A A A

          ปัจจุบันมีการกล่าวถึงปัญญาประดิษฐ์หรือที่เรามักเรียกกันง่าย ๆ ว่า AI (Artificial Intelligence) อย่างแพร่หลายในด้านความสามารถที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อวางแผนการเดินทาง ใช้จัดแผนการเรียนการสอน หรือแม้กระทั่งใช้เพื่อสร้างรูปภาพตามต้องการ ด้วยความสามารถเหล่านี้ของ AI จึงทำให้สังคมให้ความสนใจอย่างแพร่หลาย แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความกังวลต่อความเฉลียวฉลาดดังกล่าวเช่นกันว่าอาจส่งผลให้เกิดปัญหาหรืออุปสรรค เช่น ในด้านผลกระทบต่อแรงงาน ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยทางข้อมูล

           AI ที่เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายสำหรับบุคคลทั่วไปจะเป็น AI ประเภท Large Language Model (LLM) ซึ่งสามารถประมวลผลและสร้างข้อความตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบ LLM มีการเรียนรู้และฝึกฝนด้วยข้อมูลมหาศาล โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญดูแล ปรับปรุงประสิทธิภาพและความถูกต้องอย่างต่อเนื่อง จากการฝึกฝนดังกล่าว LLM จึงสามารถจดจำรูปแบบการสื่อสารและให้คำตอบที่เหมาะสมกับคำถามหรือสิ่งที่ผู้ใช้สอบถามได้อย่างแม่นยำ ตัวอย่าง LLM ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ได้แก่ ChatGPT, Gemini, Claude รวมถึง Alisa ใน Line Application เป็นต้น โดย ChatGPT เป็นหนึ่งในระบบที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมในปัจจุบัน จากการทดสอบความสามารถพบว่า ChatGPT สามารถทำคะแนนผ่านเกณฑ์ข้อสอบวัดความรู้ทางการแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา และข้อสอบมาตรฐานจักษุแพทย์ตามแนวทางของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นข้อสอบภาษาฝรั่งเศสได้อีกด้วย

           อย่างไรก็ตามเมื่อทดลองให้ ChatGPT ตอบคำถามเกี่ยวกับการใช้ยาในหมวดที่เป็นการใช้ยาต่ออาการเจ็บป่วยพื้นฐานที่พบได้บ่อยในร้านยา โดยทดลองสืบค้นด้วยภาษาไทยและให้ทีมผู้เชี่ยวชาญที่เป็นเภสัชกรประเมินคำตอบนั้น พบว่าคำตอบของ ChatGPT เป็นประโยชน์ในการดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ แต่ยังคงจำเป็นที่จะต้องได้รับคำปรึกษาหรือคำแนะนำเพิ่มเติมจากบุคลากรทางการแพทย์ [1] เช่นเดียวกันเมื่อสอบถามเรื่องการใช้สมุนไพรไทยทั้งการใช้ทั่วไปและการใช้เฉพาะด้าน คำตอบของ ChatGPT ไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างเพียงพอ แม้ว่าข้อความคำตอบภาษาไทยที่ได้จะอยู่ในระดับที่อ่านเข้าใจก็ตาม ประเด็นที่น่ากังวลคือบางคำตอบมีข้อมูลที่ขัดแย้งกับหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งหากผู้ใช้ไม่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ อาจนำไปสู่อันตรายจากการใช้สมุนไพรที่ผิดวิธี  [2]

           ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมุมมองของเภสัชกรชุมชนต่อบทบาทของ ChatGPT ในการให้ข้อมูลด้านการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น คณะนักวิจัยได้สัมภาษณ์เภสัชกรชุมชนในอำเภอหนึ่ง โดยเลือกสัมภาษณ์จากพื้นที่และระดับประสบการณ์ที่แตกต่างกัน เพื่อให้ได้มุมมองที่หลากหลาย โดยภาพรวมแล้ว ทัศนคติและมุมมองที่ได้จากการสัมภาษณ์เป็นไปในเชิงบวก โดยเภสัชกรมองว่าคำตอบจาก ChatGPT ค่อนข้างมีประโยชน์ในการให้ข้อมูลเบื้องต้น แต่ไม่ได้มีลักษณะชี้นำให้ตัดสินใจใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือยาโดยพลการ และยังมีการอธิบายถึงข้อควรระวังต่อการใช้ผลิตภัณฑ์ด้วย อย่างไรก็ตาม เภสัชกรมีความเห็นว่าระดับของข้อมูลที่ได้จาก ChatGPT อาจไม่เหมาะสมเพียงพอสำหรับการนำไปใช้เป็นแหล่งข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการรักษาโดยตรง เนื่องจากอาจขาดรายละเอียดและความลึกซึ้งในบางประเด็น จึงยังคงจำเป็นต้องอาศัยการประเมินจากเภสัชกรอย่างละเอียดถี่ถ้วน [3]

           ChatGPT หรือระบบ AI อื่นๆ เป็นเพียงช่องทางหนึ่งในการให้ข้อมูลเบื้องต้นแก่ประชาชน แต่ยังมีข้อจำกัดในด้านความลึกซึ้ง ความละเอียดถี่ถ้วน และการปรับใช้กับบริบทเฉพาะรายของผู้ป่วยแต่ละคน ดังนั้น ChatGPT จึงยังไม่สามารถเข้ามาทดแทนบทบาทหน้าที่ของเภสัชกรชุมชนในการเป็นผู้ให้คำปรึกษา ประเมินความเสี่ยง และบริหารจัดการการใช้ยาให้กับประชาชนได้อย่างเต็มรูปแบบ บทบาทของเภสัชกรในการดูแลสุขภาพของประชาชนยังคงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Boonrit, N., Hopkins, A., & Ruanglertboon, W. (2023). Assessment of the appropriateness of responses in Thai from ChatGPT on the questions for recommendations of drug uses in common illnesses. Thai Journal Of Pharmacy Practice, 15, 1135-48.
  2. Limsuwanchote, S., Sakunphueak, A., Boonrit, N., Hopkins, A., & Ruanglertboon, W. (2024). Analysing Credibility of Information on Thai Herbs Generated by the ChatGPT from Pharmacists' Perspectives. Thai Journal of Pharmacy Practice. Accepted for publication.
  3. Boonrit, N., Chaisawat, K., Phueakong, C., Nootong, N., & Ruanglertboon, W. (2024). Exploring community pharmacists' attitudes in Thailand towards ChatGPT usage: A pilot qualitative investigation. Manuscript submitted for publication.

 

บทความโดย

นศภ.กรชนก ชัยสวัสดิ์, นศภ.ชนกานต์ เผื่อคง, นศภ.นันทิตา หนูทอง

   สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์

ดร.ภก.วริทธิ์ เรืองเลิศบุญ 

   สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

CONTACT US074-288895
Send us a messagepharmacy-dic@pharmacy.psu.ac.th
Visit usคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์