตาไธโอนปริมาณมากหรือต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ยังไม่พบผลข้างเคียงที่ร้ายแรงต่อร่างกาย อีกทั้งยังไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการใช้กลูตาไธโอนกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมในการลดความเหี่ยวย่นและการหย่อนคล้อยของใบหน้า อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษารองรับเกี่ยวกับการใช้กลูตาไธโอนในการรักษาฝ้าและทำให้ผิวขาวเปล่งปลั่ง และยังไม่มีการอนุมัติข้อบ่งใช้ของกลูตาไธโอนจากองค์การอาหารและยา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการทำการศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่เพียงพอและมีการติดตามที่ยาวนาน เพื่อรับประกันประสิทธิภาพและความปลอดภัยของกลูตาไธโอน ในอนาคต

เอกสารอ้างอิง
1. Ethinyl estradiol and drospirenone: drug information. In: UpToDate, Post TW(Ed), UpToDate, Waltham, MA. (Accessed on December 19, 2020)
2. Dilokthornsakul W, Dhippayom T, Dilokthornsakul P. The clinical effect of glutathione on skin color and other related skin conditions: A systematic review. J Cosmet Dermatol. 2019 Jun;18(3):728-737.
3. Phillips TJ, Symons J, Menon S; HT Study Group. Does hormone therapy improve age-related skin changes in postmenopausal women? A randomized, double-blind, double-dummy, placebo-controlled multicenter study assessing the effects of norethindrone acetate and ethinyl estradiol in the improvement of mild to moderate age-related skin changes in postmenopausal women. J Am Acad Dermatol. 2008 Sep;59(3):397-404.e3.
4. ลลินทิพย์ แซ่อื้อ. (2559). กลูต้าไธโอนทำให้ขาวจริงหรือ. วารสารเพื่อการวิจัยและพัฒนาองค์การ เภสัชกรรม, 23(3), 15-16.
5. อริน วิกุล. (2558). กลูตาไธโอน (Glutathione, GSH). วารสารเพื่อการวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม, 22(2), 23-26

วันที่ตอบ : 21 มี.ค. 64 - 21:22:53




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110