A A A

          จะดีหรือไม่หากในอนาคตอันใกล้ การใช้ยารักษาทางการแพทย์จะมีความจำเพาะต่อผู้ป่วยโดยคำนึงถึงปัจจัยของผู้ป่วยแต่ละบุคคลเป็นที่ตั้ง

          “การแพทย์แม่นยำ” (precision medicine) เป็นกรอบแนวคิดที่มุ่งผนวกปัจจัยความแตกต่างระหว่างบุคคลในด้านมิติพันธุกรรม สภาพแวดล้อม และรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล มาประกอบการตัดสินใจสำหรับการรักษาในทางคลินิก

          มนุษย์แต่ละคนไม่เพียงมีความแตกต่างกันด้านรูปลักษณ์ภายนอกที่มองเห็น เช่น รูปร่าง อายุ หรือผิวพรรณตามเชื้อชาติต่างๆ แต่ยังมีความแตกต่างกันในระดับพันธุกรรมที่ส่งผลต่อการทำงานรวมถึงประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะของร่างกาย ทำให้พบว่าบางครั้งยาชนิดหนึ่งที่ให้ประสิทธิภาพการรักษาที่ดีในประชากรกลุ่มหนึ่ง กลับมีผลการตอบสนองของยาที่ไม่ดีเมื่อนำไปใช้กับประชากรอีกกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นจึงเป็นที่มาของแนวคิดการพัฒนายาให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่จะทำได้ โดยศึกษาเชิงลึกลงในปัจจัยที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการตอบสนองของยา เพื่อระบุปัจจัยที่จะนำมาปรับให้การใช้ยามีความเหมาะสมมากขึ้น

(ภาพโดย ผู้เขียน)

          แนวทางการใช้ยา Trastuzumab กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เป็นหนึ่งในการใช้ยาแบบ “การแพทย์แม่นยำ” กล่าวคือ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะถูกจำแนกเป็นกลุ่มย่อยตามการแสดงออกของยีน human epidermal growth factor receptor subtype 2 (HER2 positive) ซึ่งเป็นลักษณะทางพันธุกรรมแบบหนึ่ง เนื่องจากการใช้ Trastuzumab ในผู้ป่วยที่ไม่มีการแสดงออกของยีน HER2 positive จะให้ผลลัพธ์การรักษาไม่ดีเท่าที่ควร จึงเป็นที่มาของการกำหนดแนวทางการใช้ยา Trastuzumab ให้ควรเลือกใช้กับผู้ป่วยที่มีการแสดงออกของยีน HER2  เท่านั้น จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นว่ายีน HER2 เป็นปัจจัยทางพันธุกรรมที่ส่งผลต่อการตอบสนองของยา แนวทาง “การแพทย์แม่นยำ”ของการสั่งใช้ยา transtuzumab จึงมีพื้นฐานมาจากปัจจัยทางพันธุกรรมดังกล่าว

          “การแพทย์แม่นยำ” เป็นเรื่องที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันมากในวงการสาธารณสุขของประเทศไทย นโยบายภาครัฐได้คำนึงถึงความสำคัญของแนวปฏิบัติดังกล่าว จึงนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประชาชนชาวไทย ตัวอย่างเช่น การให้สิทธิประโยชน์การรักษาในเรื่อง การตรวจยีน HLA-B*58:01 ก่อนการได้รับยา allopurinol เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการผื่นแพ้ทางผิวหนังอย่างรุนแรงจากยาชนิดนี้ “การแพทย์แม่นยำ” จึงเป็นมิติใหม่ของการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลที่เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยทั้งในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยา ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อประเทศและประชาชนไทยทุกคน

 

เอกสารอ้างอิง

1. Ruanglertboon W, Sorich MJ, Rowland A, Hopkins AM (2020) Effect of early adverse events resulting in sorafenib dose adjustments on survival outcomes of advanced hepatocellular carcinoma patients. International Journal of Clinical Oncology 25 (9):1672-1677. doi:10.1007/s10147-020-01698-7

2. Saracci R (2018) Epidemiology in wonderland: Big Data and precision medicine. European Journal of Epidemiology 33 (3):245-257. doi:10.1007/s10654-018-0385-9

 

เรียบเรียงโดย อ.ดร.ภก.วริทธิ์ เรืองเลิศบุญ

สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

#PrecisionMedicine #DICRXPSU #45thPharmacyPSU #PharmaKnowledgeForMankind

CONTACT US074-288895
Send us a messagepharmacy-dic@pharmacy.psu.ac.th
Visit usคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์