A A A

          จากสถานการณ์ฝนตกหนัก ทำให้มีน้ำท่วมทั่วทุกภาคของประเทศไทยในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง อาจทำให้มีการแพร่ระบาดของโรค “เลปโตสไปโรซิส” (Leptospirosis) หรือบางคนอาจคุ้นเคยกับชื่อ “โรคฉี่หนู” วันนี้ศูนย์ข้อมูลยา จะพาทุกท่านไปรู้จักโรคนี้กันให้มากขึ้น พร้อมกับวิธีการดูแลตนเองเพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคฉี่หนูนี้

 

          โรคฉี่หนู เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Leptospira (เลปโตสไปรา) ซึ่งเชื้อชนิดนี้มักจะก่อโรคหรือเป็นพาหะในสัตว์หลายชนิด เช่น ค้างคาว หนู สุนัข สุกร โคหรือกระบือ โดยจะพบเชื้ออยู่ในปัสสาวะของสัตว์ดังกล่าว คนมักจะติดเชื้อโดยการสัมผัสกับปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือเป็นพาหะ หรือ สัมผัสกับดิน น้ำ อาหาร หรือสิ่งแวดล้อม ที่มีสิ่งขับถ่ายของสัตว์เหล่านี้ ในช่วงที่ฝนตกหนักและมีน้ำท่วมจะทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนในน้ำและแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น เชื้อแบคทีเรียจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางชั้นผิวหนังหรือเยื่อบุผิว  ดังนั้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังหรือชื้นแฉะ เป็นเวลานานจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคฉี่หนูได้ โดยความเสี่ยงจะมากขึ้นเมื่อแช่น้ำที่ปนเปื้อนเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีแผลเปิด หรือแผลจากการเกา หรือบริโภคอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนสิ่งขับถ่ายของสัตว์พาหะ

 

          ผู้ที่เป็นโรคฉี่หนู ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการภายใน 5 ถึง 14 วันหลังจากได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย อาการของโรคนี้มีความหลากหลาย โดยผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่มีอาการ ในผู้ป่วยที่มีอาการส่วนใหญ่จะมีอาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้ ปวดหัว และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วยได้แก่  ผื่นขึ้นที่ผิวหนัง ตาแดง ไอ หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง หากมีอาการข้างต้น ร่วมกับมีประวัติสัมผัสน้ำ พื้นที่ชื้นแฉะ หรือสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสิ่งขับถ่ายของสัตว์ที่เป็นพาหะ ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากประมาณร้อยละ 10 ของคนที่ติดเชื้อนี้จะพัฒนาไปจนมีอาการที่รุนแรง ได้แก่ มีเลือดออกในตา ภาวะไตวาย (สังเกตจากมีปริมาณปัสสาวะน้อยลง) ตับวาย (สังเกตจากมีภาวะดีซ่านคือตัวเหลือง ตาเหลือง) ระบบการหายใจล้มเหลว (สังเกตจากอาการหายใจเร็ว หายใจลำบาก ไอเป็นเลือด) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งอาจเกิดเพียงอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งหรือเกิดพร้อมกันหลายอวัยวะ  ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจมีภาวะช๊อก และเสียชีวิตใด้

 

          วิธีป้องกันโรคฉี่หนูที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยง ไม่ไปสัมผัสน้ำหรือสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อโรค หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็สามารถลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้ดังนี้

  • กินอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ต้มน้ำให้เดือดก่อนใช้ดื่มหรือปรุงอาหาร หรือใช้น้ำดื่มบรรจุขวดที่บรรจุภัณฑ์ปิดสนิท
  • สวมใส่เสื้อผ้ามิดชิด เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผล หากมีบาดแผลตามร่างกาย ให้ใช้พลาสเตอร์กันน้ำปิดปากแผล เพื่อป้องกันน้ำเข้าแผล
  • กำจัดขยะเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่ของหนู รวมทั้งกำจัดหนูบริเวณที่อยู่อาศัย
  • หลีกเลี่ยงการลงไปว่ายน้ำ แช่น้ำ เดินลุยน้ำหรือดำน้ำที่ท่วมขังโดยไม่จำเป็น หากมีความจำเป็นต้องไปเดินลุยน้ำ ควรสวมใส่เครื่องป้องกัน เช่นรองเท้าบู๊ท และรีบกลับมาอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็ว
  • ปรึกษาสัตวแพทย์หากสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงเป็นโรคฉี่หนู ซึ่งสุนัขอาจมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปัสสาวะผิดปกติ และในโค กระบืออาจสร้างน้ำนมน้อยลง แท้งลูก หรือลูกไม่แข็งแรง
  • ในบางกรณี แพทย์หรือเภสัชกรอาจให้ยาต้านจุลชีพเพื่อป้องกันการติดเชื้อก่อโรคฉี่หนู (สำหรับเภสัชกรและบุคลากรทางการแพทย์ อ่านเพิ่มเติม)

 

          โรคฉี่หนู เป็นโรคระบาดที่สามารถป้องกันได้ และสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาต้านจุลชีพ หากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคฉี่หนู ร่วมกับมีประวัติการเดินลุยน้ำ หรือแช่อยู่ในน้ำขัง ควรรีบพบแพทย์ทันทีแม้จะมีอาการไม่รุนแรง เนื่องจากหากไม่รีบรักษา อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Centers for Disease Control and Prevention. Hurricanes, Floods and Leptospirosis. 2022 (Oct. 4). Cited 2022 Nov. 1. Accessed from https://www.cdc.gov/leptospirosis/index.html.
  2. Rajapakse S. Leptospirosis: clinical aspects. Clinical Medicine 2022;22(1):14–7.

 

เรียบเรียงโดย อ.ภก.นันทพงศ์ บุญฤทธิ์, ผศ.ดร.ภญ.สุทธิพร ภัทรชยากุล

สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

#Leptospirosis #DICRXPSU #45thPharmacyPSU #PharmaKnowledgeForMankind

CONTACT US074-288895
Send us a messagepharmacy-dic@pharmacy.psu.ac.th
Visit usคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์