A A A

          เข้าหน้าฝนแล้ว ... หลาย ๆ ท่านอาจจะโดนฝนแล้วมีอาการปวดหัว เป็นไข้  วันนี้ ศูนย์ข้อมูลยาฯ มีข้อมูลเกี่ยวกับยา ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) มาให้ได้ทำความรู้จักกันครับ
          ยาแก้ปวด-ลดไข้ที่มีการใช้กันแพร่หลาย นอกจากยาพาราเซตามอล (paracetamol) แล้ว ยังมียาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) ด้วย

ยาไอบูโพรเฟน คือยาอะไร
- เป็นยากลุ่มเอ็นเซด (NSAIDs; ชื่อเต็ม nonsteroidal anti-inflammatory drugs) หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
- ใช้บรรเทาอาการปวด ลดไข้ และแก้อักเสบ โดยเฉพาะโรคข้ออักเสบ
- รูปแบบยามีทั้งยากินชนิดเม็ด (tablet) ยาเม็ดแคปซูลนิ่ม (softgel capsule) ความแรง 200, 400 และ 600 มิลลิกรัมต่อเม็ด และยาน้ำแขวนตะกอน (suspension) ความแรง 100 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร

Ibuprofen WS

 ขนาดยาไอบูโพรเฟนสำหรับแก้ปวด-ลดไข้ [1]

  • ผู้ใหญ่: กินยาครั้งละ 200-400 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 1.2 กรัมต่อวัน ยกเว้นอยู่ในการดูแลของแพทย์
  • เด็กอายุ 6 เดือน - 12 ปี กินยาครั้งละ 5-10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 6-8 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน

ข้อควรระวังในการใช้ยา [1, 2]

  • ผลข้างเคียงต่อทางเดินอาหารพบบ่อยที่สุด เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย แสบยอดอก ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้น ซึ่งจากการศึกษาการใช้ยาไอบูโพรเฟนในเด็กพบว่า ผลข้างเคียงต่อทางเดินอาหารเป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ ได้แก่ ปวดที่ใต้ลิ้นปี่ (15.1%) ปวดท้อง (11.5%) คลื่นไส้ อาเจียน (11%) เป็นต้น [3] จึงควรกินยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที
  • ผลข้างเคียงต่อหัวใจและหลอดเลือด เช่น บวมน้ำ ความดันโลหิตสูง ใจสั่น เป็นต้น
  • ผลข้างเคียงต่อระบบประสาท เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ เป็นต้น
  • ระวังการใช้ยาในผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (เช่น โรคความดันโลหิตสูง) มีการทำงานของตับหรือไตบกพร่อง โรคหืด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (เช่น ยาวาร์ฟาริน (warfarin)) ยาในกลุ่มเอ็นเซดชนิดอื่น

          โดยสรุป ยาไอบูโพรเฟนเป็นยาที่มีฤทธิ์ลดอาการปวด ลดไข้ และแก้อักเสบ โดยเฉพาะโรคข้ออักเสบ สามารถใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ยาทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อหลายระบบในร่างกาย โดยเฉพาะผลข้างเคียงต่อทางเดินอาหาร ดังนั้นการกินยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที ควรใช้ยาในขนาดต่ำที่สุดและระยะเวลาสั้นที่สุดที่ให้ผลการรักษาเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้ยา

เอกสารอ้างอิง
1. McEvoy GK. AHFS Drug Information. Bethesda, MD: American Society of Health-System Pharmacists, 2016.
2. Lexicomp. Ibuprofen [Internet]. Waltham (MA): UpToDate; 2022 [cited 2022 Sep 5]. Available from: http://www.uptodate.com
3. Martinelli M, Quaglietta L, Banderali G, Ferrara P, Romano C, Staiano A. Prescribing patterns, indications and adverse events of ibuprofen in children: results from a national survey among Italian pediatricians. Ital J Pediatr 2021;47(1):98.
.
เรียบเรียงบทความโดย รศ.ดร.ภญ.วรนุช แสงเจริญ

สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

#DICRXPSU #IBUPROFEN #NSAIDS

CONTACT US074-288895
Send us a messagepharmacy-dic@pharmacy.psu.ac.th
Visit usคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์