A A A

          เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา มีข่าวกรณีพบผู้ป่วยจำนวน 42 คน มีการดื่มยาดอง ที่มีส่วนผสมของเหล้าเถื่อน หรือเมทานอล ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 6 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2567) ทำให้หน่วยงานทางการแพทย์หลายที่ ออกมาเตือนผู้ป่วยถึงอันตรายจาก methanol ซึ่งในวันนี้ทางศูนย์ข้อมูลยาฯ มีบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากกันครับ

          เมทานอล (methanol) หรือเมทิลแอลกอฮอล์ เป็นสารที่ไม่มีรสขม ไม่มีสีและกลิ่น มีการนำมาใช้ในเป็นตัวทำละลายในภาคอุตสาหกรรม เช่น สีทาไม่ น้ำมันเคลือบเงา ยาลอกสี  ทั้งนี้เนื่องจากเมทานอลมีราคาถูกจึงมีผู้นำมาใช้ผสมแทนแอลกอฮอล์เพื่อเป็นเหล้าเถื่อน จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายซึ่งมีรายงานในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย

methanol articles

พิษจากยาเมทานอลเกิดได้อย่างไร

          เมทานอลเมื่อดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะไปแปรสภาพที่ตับได้เป็นสารฟอร์มาลดีไฮด์  (formaldehyde) โดยอาศัยเอนไซม์ alcohol dehydrogenase ก่อนที่จะเปลี่ยนต่อเป็นกรดฟอร์มิก (formic acid) โดยอาศัยเอนไซม์ aldehyde dehydrogenase แล้วปล่อยคืนสู่กระแสเลือด  ซึ่งกรดฟอร์มิกทำให้เลือดเป็นกรด รวมทั้งทำลายจอประสาทตาและระบบประสาทตาส่งผลให้ตาบอด

จัดการพิษจากเมทานอลทำได้อย่างไร

          กรณีที่ผู้ป่วยนำส่งถึงโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว สามารถใช้วิธีการยับยั้งการแปรสภาพจากเมทานอลให้เป็นกรดฟอร์มิกด้วยการให้เอทานอล (ethanol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้สำหรับบริโภค  เอทานอลจะไปแย่งเมทานอลจับกับเอนไซม์ alcohol dehydrogenase แล้วเปลี่ยนเป็นแอซีทัลดีไฮด์ (acetaldehyde) ซึ่งมีพิษต่อร่างกายน้อยกว่า ส่วนเมทานอลที่ยังไม่ถูกแปรสภาพไปขับออกจากร่างกายที่ไต  โดยเป้าหมายของการรักษาจะต้องมีระดับเอทานอลในเลือดมีค่าระหว่าง 100-150 มก./ดล. (กฎหมายอนุญาตให้มีแอลกอฮอล์ในเลือดไม่เกิน 20 หรือ 50 มก./ดล. แล้วแต่กรณีจึงจะไม่เข้าข่ายเมาแล้วขับ) ร่วมกับฟอกเลือด (hemodialysis) เพื่อเร่งการขับเมทานอลออกจากร่างกายและช่วยแก้ไขภาวะเลือดเป็นกรด

          ส่วนยาที่ไปยับยั้งเอนไซม์ alcohol dehydrogenase โดยตรง คือ fomepizole ขณะนี้ยังไม่มียานี้ขึ้นทะเบียนนำมาใช้ในประเทศไทย และยามีราคาสูง  หากท่านเป็นบุคลากรทางการแพทย์ สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับยา fomepizole เพิ่มเติมได้ ที่นี่ 

 

เอกสารอ้างอิง

 

บทความโดย ผศ.ภญ.ฐิติมา ด้วงเงิน สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

CC BY 4.0 การนำบทความนี้ไปเผยแพร่ หรือการคัดลอกส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความกรุณาอ้างอิงหรือขออนุญาตก่อนการเผยแพร่

CONTACT US074-288895
Send us a messagepharmacy-dic@pharmacy.psu.ac.th
Visit usคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์