A A A

          (บทความนี้ เหมาะสำหรับเภสัชกร และบุคลากรทางการแพทย์ อาจมีการกล่าวถึงยาบางชนิดซึ่งประชาชนไม่ควรซื้อใช้เองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเหมาะสม สำหรับบางคน ยาอาจมีประโยชน์ แต่ในบางคน ยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหรืออันตรายได้มากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ)

 

          โรคฉี่หนู เป็นโรคระบาดที่พบได้ในช่วงที่มีฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคฉี่หนู) ซึ่งนอกจากการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำ หรือสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคแล้ว ในบางกรณีอาจใช้ยาต้านจุลชีพเพื่อป้องกันการติดเชื้อ Leptospira (มักวินิจฉัยจากผลการตรวจทางซีรัม (serologic test)) และการเกิดโรคฉี่หนูซึ่งผู้ติดเชื้อจะมีอาการทางคลินิกร่วมด้วย ในบทความนี้จึงได้มีการทบทวนหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยาต้านจุลชีพข้างต้น

 

          Doxycycline

 

          ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยา doxycycline เพื่อป้องกันโรคฉี่หนู ได้เผยแพร่ออกมาตั้งแต่ปี 1984 โดย Takafuji และคณะ (1) ได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพในการป้องกันโรคฉี่หนูของยา doxycycline 200 มิลลิกรัมสัปดาห์ละครั้ง ทุกสัปดาห์ กับยาหลอกในทหารอเมริกันจำนวน 940 คน ที่ไปฝึกในป่าของประเทศปานามา พบว่าในกลุ่มที่ได้รับยา doxycycline และยาหลอกเกิดโรคฉี่หนู 1 คน (ร้อยละ 0.2) และ 20 คน (ร้อยละ 4.2) ตามลำดับ ในขณะที่งานวิจัยโดย Sehgal และคณะในปี 2000 (2) ในประชากรชาวเกาะอันดามันเหนือและเกาะนิโคบาร์ (Nicobar islands) ในอ่าวเบงกอล ประเทศอินเดีย จำนวน 782 คน ผลการตรวจซีรัมพบว่า ทั้งสองกลุ่มมีอัตราการติดเชื้อ น้อยกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 3.11 และ 6.82 ตามลำดับ) แสดงให้เห็นว่ายา doxycycline สามารถช่วยลดการเป็นโรคและอาจลดอัตราการตายจากโรคฉี่หนูได้

 

          สำหรับข้อมูลการศึกษาประสิทธิภาพของยา doxycycline ในประเทศไทย โดยอาจารย์ นพ.ศรัณยู ชูศรี และคณะ (3) ได้ศึกษาในกลุ่มตัวอย่างประชากรภาคในใต้ของประเทศไทย จำนวน 641 คนในช่วงน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2553 พบว่าการมีบาดแผล และการสัมผัสน้ำขังนานกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน เป็นปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อ  Leptospira  ส่วนปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นโรคฉี่หนูคือ การมีบาดแผล ซึ่งในกลุ่มที่ได้รับยา doxycycline 200 มิลลิกรัมครั้งเดียว ภายใน 0-3 วันหลังสัมผัสน้ำขัง สามารถลดการติดเชื้อ Leptospira ได้ร้อยละ 76.8 และลดการเกิดโรคฉี่หนูได้ประมาณร้อยละ 86.3 โดยกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าได้ประโยชน์มากคือกลุ่มที่มีบาดแผลซึ่งป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยละ 92 และป้องกันโรคได้ร้อยละ 95.6 อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดที่สำคัญของการศึกษานี้คือช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่น้ำท่วมปริมาณมากแต่ลดลงเร็ว (flash flooding) ในระยะเวลาเพียง 5 วัน ในกรณีที่น้ำท่วมนานกว่านี้ การให้เพียงครั้งเดียว อาจให้ผลลัพธ์แตกต่างจากการศึกษานี้ได้

 

           Azithromycin

 

          ในปี 2018 Alikhani และคณะ (4) ได้เปรียบเทียบประสิทธิภาพของการป้องกันการติดเชื้อ Leptospira และการเป็นโรคฉี่หนูในเกษตรกร 187 คน ในทางตอนเหนือของประเทศอิหร่าน โดยใช้ยา azithromycin 500 มิลลิกรัม หรือ doxycycline 200 มิลลิกรัม หรือยาหลอกสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง จนกระทั่งหมดฤดูการเกษตร พบว่าการใช้ยา azithromycin และ doxycycline สามารถป้องกันการติดเชื้อ Leptospira ได้เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก (IgG seropositive ร้อยละ 7.6, 11.3 และ 24 ตามลำดับ, p-value for ANOVA test = 0.03) โดยไม่ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคฉี่หนู กล่าวคือ เกิดโรคฉี่หนูในกลุ่มที่ได้รับยา azithromycin, doxycycline และยาหลอก เท่ากับร้อยละ 2.7, 10.2 และ 3.4 ตามลำดับ

 

          โดยสรุป การใช้ยาต้านจุลชีพเพื่อป้องกันการติดเชื้อ Leptospira และป้องกันโรคฉี่หนู อาจพิจารณาใช้ doxycycline 200 มิลลิกรัม สัปดาห์ละครั้ง จนกระทั่งเลิกสัมผัสน้ำท่วมขัง โดยคำนึงถึงความจำเป็น ประโยชน์ และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลการศึกษาในอดีตหลายการศึกษา แต่อาจไม่เป็นการศึกษาที่ออกแบบมาอย่างดี (well study-designed) ในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ และไม่เป็นข้อมูลปัจจุบัน (1-5) สำหรับประสิทธิภาพของยา azithromycin ยังมีหลักฐานสนับสนุนค่อนข้างน้อย จึงยังไม่แนะนำให้ใช้ในเวชปฏิบัติ (4,5)

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Takafuji ET, et al. An efficacy trial of doxycycline chemoprophylaxis against leptospirosis. N Engl J Med. 1984;310(8):497.
  2. Sehgal SC, et al. Randomized controlled trial of doxycycline prophylaxis against leptospirosis in an endemic area. Int J Antimicrob Agents. 2000;13(4):249.
  3. Chusri S, et al. Single dosage of doxycycline for prophylaxis against leptospiral infection and leptospirosis during urban flooding in southern Thailand: a non-randomized controlled trial. J Infect Chemother. 2014;20(11):709.
  4. Alikhani A, et al. Comparison of azithromycin vs doxycycline prophylaxis in leptospirosis, A randomized double blind placebo-controlled trial. J Infect Dev Ctries. 2018;12(11):991.
  5. Rajapakse S. Leptospirosis: clinical aspects. Clinical Medicine. 2022;22(1):14–7.

 

เรียบเรียงโดย อ.ภก.นันทพงศ์ บุญฤทธิ์, ผศ.ดร.ภญ.สุทธิพร ภัทรชยากุล

สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

#Leptospirosis #Prophylaxis #DICRXPSU #45thPharmacyPSU #PharmaKnowledgeForMankind

CONTACT US074-288895
Send us a messagepharmacy-dic@pharmacy.psu.ac.th
Visit usคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์