A A A

           เมื่อหลายวันก่อน ผู้เขียนได้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นเภสัชกรที่ร้านยา มีลูกค้าท่านหนึ่งมาขอซื้อยาเม็ดวิตามินซีชนิดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม จำนวน 10 หลอด (ขนาดบรรจุหลอดละ 10 เม็ด) ... ลูกค้าท่านนี้ให้ประวัติว่า คุณแม่อายุประมาณ 60 ปี ปฏิเสธโรคประจำตัว ชอบอมยาอมนี้มาก โดยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ป่วยเป็นโรค COVID-19 จึงใช้ยาอมวิตามินซียี่ห้อนี้ วันละ 1-2 หลอด อมเพื่อให้มีรสชาติเปรี้ยว ๆ ในปาก ..ในหนึ่งวันก็จะได้ 10-20 เม็ด เท่ากับได้วิตามินซีไป 5-10 กรัม

          ในฐานะเภสัชกร สิ่งหนึ่งที่ได้แนะนำไปคือ ควรหยุดการใช้ยาอมข้างต้น และในระหว่างนี้ให้คุณแม่ ดื่มน้ำระหว่างวันอย่างเพียงพอ หมั่นสังเกตปริมาณและสีของปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอ หากปัสสาวะออกน้อยลงหรือมีสีเข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาล ควรรีบไปพบแพทย์ทันที... ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

          วิตามินซี หรือกรดแอสคอบิก (ascorbic acid) เป็นวิตามินที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ มีฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระ และมีความสำคัญต่อการสังเคราะห์คอลลาเจน คาร์นิทีน และสารสื่อประสาทหลายชนิด มีบทบาทต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนและคาร์โบไฮเดรตในร่างกาย กระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกันของร่างกาย และยังช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหาร ผู้ที่ขาดวิตามินซีจะทำให้เกิดโรคลักปิดลักเปิด (scurvy) ทำให้ผิวหนังแห้ง มีจุดเลือดออก เหงือกบวมแดง มีเลือดออกง่าย ปลายประสาทอักเสบ แผลหายช้า และมีผมร่วงได้

           โดยปกติคนเราจะได้รับวิตามินซีจากอาหารจำพวกผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม ฝรั่ง มะขาม ผลไม้จำพวกเบอร์รี มะเขือเทศ หรือผักบางชนิดเช่น คะน้า บรอกโคลี ถั่วลันเตา พริกหวาน เป็นต้น ในผู้ใหญ่สุขภาพดีควรได้รับวิตามินซี 80-100 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ในผู้ที่ได้รับจากอาหารไม่เพียงพออาจใช้ยาเม็ดวิตามินซีเสริมได้ แต่ไม่ควรเกิน 1,500-2,000 มิลลิกรัม (1.5-2 กรัม) ต่อวัน เนื่องจากวิตามินซีปริมาณที่มากเกินไปจะถูกเปลี่ยนเป็น ออกซาเลต (oxalate) ไปสะสมที่ไต เมื่อเจอกับแคลเซียมที่ขับออกมาทางปัสสาวะ จะทำให้เกิดผลึกตะกอนแคลเซียมออกซาเลต (calcium oxalate) เกิดนิ่วในไต นอกจากนี้ การกินวิตามินซีขนาดสูงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ ปวดเกร็งในช่องท้อง ท้องเสีย (สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, 2563)

          มีรายงานตัวอย่างผู้ป่วยหญิง 59 ปี ที่กินวิตามินซี 4 กรัม/วัน เพื่อรักษา uterine leiomyosarcoma (มะเร็งมดลูกชนิดหนึ่ง) ซึ่งผู้ป่วยเลือกใช้วิตามินซีขนาดสูง เป็นการรักษาทางเลือกแทนการฉายรังสีและให้ยาเคมีบำบัด หลังใช้ยาต่อเนื่องกันนาน 30 วัน พบว่า ค่าการทำงานของไต (serum creatinine) เพิ่มขึ้นเป็น 1.88 มก./ล. จากเดิม 0.54 มก./ล. (เมื่อ 2 เดือนก่อน) นั่นแปลว่าการทำงานของไตลดลงเกือบ 4 เท่า และลดลงมากกว่าคนทั่วไปถึงเกือบ 2 เท่า ผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง อ่อนเพลีย และปัสสาวะออกน้อยลง ผลตรวจปัสสาวะพบผลึกของแคลเซียมออกซาเลตในน้ำปัสสาวะ ผลการตรวจเนื้อเยื่อไต (renal biopsy) พบผลึกของแคลเซียมออกซาเลตในเนื้อเยื่อไตและบริเวณท่อไต  ซึ่งต่อมาผู้ป่วยรายนี้ได้รับการรักษาด้วยวิธีการฟอกเลือด และโชคร้ายที่การทำงานของไตไม่กลับมาเป็นปกติ และผู้ป่วยมีอาการแย่ลงตามลำดับ (Poulin L, et al. Clin Kidney J. 2014;7:218. อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://academic.oup.com/ckj/article/7/2/218/450726

          โดยสรุป แม้วิตามินซีมีความสำคัญต่อการมีสุขภาพดี แต่การได้รับในปริมาณที่มากเกินขนาดที่กำหนดไว้ต่อวันอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ การใช้วิตามินซีขนาดสูงอาจมีความจำเป็นในผู้ป่วยที่ขาดวิตามินซี การใช้ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของผู้ใช้

 

#DICRXPSU #VitaminC #AscorbicAcid #HighDose #SideEffects
CONTACT US074-288895
Send us a messagepharmacy-dic@pharmacy.psu.ac.th
Visit usคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์