A A A

ผู้ตอบคำถาม   นศภ.ณธายุ เชื้อดี

อาจารย์ผู้ดูแลการตอบคำถาม   ผศ.ดร.ศิริมา มหัทธนาดุลย์

คำถาม แนวทางการใช้ยาเลื่อนประจำเดือนและผลข้างเคียงจากการใช้ยา
คำตอบ การเลื่อนประจำเดือนสามารถทำได้ 2 วิธี

วิธีที่ 1 การใช้ยา ปรีโมลุทเอ็น (Primolut® N) ตัวยาประกอบด้วย นอร์เอทิสเตอโรน 5 มิลลิกรัม ซึ่งยาคล้ายกับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน จนกว่าจะหยุดยา  

วิธีรับประทาน : เริ่มรับประทานอย่างน้อย 3 วัน ก่อนวันที่คาดว่าประจำเดือนจะมา โดยรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง (เช้า เย็น) หรือวันละ 3 ครั้ง (เช้า กลางวัน และเย็น) และจะมีประจำเดือนภายใน 2-3 วันหลังจากหยุดยา และไม่ควรใช้ยานานเกิน 2 สัปดาห์

ตัวอย่างเช่น ต้องการเลื่อนประจำเดือน 10 วันและคาดว่าประจำเดือนจะมาวันที่ 15 มกราคม ก็ให้เริ่มรับประทานยาวันที่ 12 มกราคม และรับประทานยาต่อไปทุกวันจนถึงวันที่ 25 มกราคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรับประทานยา   ประจำเดือนจะมาภายในวันที่ 28 มกราคม

ประสิทธิภาพการคุมกำเนิด : ยา ปรีโมลุทเอ็น (Primolut® N) ไม่มีข้อบ่งใช้ในการคุมกำเนิด ดังนั้นจึงมีโอกาสตั้งครรภ์ได้หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันระหว่างที่มีการใช้ยาเลื่อนประจำเดือน  หากต้องการคุมกำเนิดร่วมด้วยขณะใช้ยา ปรีโมลุทเอ็น (Primolut® N) มีการแนะนำให้ใช้การคุมกำเนิดรูปแบบอื่น เช่น การใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น [1]

ประสิทธิภาพการใช้ยาในผู้ที่มีประจำเดือนในแต่ละเดือนมาไม่ตรงทุกเดือน : ยา ปรีโมลุทเอ็น (Primolut® N) สามารถใช้เลื่อนประจำเดือนในผู้ที่มีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอในแต่ละเดือน โดยมีวิธีรับประทาน ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1-2 ครั้ง ในช่วงวันที่ 16-25 ของรอบเดือน (นับวันที่มีประจำเดือนวันสุดท้ายเป็นวันที่ 1 ของรอบเดือน) และประจำเดือนจะมาใน 2-3 วันหลังหยุดยาตัวอย่างเช่น ต้องการให้ประจำเดือนมาวันที่ 28 หลังจากมีประจำเดือนวันสุดท้าย (วันที่ 5 มกราคม) ดังนั้นควรรับประทานยาในวันที่ 20-29 มกราคม และประจำเดือนจะมาภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ [1]

อาการข้างเคียง : เช่น เลือดออกกะปริบกะปรอย  ประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติหรือประจำเดือนไม่มาเลย ปวดศีรษะ  คลื่นไส้   เวียนศีรษะ  เป็นต้น [1, 5] และหากหยุดยาแล้วแต่ประจำเดือนยังไม่มาใน 7 วัน ควรตรวจการตั้งครรภ์ อีกทั้งควรปรึกษาแพทย์เพื่อทราบสาเหตุและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป [2]

อาการข้างเคียงที่อาจพบได้หากใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน : จากข้อมูลเท่าที่มีในปัจจุบันมีการศึกษาถึงความปลอดภัยหลังใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าอาจทำให้เกิด หลอดเลือดอุดตัน (โดยเฉพาะในผู้ที่อ้วน สูบบุหรี่ มีโรคประจำตัวที่เพิ่มความเสี่ยง เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง  ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน เป็นต้น)   ผิวไวต่อแสง ผมร่วง น้ำหนักเพิ่ม ประจำเดือนไม่มา รวมทั้งมีรายงานการเกิดมะเร็งเต้านม[3, 4]

ข้อห้ามใช้ : ผู้ที่แพ้ยานอร์เอทิสเตอโรน, กำลังตั้งครรภ์, กำลังให้นมบุตร, มีปัจจัยเสี่ยงหรือมีประวัติการเป็นโรคหลอดเลือดอุดตัน, เคยเป็นหรือกำลังเป็นโรคตับขั้นรุนแรงหรือมะเร็งตับ, เคยเป็นหรือกำลังเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรน และเคยเป็นหรือกำลังเป็นมะเร็งเต้านม [1, 2, 5]

วิธีที่ 2 การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด การเลื่อนประจำเดือนโดยใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดควรเลือกใช้ยาที่มีส่วนผสมดังนี้ Levonorgestrel 150 ไมโครกรัม และ Ethinylestradiol 30 ไมโครกรัม ขึ้นไป หรือ

Desogestrel 150 ไมโครกรัม และ Ethinylestradiol 20 ไมโครกรัม ขึ้นไป หรือ

Drospirenone 3 มิลลิกรัม และ ethinylestradiol 20 ไมโครกรัม ขึ้นไป

โดยต้องรับประทานเฉพาะเม็ดยาที่มีฮอร์โมน  ห้ามทานเม็ดแป้ง ยาเม็ดคุมกำเนิดในท้องตลาดมีจำหน่ายทั้งแบบที่มีเม็ดแป้ง(เช่น ยาคุม 28 เม็ด) และแบบที่ไม่มีเม็ดแป้ง(เช่น ยาคุม 21 เม็ด)  ดังนั้นเพื่อป้องกันการสับสนในขณะใช้ยาจึงควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์แบบ 21 เม็ดที่ไม่มีเม็ดแป้ง [2, 6, 7]

วิธีรับประทาน : รับประทานยาล่วงหน้าก่อนมีประจำเดือน 10 วัน รับประทานยาเม็ดที่เป็นฮอร์โมนครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง ทุกวัน เมื่อต้องการให้ประจำเดือนมาก็ให้หยุดรับประทานยาล่วงหน้า 3 วัน

ตัวอย่างเช่น ต้องการเลื่อนประจำเดือน 10 วันและคาดว่าประจำเดือนจะมาวันที่ 15 มกราคม ก็ให้เริ่มรับประทานยาวันที่ 5 มกราคม และรับประทานยาต่อไปทุกวันจนถึงวันที่ 25 มกราคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรับประทานยา  ประจำเดือนจะมาภายในวันที่ 28 มกราคม 

ประสิทธิภาพการคุมกำเนิด : ผลการคุมกำเนิดจะเกิดขึ้นหลังจากรับประทานยาไปได้ 7 วัน หากจะมีเพศสัมพันธุ์ก่อนครบ 7 วัน ให้ใช้วิธีคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัย และประสิทธิภาพการคุมกำเนิดจากยาจะหมดลงเมื่อหยุดใช้ยา[8]

ประสิทธิภาพการใช้ยาในผู้ที่มีประจำเดือนในแต่ละเดือนมาไม่ตรงทุกเดือน : เนื่องจากไม่พบการศึกษาถึงประสิทธิภาพการเลื่อนประจำเดือนโดยใช้ยาคุมกำเนิดชนิดข้างต้นในผู้ที่ประจำเดือนแต่ละเดือนมาไม่ตรงกัน แต่พบว่าการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดข้างต้นทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติสม่ำเสมอกันทุกเดือนมากที่สุดเมื่อเทียบกับการคุมกำเนิดแบบอื่น เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestogen-only pill), ยาคุมกำเนิดแบบฉีด (Depot medroxyprogesterone acetate) เป็นต้น[9]

อาการข้างเคียง : เช่น คลื่นไส้ อาเจียน คัดตึงเต้านม เป็นต้น[10]

ข้อห้ามใช้ : ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือมีประวัติการเป็นโรคหลอดเลือดอุดตัน  มีประวัติหรือกำลังเป็นโรคหลอดเลือดสมอง  มีประวัติหรือกำลังเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนที่มีอาการนำ  มีประวัติหรือกำลังเป็นโรคตับรุนแรง  สงสัยการเป็นเนื้องอกที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจน  มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดโดยยังไม่ได้รับการวินิจฉัย  กำลังตั้งครรภ์ กำลังให้นมบุตร[10]

เอกสารอ้างอิง

[1] Primolut N [Bayer]. c2014 [updated 2016; cited 2020 May 10]. Available from http://www.bayerresources.com.au/resources/uploads/PI/file9462.pdf

[2] สุรศักดิ์ วิชัยโย. ยาเลื่อนประจำเดือน..ที่นี่มีคำตอบ [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพ: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล; 2557 [เข้าถึงเมื่อ 8 พ.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก: ttps://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/212/ยาเลื่อนประจำเดือน/

[3] Norethindrone. In: In Drugdex [database on the Internet]. Greenwood Village (CO): Thomson Micromedex. [cited 2020 May 7]. Available from: https://www.micromedexsolutions.com

[4] Phase II clinical study of implanted norethindrone pellets for long-term contraception in women. Program for Applied Research on Fertility Regulation. Contraceptive. 1985 Dec;1(4):295-304. PubMed PMID: 3842220.

[5] Jonathan MZ. Norethindrone]. In: UpToDate, Post TW(Ed), UpToDate, Waltham, MA. (Accessed on 2020 May 8)

[6] Hamerlynck JV, Vollebregt JA, Doornebos CM, Muntendam P. Postponement of withdrawal bleeding in women using low-dose combined oral contraceptives. Contraception. 1987 Mar;35(3):199-205. PubMed PMID: 2956054.

[7] de Voogd WS. Postponement of withdrawal bleeding with a monophasic oral contraceptive containing desogestrel and ethinylestradiol. Contraception. 1991 Aug;44(2):107-12. PubMed PMID: 1832627.

[8] นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพ: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล; 2561 [เข้าถึงเมื่อ 10 พ.ค. 2563]. เข้าถึงได้จาก : https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/417/ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม/

[9] Belsey EM. Vaginal bleeding patterns among women using one natural and eight hormonal methods of contraception. Contraception. 1988 Aug;38(2):181-206. PubMed PMID: 2971505.

[10] Marvelon [MSD]. c2018 [updated 2018; cited 2020 May 10]. Available from https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/5383/SPC/

 

CONTACT US074-288895
Send us a messagepharmacy-dic@pharmacy.psu.ac.th
Visit usคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์