A A A

ผู้ตอบคำถาม   นศภ.ณัฐณิชา พูลช่วย

อาจารย์ผู้ดูแลการตอบคำถาม   ผศ.ดร.วิลาวัณย์ ทองเรือง

student d 02 

 คำถาม สามารถใช้สังกะสี (Zinc) ในรักษาสิวได้หรือไม่ และควรใช้ในรูปแบบใด

 

 

pharmacist d 12

คำตอบ

 

          สิว (Acne Vulgaris) เป็นโรคการอักเสบของรูขุมขนและต่อมไขมัน (Pilosebaceous unit) สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การก่อตัวของสิวมี 4 ประการ ได้แก่ 1) การผลิตน้ำมันในผิวมากเกินไป ซึ่งมีหลายปัจจัยที่สามารถกระตุ้นการผลิตน้ำมันของต่อมไขมันได้ เช่น ฮอร์โมน สภาพอากาศ พันธุกรรม ยาบางชนิด เป็นต้น 2) การที่ผิวหนังบริเวณปากรูขุมขนเกิดการหนาตัวขึ้นผิดปกติ ทำให้เกิดการอุดตันท่อต่อมไขมัน 3) การเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acnes บริเวณรูขุมขน 4) กระบวนการอักเสบของร่างกาย ทำให้สิวบวมแดงและอักเสบเป็นหนอง[1] ซึ่งการรักษาสิวนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรง โดยทั่วไปจะแบ่งระดับความรุนแรงเป็น 3 ระดับ คือ น้อย ปานกลางและรุนแรงมาก โดยยามาตรฐานที่ใช้ในการรักษามีทั้งรูปแบบทาและรับประทาน รูปแบบทา เช่น 0.025-0.05% Retinoic acid, 2.5-5% Benzoyl peroxide, 1% Clindamycin solution, 2-4% Erythromycin solution หรือ gel เป็นต้น ส่วนรูปแบบกิน ได้แก่ ยากลุ่ม Tetracycline, erthromycin, Isotretinoin, ยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาเสริมอื่นๆ ได้แก่ การกดสิว การลอกผิวด้วยกรด AHA, Salicylic acid, การฉายแสง และการทำเลเซอร์ เป็นต้น[1],[2],[3] ซึ่งจากแนวทางการรักษาสิวในปัจจุบันยังไม่มีการกล่าวถึงข้อมูลการใช้ Zinc ในการรักษาสิวที่ชัดเจน[1],[2],[3],[4]   

          สังกะสี (zinc) จัดเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย แต่มีความจำเป็นต่อร่างกาย สังกะสีในรูปแบบของเกลือต่างๆ จะมีปริมาณธาตุสังกะสีที่แตกต่างกัน เช่น เกลือ gluconate จะมี elemental zinc 14.3%[5], เกลือ Sulfate จะมี elemental zinc 23%[6] โดยปริมาณที่ต้องการเป็นอย่างน้อยในแต่ละวัน (แสดงในหน่วย elemental zinc; mg ต่อวัน) ในเพศหญิง(อายุ ≥9ปี) คือ 8 mg ต่อวัน ในเพศชาย(อายุ ≥14ปี) คือ 11 mg ต่อวัน ซึ่งปริมาณสูงสุดของธาตุสังกะสีที่รับได้ในแต่ละวันโดยไม่ทำให้เกิดพิษ คือ ไม่เกิน 40 mg ต่อวัน[7] พิษเฉียบพลันจากการได้รับสังกะสีมากเกิน ได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดหัว และอาจรบกวนการดูดซึมทองแดง ส่วนพิษเรื้อรัง หากได้รับสังกะสีมากกว่า 150 mg ต่อวัน อาจเกิดทำให้ภาวะขาดธาตุทองแดงได้[8],[9]

          การนำสังกะสีมาใช้ในการรักษาสิว กลไกยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน แต่เชื่อว่ามีผลมาจากคุณสมบัติในการลดอักเสบ  ต้านเชื้อ P.acnes ลดการสร้างไขมันจากต่อมไขมันด้วยฤทธิ์ antiandrogenic effect และการผสมสังกะสีร่วมกับยาปฏิชีวนะในรูปแบบทาจะช่วยให้ยาปฏิชีวนะมีการดูดซึมได้ดียิ่งขึ้น[10],[11]  สำหรับรูปแบบของสังกะสีที่นำมาใช้รักษาสิวมีทั้งรูปแบบทาภายนอกและรับประทาน จากหลายการศึกษาที่ประเมินประสิทธิภาพของสังกะสีในรูปแบบยาทา พบว่า ยาทาที่มี zinc sulfate เดี่ยวๆ ไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาสิว[10],[12] อีกหนึ่งการศึกษาที่ทำในผู้ป่วยที่มีสิวระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง โดยใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของ 4% erythromycin/1.2% zinc acetate วันละ 2 ครั้ง เทียบกับการใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของ 5% benzoyl peroxide/1% clindamycin phosphate วันละครั้ง พบว่า ในช่วง 2 สัปดาห์แรก กลุ่มที่ได้รับ 4% erythromycin/1.2% zinc acetate มีประสิทธิภาพด้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในการลดจำนวนตุ่มสิว แต่เมื่อใช้ติดต่อกันนาน 12 สัปดาห์ พบว่าทั้งสองกลุ่มมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงให้เห็นว่ายาทาสังกะสีที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะถือว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่ายาทามาตรฐานที่ใช้ในการรักษาสิวในปัจจุบัน[13]

          สำหรับการศึกษาที่ประเมินประสิทธิภาพของสังกะสีในรูปแบบรับประทาน พบหลายการศึกษา เช่น การศึกษาที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมสังกะสี คิดเป็น elemental zinc เท่ากับ 10 mg (NicAzel®) และ 15 mg (APC complex®) จากทั้งสองการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมสังกะสี มีอาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับตอนเริ่มต้นการศึกษา[11] อีกหนึ่งการศึกษาที่เปรียบเทียบ zinc (elemental zinc ขนาด 30 mg ต่อวัน) กับ minocycline hydrochloride (ขนาด 100 mg) นาน 3 เดือน พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ยารับประทาน zinc สามารถลดการอักเสบของสิว เช่น ตุ่มหนอง ได้ 31.2% ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ยา minocycline hydrochloride สามารถลดการอักเสบของสิวได้ 63.4% โดยอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นต้น[14] จาก Review article ปี 2017 ซึ่งได้รวบรวมการศึกษาตั้งแต่ปี 1977-2016 จำนวน 32 การศึกษา แสดงให้เห็นว่าสังกะสีในรูปแบบรับประทานมีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของสิวได้ แต่ประสิทธิภาพยังถือว่าด้อยกว่าหรือเทียบเท่าเมื่อเทียบกับยารับประทานในกลุ่ม tetracyclines เช่น minocycline, oxytetracycline[11]

          จากข้อมูลทั้งหมดเท่าที่สืบค้นได้ สรุปได้ว่าอาจใช้สังกะสีในรูปแบบยาทาภายนอกที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะร่วมด้วย เช่น 4% erythromycin ผสม 1.2% zinc acetate เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาสิวเฉพาะที่มีความรุนแรงน้อยจนถึงปานกลาง[13] ส่วนสังกะสีในรูปแบบยารับประทานยังถือว่ามีประสิทธิภาพด้อยกว่ายารูปแบบรับประทานมาตรฐานที่ใช้รักษาสิวในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม หากต้องการใช้ยารักษาสิว ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกร เพื่อประเมินความรุนแรงของสิวจะได้เลือกยาในการรักษาได้อย่างเหมาะสม

 

เอกสารอ้างอิง  

[1] รัฐภรณ์ อึ๊งภากรณ์. Acne vulgaris treatment & management in community pharmacy Update ACNE treatment: Southeast Asia guideline. สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย. วงการยา. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ สรรพสารจำกัด; 2559:1-8.

[2] American Family Physician. Acne Vulgaris: Treatment Guidelines from the AAD. Am Fam Physician. 2017 Jun 1;95(11):740-741

[3] Hazel H, Su-N W, Derrick Chen W A, Wai K C, Chee L, Hiok H T. Acne Management Guidelines by the Dermatological Society of Singapore. J Clin Aesthet Dermatol. 2019 Jul; 12(7):34–50.

[4] Zaenglein AL, Pathy AL, Schlosser BJ, Alikhan A, Baldwin HE, Berson DS, et. Al. Guidelines of care for the management of acne vulgaris. J Am Acad Dermatol. 2016 May;74(5):945-73.

[5] zinc gluconate. In: Uptodate, Post TW, ed. UpToDate. Waltham: Uptodate; 2020. (Accessed on 9 May, 2020)

[6] zinc sulfate. In: Uptodate, Post TW, ed. UpToDate. Waltham: Uptodate; 2020. (Accessed on 11 May, 2020)

[7] สำนักโภชนาการ กรมอนามัย. ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563. เข้าถึงได้จาก: https://www.thaidietetics.org/?p=6120. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2563.

[8] overview of diet. In: Uptodate, Post TW, ed. UpToDate. Waltham: Uptodate; 2020. (Accessed on 9 May, 2020)

[9] Drug Monograph Title. In: Zinc acetate [database on the Internet]. Greenwood Village, CO: Thomson Micromedex. [cited 2020 May 11]. Available from: https://www.micromedexsolutions.com/micromedex2/librarian

[10] Gupta M, Mahajan VK, Mehta KS, Chauhan PS. Zinc therapy in dermatology: a review. Dermatol Res Pract. 2014 July;1-11.

[11] Cervantes J, Eber AE, Perper M, Nascimento VM, Nouri K, Keri JE. The role of zinc in the treatment of acne: A review of the literature. DermatolTher. 2018 Jan;31(1).

[12] Cochran, R. J., Tucker, S. B., & Flannigan, S. A. Topical zinc therapy for acne vulgaris. International Journal of Dermatology. 1985;24:188–190.

[13] Langner A, Sheehan-Dare R, Layton A. A randomized, single-blind comparison of topical clindamycin + benzoyl peroxide (Duac) and erythromycin + zinc acetate(Zineryt) in the treatment of mild to moderate facial acne vulgaris. J EurAcad Dermatol Venereol. 2007 Mar;21(3):311-9. PubMed PMID: 17309451.

[14] Dreno B, Moyse D, Alirezai M, Amblard P, Auffret N, Beylot C, et. Al. Acne Research and Study Group. Multicenter randomized comparative double-blind controlled clinical trial of the safety and efficacy of zinc gluconate versus minocycline hydrochloride in the treatment of inflammatory acne vulgaris. Dermatology. 2001;203(2):135-40. PubMed PMID: 11586012.

CONTACT US074-288895
Send us a messagepharmacy-dic@pharmacy.psu.ac.th
Visit usคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์