ให้บริการโดยคณาจารย์ เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านยาและสุขภาพ


คำชี้แจง "เว็บไซต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการ ศึกษา การแลกเปลี่ยนความรู้ และให้ข้อมูลเรื่องยาในกรณีทั่วไป ไม่ใช่คำแนะนำทางการแพทย์หรือเพื่อการรักษาในกรณีที่จำเพาะเจาะจง และความเห็นสำหรับกรณีเฉพาะหนึ่ง จะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับผู้อื่นได้โดยตรง หากมีปัญหาเรื่องโรคโปรดปรึกษาแพทย์ หากมีปัญหาเรื่องยา โปรดปรึกษาเภสัชกร หรือปรึกษาผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีนั้นด้วยตนเองเท่านั้น"

Search :
ยาระบายในเด็ก 1 ขวบ

ยาระบายที่สามารถใช้กับเด็ก 1 ขวบ สามารถใช้ยาระบายแบบไหนได้บ้าง วิธีใช้ ขนาดยา

[รหัสคำถาม : 430] วันที่รับคำถาม : 30 พ.ย. 65 - 16:22:01 ถามโดย : นักศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพ

เข้าระบบเพื่อตอบคำถาม

No : 1

ท้องผูก (constipation) หมายถึง อาการถ่ายอุจจาระที่ผิดปกติได้แก่ ถ่ายห่างมากหรือถ่ายยากผิดปกติเป็นเวลานานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และมีผลกระทบต่อผู้ป่วย
เป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็ก โดยพบความชุกร้อยละ 0.5-32.2 ในกลุ่มประชากรเด็ก 0-18 ปี[1]

ภาวะท้องผูกส่วนใหญ่เกิดจากการกลั้นอุจจาระ ทำให้อุจจาระอยู่ในลำไส้นานจึงเกิดการดูดน้ำจากอุจจาระของลำไส้ ทำให้อุจจาระมีลักษณะแข็ง แห้ง หรือถ่ายออกลำบาก
โดยการกลั้นอุจจาระในเด็กส่วนมากอาจเกิดจากการไม่อยากขัดช่วงเวลาการเล่น รู้สึกอายที่จะใช้ห้องน้ำสาธารณะ ความเครียด ความปวดหรือความรู้สึกไม่สบายตอนถ่าย
นอกจากนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหาร อาทิ การดื่มน้ำหรือรับประทานกากใยไม่เพียงพอ หรือเกิดจากยา/โรคบางชนิด เช่น ยาลดกรด ยาเสริมธาตุเหล็ก หรือโรค Hirschsprung disease, celiac disease เป็นต้น[2] การวินิจฉัยท้องผูกไร้โรคทางกายในเด็กจะใช้แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาเด็กท้องผูกไร้โรคทางกาย พ.ศ.2565 ของสมาคมกุมารเวชศาสตร์ทางเดินอาหารและตับแห่งประเทศไทยโดยใช้เกณฑ์ Rome IV ดังนี้[1]
สำหรับเด็กวัยทารกถึง 4 ปีที่มีภาวะท้องผูกจะมีลักษณะต่อไปนี้อย่างน้อย 2 ข้อ เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน
1. ถ่ายอุจจาระน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้งต่อสัปดาห์
2. มีประวัติกลั้นอุจจาระอย่างมาก
3. ถ่ายอุจจาระแข็งหรือถ่ายอุจจาระแล้วเจ็บ
4. ถ่ายอุจจาระก้อนใหญ่
5. ตรวจพบอุจจาระก้อนใหญ่ในไส้ตรง (rectum)
ในเด็กที่ฝึกขับถ่ายอุจจาระสำเร็จแล้ว อาจใช้เกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้
6. อุจจาระเล็ด (fecal incontinence) อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์
7. มีประวัติอุจจาระก้อนใหญ่จนอาจทำให้ส้วมอุดตัน

เด็กที่มีอาการท้องผูกแค่ช่วงเวลาสั้นๆมักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามอาจนำไปสู่ อาการท้องผูกเรื้อรัง ปวดขณะถ่ายอุจจาระ มีปัญหาการควบคุมกระเพาะปัสสาวะหรืออุจจาระอัดแน่นในลำไส้และหากมีอาการท้องผูกเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น ริดสีดวงทวาร แผลขอบทวารและภาวะไส้ตรงปลิ้น[1] แม้ว่าท้องผูกไร้โรคทางกายจะไม่มีผลร้ายแรงต่อสุขภาพกาย แต่สามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตด้านสังคม อารมณ์ การเรียน ตลอดจนทำให้ผู้ปกครองมีความวิตกกังวลอย่างมาก[1] โดยการจัดการท้องผูกในทารก (0-1ปี)ควรเริ่มจากวิธีการรักษาโดยไม่ใช้ยา ซึ่งมักจะตอบสนองต่อการให้คาร์โบไฮเดรตชนิดที่ย่อยไม่ได้ เช่น น้ำผลไม้ที่มีส่วนประกอบของซอร์บิทอล เช่น แอปเปิ้ล พรุน หรือแพร์ เป็นต้นและหากวิธีการข้างต้นไม่ได้ผลก็จะให้ยาระบาย[6] โดยยาระบายที่แนะนำสำหรับเด็ก 1 ขวบ[1-6]จะแสดงในไฟล์แนบ
ยาระบายที่ไม่ควรใช้ในทารก ได้แก่[6]
1.Mineral oil เพราะอาจทำให้เกิดปอดบวมกรณีมีการสำลัก
2.ยาสวนทวาร เพราะอาจทำให้เกิดภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง (อาจอันตรายถึงชีวิต) ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำหรือเกิดการทะลุ แต่ยาสวนทวารที่มีแค่ Sodium chloride เป็นส่วนประกอบหลัก (ไม่มีฟอสเฟต)อาจใช้ได้กรณีจำเป็นและอยู่ภายใต้การดูแลทางการแพทย์เท่านั้น
3.Bisacodyl เนื่องจาก Bisacodyl ในรูปแบบยาเม็ดจะเป็นรูปแบบยาเม็ดเคลือบที่ทำให้แตกตัวในลำไส้ ดังนั้นเมื่อมีการบดยาจะทำให้ยาไม่มีประสิทธิภาพ
ส่วน Milk of Magnesia (MOM) ควรให้ในเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไปเนื่องจากมีปัญหาเรื่องรสชาติ[1,6]

อย่างไรก็ตามขนาดยาที่ใช้จะขึ้นกับสภาวะทางสุขภาพของผู้ใช้ยาด้วย เช่น โรคประจำตัว การทำงานของตับและไต ความรุนแรงของโรค เป็นต้น ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง


เอกสารอ้างอิง
[1]. สมาคมกุมารเวชศาสตร์ทางเดินอาหารและตับแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาเด็กท้องผูกไร้โรคทางกาย. [อินเทอร์เน็ต]. 2565.
[เข้าถึงเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2565]. เข้าถึงได้จาก: http://www.pthaigastro.org/Document/jkevatb44kaj40yfbvivc2vjCP G_constipation2022_vesion __5_final.pdf.
[2]. National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases. Constipation in children. [Internet]. 2022. [cited 2022 November 18]. Available from: https://www.niddk.nih.gov/health-information/digestive-diseases/constipation-children/eating-diet-nutrition.
[3]. Sood MR. Laxatives for functional constipation in children. Starting doses of laxatives for functional constipation in children [Internet]. Waltham(MA): UpToDate; 2022. [cited 2022 November 18]. Available from : https://www.UpToDate.com.
[4]. Leung AK, Hon KL. Paediatrics: How to manage functional constipation. Drugs Context 2021;10:1-14.
[5]. Jarzebicka D, Sieczkowska-Golub J, Kierkus J, et al. PEG 3350 Versus Lactulose for Treatment of Functional Constipation in Children: Randomized Study.
J. Pediatr. Gastroenterol. Nutr. 2019;68:318-324.
[6]. Sood MR. Recent-onset constipation in infants and children [Internet]. Waltham(MA): UpToDate;2022.[cited 2022 November 26]. Available from : https://www.UpToDate.com.


File
: 310-1669818466.pdf
วันที่ตอบ : 01 ธ.ค. 65 - 19:37:42




พัฒนาระบบโดย ภานุชญา มณีวรรณ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 90110