ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
เพิ่งเริ่มทาน emtricitabine/tenofovir disoproxil fumarate กังวลเรื่อง osteoporos

เพิ่งเริ่มทาน emtricitabine/tenofovir disoproxil fumarate กังวลเรื่อง osteoporosis เราสามารถ prevention อย่างไรได้บ้าง การใช้ calcium supplements ช่วยหรือไม่

[รหัสคำถาม : 128] วันที่รับคำถาม : 16 ก.ย. 63 - 23:26:52 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

Emtricitabine และ tenofovir disoproxil fumarate เป็นยาต้านไวรัส ในกลุ่ม Nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitor มีข้อใช้ในโรคติดเชื้อ HIV-1 โดยใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสชนิดอื่น[1] อาการไม่พึงประสงค์ของยา emtricitabine เช่น วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน[2] ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ของยา tenofovir disoproxil fumarate ที่อาจพบได้ เช่น วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ผื่นคัน ไขมันในเลือดสูง ระดับเอนไซม์ตับ (AST, ALT) สูง ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ และความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density: BMD) ลดลง [3] โดยมีรายงานพบประมาณร้อยละ 13 และอาจเพิ่มความเสี่ยงของกระดูกหักได้[1]
ภาวะมวลกระดูกลดลงหลังจากใช้ยา tenofovir อาจแตกต่างกัน โดยอาจจะพบภายใน 12 สัปดาห์ หรือภายใน 1-2 ปีแรกหลังจากเริ่มใช้ยา tenofovir หลังจากนั้นการสูญเสียมวลกระดูกจะช้าลง[1] แนวทางการป้องกันเพื่อลดการสูญเสียมวลกระดูกและภาวะกระดูกพรุน เช่น ออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและโปรตีนเพียงพอ ปริมาณแคลเซียมที่แนะนำคือ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน และปริมาณโปรตีน 1 กรัมต่อวัน หรืออาจให้วิตามินดีและแคลเซียมเสริม[4]
การศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวิตามินดีและแคลเซียม ในการลดการสูญเสียมวลกระดูกจากการใช้ยา tenofovir มีตัวอย่างการศึกษา เช่น
1) การศึกษาแบบสุ่ม (randomized control trial) เพื่อศึกษาผลของวิตามินดีและแคลเซียมต่อความหนาแน่นของมวลกระดูก (bone mineral density; BMD) ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ที่ได้รับยา TDF/emtricitabine (FTC)/efavirenz (EFV) จำนวน 18 ราย อายุ 18-50 ปี โดยให้วิตามินดีขนาด 20,000 หน่วยสากล (IU) สัปดาห์ละครั้ง และแคลเซียมคาร์บอเนต 1,250 มิลลิกรัมทุกวัน ในขณะที่กลุ่มควบคุมได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเพียงอย่างเดียว มีการติดตามความหนาแน่นของมวลกระดูกในสัปดาห์ที่ 24 พบว่า
- ค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของมวลกระดูกบริเวณสะโพกในสัปดาห์ที่ 24 ไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ได้รับวิตามินดีและแคลเซียมเสริมกับกลุ่มควบคุม (p=0.141)
- กลุ่มที่ได้รับวิตามินดีและแคลเซียมเสริมมีความหนาแน่นของมวลกระดูกบริเวณ lumbar spine สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.042)
- ค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของมวลกระดูกบริเวณ femoral neck ในสัปดาห์ที่ 24 ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่ได้รับวิตามินดีและแคลเซียมเสริมกับกลุ่มควบคุม (p=0.297) [5]
2) การศึกษาแบบ systematic review and meta-analysis ซึ่งเปรียบเทียบการให้ด้วยวิตามินดี 400-4,000 หน่วยสากลต่อวัน และแคลเซียม 1,000-1,500 มิลลิกรัมต่อวัน ในผู้ติดเชื้อ HIV และในผู้ที่ใช้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องการติดเชื้อ (Pre-Exposure Prophylaxis: PreP) จำนวน 703 ราย อายุ 13-65 ปี พบว่า กลุ่มที่ได้รับวิตามินดีเสริมมีความหนาแน่นของมวลกระดูกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (standardized mean difference (SMD) 0.43, 95%CI 0.25-0.61, p=0.009) และเมื่อวิเคราะห์กลุ่มย่อย พบว่าไม่มีความแตกต่างกันของการเปลี่ยนแปลงความหนาแน่นมวลกระดูกตามอายุ เพศ พื้นที่ที่อยู่อาศัย สถานะของกลุ่มตัวอย่าง (ติดเชื้อ HIV หรือใช้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องการติดเชื้อ (PreP)) และตำแหน่งของกระดูก (สะโพก และกระดูกสันหลัง) ความหนาแน่นของมวลกระดูกจะเพิ่มขึ้นตามขนาดของวิตามินดี[6]
3) การศึกษาแบบสุ่ม ซึ่งเปรียบเทียบการให้ zoledronic acid 5 มิลลิกรัม กับยาหลอก ในกลุ่มตัวอย่าง 63 ราย อายุ 30-50 ปี พบว่าค่าเฉลี่ยของ cross-linked telopeptide of type-I collagen (CTX: เป็นสารบ่งชี้การสลายของกระดูก) ขณะเริ่มต้นมีค่าใกล้เคียงกันทั้ง 2 กลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มที่ได้รับ zoledronic acid เท่ากับ 0.154 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร เทียบกับกลุ่มควบคุม 0.190 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร (P=0.22) แต่ในสัปดาห์ที่ 12, 24 และ 48 กลุ่มที่ได้รับ zoledronic acid มีค่าเฉลี่ยของ CTX ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.001) และพบว่าค่าเฉลี่ย CTX ในกลุ่มที่ได้รับ zoledronic acid ต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในสัปดาห์ที่ 72 (P=0.007), สัปดาห์ที่ 96 (P<0.001), สัปดาห์ที่ 120 (P=0.07) และ สัปดาห์ที่ 144 (P=0.17) กลุ่มที่ได้รับ zoledronic acid มีการสลายของกระดูกลดลงเฉลี่ย ร้อยละ 73, ร้อยละ 65 และร้อยละ 57 เมื่อเทียบกับยาหลอกในสัปดาห์ที่ 12, 24 และ 48 ตามลำดับ นอกจากนี้ กลุ่มที่ได้รับ zoledronic acid มีค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของมวลกระดูกเพิ่มขึ้นในบริเวณสันหลังส่วนเอว (lumbar spine BMD) ในสัปดาห์ที่ 12, 24, และ 48 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และมีผลจนถึงสัปดาห์ที่ 96 และสัปดาห์ที่ 144 (ค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของมวลกระดูกในกลุ่มที่ได้รับ zoledronic acid 1.306 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร เทียบกับกลุ่มควบคุม 1.177 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร; P<0.001)[7]
ภาวะมวลกระดูกลดลงสามารถพบได้จาการใช้ยา tenofovir การป้องกันภาวะกระดูกพรุน ควรออกกำลังกายเป็นประจำและรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน และโปรตีน 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน งดสูบบุหรี่หรือแอลกอฮอล์ และอาจให้วิตามินดีและแคลเซียมเสริม[4]

[1]. emtricitabine/tenofovir disoproxil fumarate. In: Lexi-Drugs Online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: publication year [updated 10 Oct. 2022; cited 10 Oct. 2022]. Available from: https://online.lexi.com/lco/action/doc/retrieve/docid/multinat_f/4669024?cesid=8UeE0cueQYc&searchUrl=%2Flco%2Faction%2Fsearch%3Fq%3Demtricitabine%252Ftenofovir%2Bdisoproxil%2Bfumarate%26t%3Dname%26acs%3Dfalse%26acq%3Demtricitabine%252Ftenofovir%2Bdisoproxil%2Bfumarate.
[2]. Emtricitabine. In: Lexi-Drugs Online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: publication year [updated 10 Oct. 2022; cited 15 Oct. 2022]. Available from: https://online.lexi.com/lco/action/doc/retrieve/docid/multinat_f/4667904?cesid=1HKxohe3mGS&searchUrl=%2Flco%2Faction%2Fsearch%3Fq%3Demtricitabine%26t%3Dname%26acs%3Dfalse%26acq%3Demtricitabine.
[3]. Tenofovir Disoproxil Fumarate. In: Lexi-Drugs Online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp Inc.: publication year [updated 13 Oct. 2022; cited 15 Oct. 2022]. Available from: https://online.lexi.com/lco/action/doc/retrieve/docid/multinat_f/4669054?cesid=8Ih4oJS6PKJ&searchUrl=%2Flco%2Faction%2Fsearch%3Fq%3Dtdf%26t%3Dname%26acs%3Dtrue%26acq%3DTDF.
[4]. Biver E, Calmy A, Aubry-Rozier B, Birkhäuser M, Bischoff-Ferrari HA, Ferrari S, et al. Diagnosis, prevention, and treatment of bone fragility in people living with HIV: a position statement from the Swiss Association against Osteoporosis. Osteoporos Int. 2019 May.;30(5):1125-1135.
[5]. Boontanondha P, Nimitphong H, Musikarat S, Ragkho A, Kiertiburanakul S. Vitamin D and Calcium Supplement Attenuate Bone Loss among HIV Infected Patients Receiving Tenofovir Disoproxil Fumarate/Emtricitabine/ Efavirenz: An Open-Label, Randomized Controlled Trial. Curr HIV Res. 2020;18(1):52-62.
[6]. Bi X, Liu F, Zhang X, Wang H, Ye Z, Yun K, Huang X, et al. Vitamin D and Calcium Supplementation Reverses Tenofovir-Caused Bone Mineral Density Loss in People Taking ART or PrEP: A Systematic Review and Meta-Analysis. Front Nutr. 2022 Mar. 31;9:749948.
[7]. Ofotokun I, Collins LF, Titanji K, Foster A, Moran CA, Sheth AN, Lahiri CD, et al. Antiretroviral Therapy-Induced Bone Loss Is Durably Suppressed by a Single Dose of Zoledronic Acid in Treatment-Naive Persons with Human Immunodeficiency Virus Infection: A Phase IIB Trial. Clin. Infect. Dis. 2020 Oct. 23;71(7):1655-1663.

วันที่ตอบ : 24 พ.ย. 65 - 11:14:52


No : 2

ยา emtricitabine และ tenofovir disoproxil fumarate เป็นยาต้านไวรัส[1] ซึ่งผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากยาทั้ง 2 ตัว แสดงดังตาราง[2,3]

จากการศึกษาซึ่งมีการรวบรวมรายงานการวิจัย ทั้งหมด 4 งานวิจัย (systematic review) ที่ทำการศึกษาในกลุ่มทดลองที่ได้รับ tenofovir disoproxil fumarate เทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอก แล้วทำการสรุปผลโดยวิเคราะห์อภิมาน (meta-analysis) พบว่ามวลกระดูกในกลุ่มทดลองลดลงมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ภายในระยะเวลา 1 ปี โดยมีค่าเฉลี่ยของผลต่างของกระดูกสันหลังส่วนเอวลดลง ร้อยละ 0.82 (lumbar spine: mean difference [MD]= -0.82%, 95% CI=-1.28, -0.37) และค่าเฉลี่ยของผลต่างของข้อสะโพกลดลงร้อยละ 0.81 (total hip: mean difference [MD]= -0.81%, 95% CI=-1.22, -0.40) แต่ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) เนื่องจากระยะเวลาการติดตามผลในแต่ละการศึกษาค่อนข้างสั้น[4]

โดยจากแนวทางเวชปฏิบัติโรคกระดูกพรุนได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันโรคกระดูกพรุน[5] ได้แก่
1) การออกกำลังกายชนิดที่มีการลงน้ำหนัก โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกาย (Appropriate weight bearing exercise) เช่น การเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน หรือ รำมวยจีน เป็นต้น โดยใช้เวลาออกกำลังกาย ประมาณ 20-30 นาทีต่อวัน และควรทำเป็นประจำสม่ำเสมออย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์
2) การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมอย่างพอเพียง
3) ควรได้รับแสงแดดอ่อนๆ โดยเฉพาะในช่วงเช้าเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 10-15 นาที เพื่อให้ผิวหนังสามารถสร้างวิตามินดี
4) หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนและกระดูกหัก ได้แก่ การสูบบุหรี่ ดื่มสุราเกินขนาด รับประทานยากลูโคคอติคอยด์เป็นระยะเวลานาน เป็นต้น
5) ดูแลรักษาโรคทางอายุรกรรมที่อาจส่งผลให้สูญเสียมวลกระดูกได้เร็วขึ้น เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษซึ่งปริมาณแคลเซียมและวิตามินดีที่ควรรับประทานสำหรับการป้องกันโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) แบ่งตามช่วงอายุ[6] ดังนี้

โดยแนะนำให้รับประทานแคลเซียมที่ได้จากอาหารเป็นอันดับแรก ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมจากนมได้ดีกว่าอาหารชนิดอื่น ในรายที่จำเป็นต้องรับประทานแคลเซียมเสริม ควรรับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที และควรรับประทานร่วมกับวิตามินดีเนื่องจากช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและช่วยในการสร้างกระดูกเพิ่มขึ้น[5,7] และจากงานวิจัยแบบสุ่ม (open-label randomized trial) พบว่า ผู้ที่ได้รับยา Emtricitabine/Tenofovir Disoproxil Fumarate (300/200 มิลลิกรัม) วันละ 1 ครั้ง เสริมด้วยวิตามินดีและแคลเซียมรับประทานพร้อมอาหาร วันละ 2 ครั้ง (คิดเป็นวิตามินดี 400 ยูนิต/วัน, แคลเซียม 1,200 มิลลิกรัม/วัน) เทียบกับกลุ่มที่ได้รับยา Emtricitabine/Tenofovir Disoproxil Fumarate (300/200 มิลลิกรัม) วันละ 1 ครั้ง เพียงอย่างเดียว มีมวลกระดูกเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่าร้อยละ 3 ภายใน 6 เดือน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 67.6 และ 42.9 ตามลำดับ (p=0.03)[8]

สรุป ถึงแม้ว่าการรับประทานยา Emtricitabine/tenofovir disoproxil fumarate สามารถทำให้มวลกระดูกลดลงได้ แต่ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะยืนยันว่าสามารถทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) อีกทั้งมีหลายปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าว ได้แก่ พันธุกรรม โภชนการ พฤติกรรมทางสุขภาพ โรคร่วม ยา และปัจจัยอื่นๆ ซึ่งการรับประทานแคลเซียมเสริมสามารถช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ และแนะนำให้รับประทานร่วมกับวิตามินดี เพื่อเพิ่มการดูดซึมของแคลเซียม โดยปริมาณแคลเซียมและวิตามินดีที่ควรได้รับในแต่ละวันแบ่งตามช่วงอายุ จึงควรเลือกรับประทานให้เหมาะสมตามช่วงวัย

เอกสารอ้างอิง
[1]. กรมควบคุมโรค. กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. แนวทางการตรวจรักษาและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีประเทศไทย ปี 2564/2565 (Thailand National Guidelines on HIV/AIDS Treatment and Prevention 2021/2022). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์; 2565.
[2]. Emtricitabine. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc. [update 3 Nov. 2022; cited 23 Nov. 2022]. Available from: https://online.lexi.com.
[3]. Tenofovir Disoproxil Fumarate. In: Lexi-drugs online [database on the Internet]. Hudson (OH): Lexicomp, Inc. [update 19 Oct. 2022; cited 23 Nov. 2022]. Available from: https://online.lexi.com.
[4]. Baranek B, Wang S, Cheung AM, Mishra S, Tan DH. The effect of tenofovir disoproxil fumarate on bone mineral density: a systematic review and meta-analysis. Antivir Ther. 2020;25(1):21-32.
[5]. กรมการแพทย์. สำนักพัฒนาวิชาการแพทย์. แนวทางเวชปฏิบัติเรื่อง โรคกระดูกพรุน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย; 2548.
[6]. David J.A. CURRENT Practice Guidelines in Primary Care 2023 [Internet]. New York: McGraw- Hill, 2023, [cited 2022 Nov. 24]. Available from: https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=3236§ionid=270872393.
[7]. สรุจ เล็กสุขศรี, อรนิภา วงศ์สีลโชติ. เสริม “แคลเซียม” อย่างไรให้ปลอดภัยและได้ผล [อินเทอร์เน็ต]. สภาเภสัชกรรม; 2562 [เข้าถึงเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2565]. เข้าถึงได้จาก: https://ccpe.pharmacycouncil.org.
[8]. Pornpaisalsakul K, Songtaweesin WN, Tepmongkol S, Wongharn P, Kawichai S, Suponsilchai V, et al. Effects of vitamin D and calcium supplementation on bone mineral density among Thai youth using daily HIV pre-exposure prophylaxis. J. Int. AIDS Soc. 2020;23(10):e25624.

File
: 306-1670076979.pdf
วันที่ตอบ : 03 ธ.ค. 65 - 21:17:00


No : 3

การเกิดภาวะกระดูกพรุน (osteoporosis) เป็นผลข้างเคียงสำคัญจากการใช้ยา tenofovir disoproxil fumarate ในสูตรยา emtricitabine/tenofovir disoproxil fumarate (TDF/FTC)[1] ซึ่งกลไกการเกิดผลข้างเคียงนั้นเกิดจากยาไปสะสมที่ท่อไตส่วนต้นและเกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ท่อไตบริเวณดังกล่าว ผู้ป่วยจะมีภาวะที่เรียกว่า Fanconi’s syndrome หรือภาวะไตเสื่อมที่มีระดับฟอสเฟตในเลือดต่ำอย่างรุนแรง เป็นผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุน (osteoporosis) ตามมา ความรุนแรงของการเกิดความเป็นพิษที่ท่อไตขึ้นกับปริมาณยาที่สะสมอยู่ในเซลล์ท่อไตส่วนต้น[2] แนวทางการป้องกันการเกิดภาวะ Fanconi’s syndrome ทำได้โดยการประเมินค่าการทำงานของไตจากความสามารถในการขับออกสาร creatinine (creatinine clearance) และระดับฟอสฟอรัสในเลือดของผู้ป่วยก่อนเริ่มให้ยา และติดตามประเมินอย่างต่อเนื่องในระหว่างการได้รับยา[3] นอกจากนี้ในช่วงระหว่างที่ได้รับยา มีคำแนะนำเพื่อเสริมการป้องกันภาวะกระดูกพรุน ดังนี้
ออกกำลังกายชนิดที่มีการลงน้ำหนัก เช่น วิ่งอย่างสม่ำเสมอ
ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะกระดูกพรุน เช่น การสูบบุหรี่ การได้รับยาที่มีผลทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุน ได้แก่ ยากลุ่ม steroids หรือฮอร์โมน medroxyprogesterone เป็นต้น
ได้รับวิตามิน ดี และ แคลเซียม เพียงพอ โดยควรได้รับวิตามิน ดี เสริมไม่ต่ำกว่า 800 IU ต่อวัน และแคลเซียมเสริม ไม่ต่ำกว่า กว่า 500 mg ต่อวัน [2]
รายงานการศึกษาทางคลินิกแบบสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบที่ทั้งผู้วิจัยและผู้ร่วมทดลองทราบการได้รับการรักษา (open‐label randomized trial) ในผู้ป่วยชายอายุ 15-24 ปี จำนวน 100 คน ที่ได้รับยา TDF/FTC (300/200 mg)  เพื่อเปรียบเทียบผลต่อความหนาแน่นของมวลกระดูกบริเวณเอว ระหว่างกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยา TDF/FTC ร่วมกับวิตามินดี 3 400 หน่วย สองครั้งต่อวัน และธาตุแคลเซียม 1,200 มก./วัน ครั้งเดียวต่อวัน และกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับเฉพาะยา TDF/FTC รับประทานยาติดต่อกันทุกวัน เป็นเวลานาน 6 เดือน ทำการสแกนด้วยรังสีเอกซเรย์ที่กระดูกหลังบริเวณเอวเพื่อหาค่าความหนาแน่นมวลกระดูกก่อนเริ่มการให้ยาและติดตามค่าความหนาแน่นมวลกระดูกที่ 6 เดือนหลังจากเสร็จสิ้นการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับ TDF/FTC ร่วมกับการให้เสริมวิตามิน ดี และแคลเซียม จำนวน 25 คนจาก 38 คน มีการเพิ่มขึ้นของความหนาแน่นมวลกระดูกของกระดูกสันหลังบริเวณเอว ในช่วง 6 เดือน สูงกว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับเฉพาะยา TDF/FTC อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.03) โดยมีความหนาแน่นของมวลกระดูกบริเวณเอวเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% ในเดือนที่ 6 เมื่อเทียบกับค่าพื้นฐาน[4]
รายงานการศึกษาทางคลินิกแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุมแบบปกปิดสองทางระหว่างผู้วิจัยและผู้ร่วมทดลอง (prospective, randomized, double-blind, placebo-controlled study) ในผู้ป่วยจำนวน 165 คน อายุเฉลี่ย 33 ปี ที่ได้รับสูตรยารักษาที่ประกอบด้วยยา TDF/FTC โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มศึกษา เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มผู้ป่วย 79 คนที่ได้รับสูตรยารักษาร่วมกับวิตามินดี 3 ขนาดสูง 4,000 IU วันละครั้ง ต่อวัน และแคลเซียม 500 mg วันละสองครั้ง ต่อวัน และกลุ่มผู้ป่วย 89 คนที่ได้รับสูตรยารักษาร่วมกับยาหลอก รับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานาน 48 สัปดาห์ ซึ่งเมื่อทำการติดตามผลในเวลา 48 สัปดาห์ (12 เดือน) พบว่า ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของค่าดัชนีมวลกายที่สะโพกทั้งหมดจากการตรวจวัดพื้นฐาน (p< 0.001) แต่กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับวิตามินดี 3 และแคลเซียมร่วม มีการลดลงของความหนาแน่นมวลกระดูกบริเวณกระดูกสะโพกโดยรวมน้อยกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกร่วมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.004) และไม่มีรายงานการเกิดภาวะแคลเซียมสูงในเลือด (hypercalcemia)[5]
ดังนั้น การรับประทานแคลเซียมเสริมเพื่อป้องกันการเกิดกระดูกพรุนจากการใช้ยา emtricitabine/tenofovir disoproxil fumarate ควรให้ในขนาด 1,000 mg/วัน และควรให้ร่วมกับวิตามิน ดี ในขนาด 800-4,000 IU ต่อวัน ร่วมกับการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำข้างต้น ช่วยป้องกันการเกิดภาวะกระดูกพรุนจากยา tenofovir disoproxil fumarate ได้ และการให้เสริมแคลเซียมไม่เกิดอันตรกิริยาระหว่างยากับยาสูตร emtricitabine/tenofovir disoproxil fumarate[6] และหากยังคงพบการเกิดภาวะกระดูกพรุน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาปรับสูตรยารักษาที่เหมาะสมต่อไป
เอกสารอ้างอิง
1. Truvada. Drug monograph Emtricitabine; Tenofovir Disoproxil Fumarate. [internet]. Clinical Key. Accessed Nov 23, 2022. Available from: https://www.clinicalkey.com/#!/content/drug_monograph/6-s2.0-3283?scrollTo=%23Indications#!%2Fcontent%2Fclinical_overview%2F67-s2.0-86539245-5a09-429c-880b-1bcd007dddfc%23nondrug-and-supportive-care-heading-28
2.วิศิษฎ์ ตันหยง,พีรยศ ภมรศิลปะธรรม,ฉัตชัย ฉิ่นไพศาล.ทีโนโฟเวียร์และพิษต่อไตระดับเซลล์.วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา[อินเทอร์เน็ต].2560. [เข้าถึงเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2565];22:248-259 เข้าถึงได้จาก:
http://ojslib3.buu.in.th/index.php/science/article/view/5183
3. Elsevier Point of Care. Clinical Overview; Fanconi Syndrome. [internet]. Clinical Key. Accessed Nov 23, 2022. Available from: https://www.clinicalkey.com/#!/content/clinical_overview/67-s2.0-86539245-5a09-429c-880b-1bcd007dddfc
4. Pornpaisalsakul K, et al. CE-PID - IHRI Adolescent Study Team. Effects of Vitamin D and Calcium Supplementation on Bone Mineral Density Among Thai Youth using Daily HIV Pre-exposure Prophylaxis. J Int AIDS Soc. 2020 Oct;23(10):e25624. doi: 10.1002/jia2.25624. PMID: 33040465; PMCID: PMC7548100.
5. Overton ET, et al. Vitamin D and Calcium Attenuate Bone Loss with Antiretroviral Therapy Initiation: A Randomized Trial. Ann Intern Med. 2015 Jun 16;162(12):815-24. doi: 10.7326/M14-1409. PMID: 26075752; PMCID: PMC4608553.
6. Bi X, et al. Vitamin D and Calcium Supplementation Reverses Tenofovir-Caused Bone Mineral Density Loss in People Taking ART or PrEP: A Systematic Review and Meta-Analysis. Front Nutr. 2022 Mar 31;9:749948. doi: 10.3389/fnut.2022.749948. PMID: 35433788; PMCID: PMC9008884.

วันที่ตอบ : 21 ม.ค. 66 - 18:50:19




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110