A A A

          “คุณรู้สึกเหนื่อยล้ากับชีวิตในแต่ละวันมากไหม? ความเหนื่อยของคุณนั้นคือเหนื่อยทางกายหรือเหนื่อยทางใจ? คุณเคยรู้สึกสิ้นหวัง ไม่มีความสุข หดหู่ บ่อยหรือไม่ และ อาการเหล่านั้นเริ่มกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของคุณมากน้อยแค่ไหน?”

...

          ข้อความข้างต้นเป็นเพียงลักษณะเบื้องต้นเกี่ยวกับสุขภาวะทางจิต (psychological wellbeing) ซึ่งหมายถึงสภาวะทางจิตใจของบุคคลอันมีภาวะทางจิตที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถจัดการกับความรู้สึกของตนเองได้ดีทั้งในทางบวกและลบ ดังนั้นการที่บุคคลหนึ่งเริ่มจะเกิดความเหนื่อยล้าทางจิตใจจนกระทั่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันนั้นเป็นข้อบ่งชี้ถึงระดับของอาการที่หากไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ก็อาจส่งผลเสียในระยะยาวทั้งต่อร่างกายและจิตใจได้

          ภาวะซึมเศร้าเป็นโรคทางสุขภาวะทางจิตประเภทหนึ่งที่ในปัจจุบันมีการกล่าวถึงและให้ความสำคัญมากขึ้น ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ทันทีทันใดภายในไม่กี่สัปดาห์เมื่อบุคคลหนึ่งประสบเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง หรือ อาจเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยเสริมในแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ในส่วนของสถานการณ์สุขภาวะทางจิตของประชากรไทยอ้างอิงจากรายงานของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นระบุว่าปัญหาสุขภาพทางจิต มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของผู้มีภาวะเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการทำอัตวินิบาตกรรม ซึ่งอัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าสถานการณ์ covid-19 โดยระบุตัวเลขว่า ในช่วงก่อนเกิด covid-19 อัตราการทำร้ายตัวเองของประชากรไทยอยู่ที่ประมาณ 6 – 6.3 คน ต่อประชากร 1 แสนคน แต่ในช่วงการระบาดของ covid-19 มีรายงานตัวเลขเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 7.3 - 7.4 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาเกี่ยวกับระดับความเครียด ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลของประชากรกลุ่มอาเซียนในช่วงการระบาดของ covid-19 โดยจากผลการศึกษาพบว่าที่เวลาประมาณ 1 ปีครึ่งหลังจากการประกาศภาวะฉุกเฉิน covid-19 ความชุกของกลุ่มอาการดังกล่าวมีระดับที่เพิ่มสูงขึ้น โดยที่พบว่าประชากรไทยมีระดับความเครียดสูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

          อันตรายที่ร้ายแรงที่สุดของภาวะซึมเศร้าคือการทำร้ายตัวเอง ซึ่งการทำอัตวินิบาตกรรมคือผลลัพธ์สุดท้ายซึ่งเกิดขึ้นได้หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้จัดให้มีบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อรองรับปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงเปิดช่องทางการคัดกรองเบื้องต้นผ่านทาง website “วัดใจ.com” เพื่อประเมินระดับสุขภาพทางจิต ของผู้เข้ารับการประเมิน และมีการแนะนำวิธีการรักษาโดยไม่ใช้ยาสำหรับผู้ที่มีอาการเล็กน้อย โดยผู้รับการประเมินสามารถกระทำได้ด้วยตนเอง ซึ่งวิธีการดังกล่าวสามารถช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการได้ วิธีการรักษาโดยไม่ใช้ยาโดยได้แก่

  • การหากิจกรรมเสริมทำเพื่อบรรเทาความเครียด
  • การออกกำลังกาย
  • การพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาหรือแม้กระทั่งการพูดคุยกับเพื่อนและคนในครอบครัวก็สามารถบรรเทาอาการดังกล่าวได้

          การรักษาโดยใช้ยาเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของกระบวนการรักษาทั้งหมดซึ่งเมื่อพิจารณากลไกการออกฤทธิ์ของยา ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบและการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งการักษาโดยการใช้ยาจะมีความเหมาะสมสำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการระดับปานกลางจนถึงรุนแรง หรือ อาการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยที่เริ่มมีความกังวลหรืออยู่ในระยะเริ่มต้นของอาการ หากตัวผู้ป่วยและคนใกล้ชิดสามารถเปิดใจให้ความสำคัญต่อภาวะซึมเศร้าหรือภาวะทางจิตที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญ แล้วร่วมหาทางออกร่วมกันด้วยกระบวนการบำบัดทั้งที่ใช้ยาและไม่ใช้ยาก็สามารถลดการกลับเป็นซ้ำของอาการในระยะยาวได้

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Tay, W. W. Y., Jesuthasan, J., Wan, K. S., Ong, T., & Mustapha, F. (2022). Eighteen months into the COVID-19 pandemic: The prevalence of depression, anxiety, and stress symptoms in Southeast Asia and the associated demographic factors. Frontiers in public health, 10, 863323. https://doi.org/10.3389/fpubh.2022.863323
  2. Halfin A. (2007). Depression: the benefits of early and appropriate treatment. The American journal of managed care, 13(4 Suppl), S92–S97.
  3. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

เรียบเรียงโดย อ.ดร.ภก.วริทธิ์ เรืองเลิศบุญ

สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

#PrecisionMedicine #DICRXPSU #45thPharmacyPSU #PharmaKnowledgeForMankind

CONTACT US074-288895
Send us a messagepharmacy-dic@pharmacy.psu.ac.th
Visit usคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์