A A A

          เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่ประกาศเรียกคืนยาน้ำสำหรับรับประทาน 15 รายการ 31 รุ่นการผลิตเนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีการใช้ 70% ซอร์บิทอล (sorbitol) รุ่นการผลิต S4N14 เป็นตัวทำละลาย โดยซอร์บิทอลรุ่นการผลิตดังกล่าวมีการปนเปื้อนเอทิลีนไกลคอล (ethylene glycol) เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งท่านสามารถตรวจสอบรายชื่อยาและรุ่นผลิตได้จาก Facebook  FDA Thai หรือผ่านลิงค์นี้ : https://www.facebook.com/share/p/xcKRU61gprw1K1Gq/?mibextid=oFDknk

          ซอร์บิทอล เป็นสารปรุงแต่งรสและตัวทำละลายที่นิยมใช้ในทางเภสัชกรรมโดยเฉพาะตำรับยาน้ำสำหรับรับประทานที่เป็นยาแก้ไอ ยาแก้หวัด ยาแก้ปวด ลดไข้ และยาต้านอาเจียน  โดยสารปรุงแต่งตำรับชนิดนี้มีโอกาสปนเปื้อนด้วยเอทิลีนไกลคอลจากกระบวนการผลิต หรืออาจมีการปนปลอมด้วยเอทิลีนไกลคอล และเนื่องจากเอทิลีนไกลคอลมีพิษต่อมนุษย์เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น ตำรายาของสหรัฐอเมริกา (United States Pharmacopeia หรือ USP) ซึ่งเป็นข้อกำหนดมาตรฐานของเภสัชภัณฑ์ระดับสากล จึงกำหนดขีดจำกัดของเอทิลีนไกลคอลในซอร์บิทอลที่นำมาใช้ผลิตยาไว้ไม่เกินร้อยละ 0.10 เพื่อลดความเสี่ยงจากอันตรายของการได้รับสารพิษจากการรับประทานยา

          เอทิลีนไกลคอลถูกดูดซึมผ่านทางเดินอาหารได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเอนไซม์เปลี่ยน เป็นสารชื่อ ไกลโคอัลดีไฮด์ (glycoaldehyde) ซึ่งรบกวนการทำงานของเซลล์ จากนั้นจะเปลี่ยนรูปต่อเป็น ไกลโคเลท (glycolate) ซึ่งจะทำให้เลือดเป็นกรด (acidosis) และสุดท้ายถูกเปลี่ยนเป็น ออกซาเลต (oxalate) โดยออกซาเลตบางส่วนถูกขับออกทางปัสสาวะ ส่วนที่เหลือจะสามารถจับกับแคลเซียมเกิดเป็นผลึกสะสมที่ไต ทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน นอกจากนี้ ยังมีรายงานการเกิดภาวะสมองบวมจากออกซาเลตด้วย

          เอทิลีนไกลคอลเป็นของเหลว มีค่าขนาดรับประทานที่ทำให้เสียชีวิต (lethal dose) ที่ประมาณ 1 ถึง 2 มิลลิลิตรต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม (สำหรับเอธิลลีนไกลคอลเข้มข้น 95%) หรือประมาณ 100 มิลลิลิตรสำหรับผู้ใหญ่ โดยอาการของผู้ที่ได้รับเอทิลีนไกลคอลในปริมาณสูงเพียงพอต่อการเกิดพิษจะแบ่งได้ 3 ระยะ

  • 30 นาที ถึง 12 ชั่วโมงแรก จะแสดงอาการทางระบบประสาทส่วนกลางและทางเดินอาหาร โดยจะมีอาการเหมือนเกิดพิษจากแอลกอฮอล์ คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีอาการชัก หรือกล้ามเนื้อกระตุก ควบคุมการเคลื่อนไหวลำบาก 
  • 12 ถึง 24 ชั่วโมงหลังได้รับเอทิลีนไกลคอล จะเกิดความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด และกระบวนการเมแทบอลิสมของร่างกาย โดยมีอาการหายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว เลือดเป็นกรด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ความดันเลือดสูง ปอดบวมน้ำ หัวใจล้มเหลว
  • 24 ถึง 72 ชั่วโมง จะเกิดความผิดปกติของไต โดยอาจมีอาการปวดสีข้าง ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ ไตวายเฉียบพลัน มีผลึกแคลเซียมออกซาเลตในปัสสาวะ

          ดังนั้นหากสงสัยว่าจะเกิดพิษจากเอทิลีนไกลคอลให้รีบติดต่อแพทย์โดยเร็ว และถ้ามีข้อมูลของผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยไปด้วยจะทำให้การวินิจฉัยของแพทย์เร็วขึ้น

          สำหรับปริมาณของเอทิลีนไกลคอลในตำรับยาที่ผู้ป่วยจะได้รับนั้นจะขึ้นอยู่กับ (1) ปริมาณซอร์บิทอลที่ใช้ในตำรับยานั้น (2) ปริมาณเอทิลีนไกลคอลที่ปนเปื้อนหรือปนปลอมในซอร์บิทอล และ (3) ปริมาณยาและความถี่ที่ได้รับยา ตัวอย่างเช่น ตำรับยาใช้ซอร์บิทอลร้อยละ 50 และมีการปนปลอมเอทิลลีนไกลคอลในซอร์บิทอลนั้นร้อยละ 50  เมื่อผู้ป่วยรับประทานยาน้ำนั้น 1 ช้อนชา หรือ 5 มิลลิลิตร ทุก 4 ชั่วโมง จะได้รับซอร์บิทอลที่ปนปลอม 2.5 มิลลิลิตร และได้รับเอทิลีนไกลคอลที่ปนปลอมอยู่เท่ากับ 1.25 มิลลิลิตรต่อครั้ง และอาจได้รับสูงสุดถึง 5 มิลลิลิตรใน 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นปริมาณที่ค่อนข้างสูงสำหรับเด็กเล็ก  อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีปริมาณเอทิลลีนไกลคอลปนเปื้อนอยู่ในตำรับไม่มากนัก แต่การได้รับติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจทำให้เกิดการสะสมของสารพิษได้เช่นกัน

          สำหรับตัวอย่างในกรณีที่แย่ที่สุด คือ หากตำรับยานั้นกำหนดให้ใช้ซอร์บิทอลเป็นตัวทำละลายทั้งหมด และมีการปลอมวัตถุดิบโดยใช้เอธิลลีนไกลคอล แทนซอร์บิทอล ก็จะทำให้ผู้ป่วยได้รับเอทิลีนไกลคอลเท่ากับขนาดที่รับประทาน ซึ่งมีโอกาสเกิดอันตรายสูงมากโดยเฉพาะในเด็กเล็ก โดยเหตุการณ์ทำนองนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในอินเดีย อินโดนีเซีย แกมเบีย และอุซเบกิสถาน ซึ่งมีการปนปลอมสารปรุงแต่งตำรับยาด้วยเอทิลีนไกลคอล และไดเอทิลีนไกลคอล จนทำให้ผู้ป่วยเด็กจำนวนหลายร้อยคนเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน และถึงขั้นเสียชีวิต

          ดังนั้นด้วยความซับซ้อนของสถานการณ์ดังกล่าวนี้ เมื่อมีข้อมูลหรือการแจ้งเตือนถึงการปนเปื้อนหรือปนปลอมเอทิลีนไกลคอลในตำรับยาหรือวัตถุดิบ ก็ควรหยุดใช้ยาชนิดและรุ่นผลิตที่แจ้งก่อน ต่อจากนั้นอาจปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรในการเปลี่ยนยาในการรักษา และสังเกตอาการของผู้ป่วยที่ได้รับยาดังกล่าว หากพบอาการผิดปกติที่กล่าวข้างต้นภายในเวลา 12 ถึง 24 ชั่วโมง และประเมินแล้วว่าไม่น่าจะเกิดจากสาเหตุอื่น ควรปรึกษาแพทย์ทันที

เอกสารอ้างอิง

  1. Allister V. Ethylene and diethylene glycol. Medicine.2007;35 (11): 617-618. https://doi.org/10.1016/j.mpmed.2007.08.023.
  2. Iqbal A, Glagola JJ, Nappe TM. Ethylene Glycol Toxicity. [Updated 2022 Sep 26]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2024 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK537009/
  3. Jacobsen D, Ovrebø S, Ostborg J, Sejersted OM. Glycolate causes the acidosis in ethylene glycol poisoning and is effectively removed by hemodialysis. Acta Med Scand. 1984;216(4):409-416.
  4. Umar TP, Jain N, Azis H. Endemic rise in cases of acute kidney injury in children in Indonesia and Gambia: what is the likely culprit and why?. Kidney Int. 2023;103(3):444-447. doi:10.1016/j.kint.2022.12.004

บทความโดย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภก.นฤบดี ผดุงสมบัติ
สาขาวิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

CONTACT US074-288895
Send us a messagepharmacy-dic@pharmacy.psu.ac.th
Visit usคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์