ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
พอดีว่าอยากลดน้ำหนัก แล้วไปเจอว่าชาเขียวลดไขมันได้เลยอยากรู้ว่าลดได้จริงมั้ยค่ะ

พอดีว่าอยากลดน้ำหนัก แล้วไปเจอว่าชาเขียวลดไขมันได้เลยอยากรู้ว่าลดได้จริงมั้ยค่ะ

[รหัสคำถาม : 99] วันที่รับคำถาม : 19 พ.ค. 63 - 00:31:17 ถามโดย : บุคคลทั่วไป

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ชาเขียว มาจากส่วนของใบชาสดของต้นชาที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis ซึ่งผ่านกระบวนการทำให้แห้งโดยไม่ผ่านการหมัก มีสารออกฤทธิ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานของร่างกาย (energy expenditure) คือ caffeine และ catechin โดย caffeine มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ phosphodiesterase ทำให้มีระดับ cAMP ในเซลล์สูงขึ้น ส่งผลกระตุ้นปฏิกริยาเร่งการสลายไขมันชนิด triglyceride ให้ได้กรดไขมัน (fatty acid) ซึ่งเป็นการเพิ่มการใช้พลังงานในร่างกาย (energy expenditure) สาร catechin มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ catechol-o-methyl-transferase (COMT) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ยับยั้งการทำงานของ norepinephrine ดังนั้นเมื่อเกิดการยับยั้งเอนไซม์ COMT จะทำให้ norepinephrine มีฤทธิ์ยาวนานขึ้น ส่งผลให้มีการกระตุ้นระบบประสาท sympathetic nervous system ยาวนานขึ้น เป็นผลให้มีการเพิ่มการใช้พลังงานในร่างกายและเพิ่มการสลายตัวของไขมัน (fat oxidation) จากคุณสมบัติของ caffeine และ catechin ในการเพิ่มการใช้พลังงานของร่างกายดังกล่าวทำให้มีการนำชาเขียวมาใช้เพื่อลดน้ำหนัก[1]
การศึกษาประสิทธิภาพของชาเขียวในการลดน้ำหนัก โดย Jurgens และคณะ[2] ในปี 2012 ซึ่งทำการศึกษาแบบวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ด้วยการรวมผลที่ได้จากการศึกษาที่มีความคล้ายคลึงกันและไม่เกี่ยวข้องกันตั้งแต่ 2 การศึกษาขึ้นไปเพื่อวิเคราะห์หาผลลัพธ์ร่วมของการศึกษา โดยได้ทำการรวบรวมการศึกษา 14 การศึกษาที่เป็นรูปแบบ randomized controlled trial ซึ่งเป็นการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ชาเขียวในการลดน้ำหนักของผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนจากการใช้ผลิตภัณฑ์เป็นระยะเวลา12-13 สัปดาห์ พบว่า เมื่อวิเคราะห์ผลลัพธ์รวมทั้ง 14 การศึกษากลุ่มที่ได้รับผลิตภัณฑ์ชาเขียวที่มีปริมาณ catechin ขนาด 140.85-1,206.9 มิลลิกรัมต่อวัน มีน้ำหนักลดลงมากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก 0.95 กิโลกรัมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ [-0.95 kg, 95%CI(-1.75,-0.15),P=0.02] แต่เมื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มย่อยเพื่อเพิ่มความแม่นยำของผลลัพธ์ในการศึกษา พบว่า ในการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 8 การศึกษา กลุ่มที่ได้รับผลิตภัณฑ์ชาเขียวที่มีปริมาณ catechin ขนาด 140.85-1,206.9 มิลลิกรัมต่อวัน มีประสิทธิภาพลดน้ำหนักได้มากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 1.44 กิโลกรัม [ -1.44 kg, 95%CI(-2.38,0.51), P<0.00001, I2=95%] ในการศึกษานอกประเทศญี่ปุ่น (รวมการศึกษาในประเทศไทย) จำนวน 6 การศึกษา กลุ่มที่ได้รับผลิตภัณฑ์ชาเขียวที่มีปริมาณ catechin ขนาด 140.85-1,206.9 มิลลิกรัมต่อวัน มีประสิทธิภาพลดน้ำหนักลงได้มากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก 0.04 กิโลกรัมแต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ [-0.04 kg, 95%CI(-0.55,0.4), P=0.88, I2=18%] รวมทั้งไม่มีความแตกต่างในผลลดดัชนีมวลกาย (Body Mass Index, BMI) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยในกลุ่มที่ได้รับชาเขียวที่มีปริมาณ catechin ขนาด 140.85-1,206.9 มิลลิกรัมต่อวันลดดัชนีมวลกาย (Body Mass Index, BMI) ได้มากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก 0.2 กิโลกรัมต่อตารางเมตร แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ [-0.2 kg/m2, 95%CI(-0.5,0.1), P=0.21] ดังนั้นจึงยังไม่สามารถสรุปประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักของผลิตภัณฑ์ชาเขียวที่มีปริมาณ catechin ขนาด 140.85-1,206.9 มิลลิกรัมต่อวันได้แน่ชัด
การศึกษาประสิทธิภาพของชาเขียวในการลดไขมันในเลือดจากการศึกษาแบบวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) ของ Zheng และคณะ[3] ในปี 2011 โดยรวบรวมการศึกษาจำนวน 14 การศึกษา ที่มีรูปแบบการศึกษาแบบการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (Randomized Controlled Trial : RCT) ในระยะเวลาการศึกษาตั้งแต่ 3 สัปดาห์ถึง 8 สัปดาห์ และมีจำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 1,136 คน โดยกลุ่มศึกษาได้รับเครื่องดื่มชาเขียวที่มีปริมาณ catechin ขนาด 150-2,500 มิลลิกรัมต่อวันร่วมกับการควบคุมอาหาร และกลุ่มควบคุมได้รับยาหลอกร่วมกับการควบคุมอาหาร พบว่า กลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มชาเขียว มีระดับ triglyceride ในเลือดลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 7.20 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร [-7.20mg/dL, 95%CI (-8.19, -6.21), P<0.001] นอกจากนี้ พบว่า กลุ่มที่ได้รับเครื่องดื่มชาเขียวมีระดับ LDL-cholesterol ในเลือดลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 2.19 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร [-2.19 mg/dL, 95%CI (-3.16, -1.21), P<0.001 ] อย่างไรก็ตาม พบว่า การได้รับเครื่องดื่มชาเขียวมีผลเพิ่มระดับ HDL cholesterol ในเลือดได้มากกว่ากลุ่มควบคุม 0.25 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ [-0.25 mg/dL, 95%CI (-0.73, 1.23), P= 0.62]
ข้อมูลด้านความปลอดภัยจากการใช้ชาเขียวเพื่อลดน้ำหนัก พบว่า มีรายงานเกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย แน่นท้องและท้องเสีย ผลข้างเคียงต่อระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ มึนงง นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย สั่น กระสับกระส่าย และวิตกกังวล ผลข้างเคียงต่อหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ ใจสั่น และหัวใจเต้นเร็ว ซึ่งผลข้างเคียงของชาเขียวส่วนใหญ่สัมพันธ์กับ caffeine ในชาเขียว การรับประทานในปริมาณสูงจะเพิ่มผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารและอาการด้านระบบประสาท[4] นอกจากนี้มีรายงานการแพ้ชาเขียวรวมทั้งมีรายงานการเกิดความเป็นพิษต่อตับ[2]
จากข้อมูลการศึกษาที่รวบรวมได้จนถึงปัจจุบัน พบว่า ยังไม่สามารถสรุปประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักที่แน่ชัดของผลิตภัณฑ์ชาเขียว แต่การได้รับผลิตภัณฑ์ชาเขียวที่มีปริมาณ catechin ขนาด 150-2,500 มิลลิกรัมต่อวันร่วมกับการควบคุมอาหารสามารถช่วยลดระดับไขมัน triglyceride และ LDL-cholesterol ในเลือดได้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากในชาเขียวมีสาร caffeine เป็นหนึ่งในสารออกฤทธิ์สำคัญ ดังนั้นการรับประทานหรือดื่มผลิตภัณฑ์ชาเขียวจึงควรระมัดระวังในเรื่องปริมาณของสาร caffeine ที่จะได้รับ ซึ่งหากได้รับในปริมาณสูงเกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน[5] จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารและระบบประสาทส่วนกลางได้




เอกสารอ้างอิง
1. Türközü D, Tek NA. A minireview of effects of green tea on energy expenditure. Crit Rev Food Sci Nutr. 2017;57(2):254‐258.
2. Jurgens TM, Whelan AM, Killian L, Doucette S, Kirk S, Foy E. Green tea for weight loss and weight maintenance in overweight or obese adults. Cochrane Database Syst Rev. 2012;12:CD008650. Published 2012 Dec 12.
3. Zheng XX, Xu YL, Li SH, Liu XX, Hui R, Huang XH. Green tea intake lowers fasting serum total and LDL cholesterol in adults: a meta-analysis of 14 randomized controlled trials. Am J Clin Nutr. 2011;94(2):601‐610.
4. Clinicalkey. Drugmonograph: Green Tea. Available at: https://www.clinicalkey.com/#!/content/drug_monograph/6-s2.0-3265?scrollTo=%23top. Accessed 22 May 2020.
5. มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์. ดื่มกาแฟแล้วใจสั่น. Available at: http://www.thaiheartfound.org/category/details/food/166. Accessed 26 May 2020.


วันที่ตอบ : 12 มิ.ย. 63 - 12:30:11




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110