A A A

          “โรคไข้ดิน” หรือที่รู้จักในชื่อทางการแพทย์ว่าโรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่าเบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย (Burkholderia pseudomallei) ที่ก่อโรคในคนและสัตว์ในเขตร้อนชื้น ประเทศไทยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมักพบในดินและน้ำ เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น การสัมผัสกับดินหรือน้ำที่ปนเปื้อน การหายใจเอาฝุ่นที่มีเชื้อเข้าไป หรือแม้แต่การกินอาหารที่มีเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

          โรคไข้ดินอาจไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากสามารถก่อให้เกิดอาการที่หลากหลาย ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรงที่อาจทำให้เสียชีวิต[2]

Melioid

          ระยะฟักตัวของเชื้อไม่แน่นอน โดยมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 2 วันจนถึงนานเป็นปีจึงจะเริ่มแสดงอาการ โดยอาการขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิคุ้มกันของแต่ละคน โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยล้างไต ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้น โดยทั่วไปอาการของโรคมีได้หลากหลาย แต่ไม่ได้มีลักษณะจำเพาะ ซึ่งอาจคล้ายกับโรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง ปวดท้อง ปวดข้อปวดกระดูก มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ไปจนถึงติดเชื้อในกระแสเลือดและอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง บางรายพบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้ทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก ต้องตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการเพื่อช่วยวินิจฉัยและรักษา

          การรักษาโรคไข้ดินประกอบด้วยการรักษาตามอาการ ใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เหมาะสมภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โดยระยะเวลาในการรักษาขึ้นกับความรุนแรงของอาการ  นอกจากนี้ควรป้องกันตนเองจากการติดเชื้อเมลิออยด์จากสิ่งแวดล้อม เช่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง ควรใส่ถุงมือ บูทสูงและล้างด้วยสบู่ทันทีหลังจากสัมผัสดิน หากมีบาดแผลที่ผิวหนังควรดูแลแผลอย่างเหมาะสมและหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะหายสนิท ควรดูแลร่างกายให้แข็งแรง ควรกินอาหารปรุงสุกและดื่มน้ำสะอาด โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม กลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายหรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

          ดังนั้นจากรายงานข่าวสถานการณ์โรคไข้ดินในประเทศไทยและสถานการณ์น้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน จึงแนะนำว่าหลังจากที่ประชาชนสัมผัสน้ำท่วมขังแล้วหากเริ่มมีอาการไข้สูง ปวดท้อง ปวดกระดูกหรือมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค เพื่อที่จะสามารถป้องกันและรักษาอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้และวิธีป้องกันตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประชาชนทั่วไป

 

เอกสารอ้างอิง

  1.  สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 28 สิงหาคม 2567]. เข้าถึงได้จาก https://www.pidst.or.th/A247.html
  2.  กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือโรคเมลิออยด์. [อินเทอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 28 สิงหาคม 2567]. เข้าถึงได้จาก http://klb.ddc.moph.go.th/dataentry/handbook/download/129

 

บทความโดย นักศึกษาเภสัชศาสตร์ชั้นปีที่ 5 สาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม

  1. นศภ.ณัฐวัตร ทองเงิน รหัสนักศึกษา 6310712016
  2. นศภ.ธนวรรณ  บุตรเลี่ยม รหัสนักศึกษา 6310712017 
  3. นศภ.ธนวิชญ์  ทักถาม รหัสนักศึกษา 6310712018 
  4. นศภ.นริสสร พันธุ์โรจนกุล รหัสนักศึกษา 6310712020 
  5. นศภ.นอีมะห์  เจ๊ะโก๊ะ รหัสนักศึกษา 6310712021 
  6. นศภ.นิซูเฟีย  สาและ รหัสนักศึกษา 6310712023

และ อ.ภก.นันทพงศ์ บุญฤทธิ์ สาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์

This work © 2024 by DICRXPSU is licensed under CC BY-NC 4.0

CONTACT US074-288895
Send us a messagepharmacy-dic@pharmacy.psu.ac.th
Visit usคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์