A A A

     พระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 25651 ประกาศในราชกิจจนุเบกษา เล่ม 139 ตอนที่ 52 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2565  ใจความสำคัญของการตรากฎหมาย คือ “เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อกำหนดมาตรการกำกับดูแลการนำเข้าหรือการส่งออกใบกระท่อมเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประชาชนมากที่สุด และเพื่อคุ้มครองสุขภาพของบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีและบุคคลกลุ่มเสี่ยงอื่น จากการบริโภคใบกระท่อม....

          การปลดล๊อคพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ของไทย ในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ.25622 เป็นที่จับตามองของต่างชาติเป็นอย่างมาก เกิดกระแสการปลูกพืชกระท่อมอย่างกว้างขวาง และทำให้เศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ-ขาย ต้นกระท่อม และขยายพื้นที่เพาะปลูกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยประสงค์ที่จะส่งออกใบกระท่อมสร้างรายได้ให้กับสังคม ชุมชน และประเทศไทย

          คำถามที่ว่า

               - สายพันธุ์กระท่อมในประเทศไทย ก้านแดง ก้านเขียว หางกั้ง ชนิดใดมีสารออกฤทธิ์สูงกว่ากัน

               - การกระจายตัวโดยธรรมชาติของต้นกระท่อม อยู่ที่ภาคใต้ของไทย หรือสามารถนำไปปลูกได้ภูมิภาคอื่นได้อีก

               - หากต้องการผลิตใบกระท่อมเพื่อการส่งออก ใบกระท่อมจำเป็นต้องตรวจมาตรฐานเพื่อการส่งออกอย่างไร

          ต้นกระท่อม ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ Mitragyna speciosa (Korth.)Havil.ในประเทศไทย โดยธรรมชาติมีการกระจายตัวอยู่บริเวณภาคใต้ของไทย3 โดยพบมากแถบจังหวัดในภาคใต้ตอนบน ภายหลังจากปลด “กระท่อม” ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้มีการเก็บตัวอย่างใบกระท่อมรวม 745 ตัวอย่าง จากทั่วประเทศ มาวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ “ไมทราจัยนีน” ผลการวิเคราะห์ตัวอย่าง พบว่าสารไมทราจัยนีน มีปริมาณที่ไม่ขึ้นกับชนิดของก้านใบกระท่อม (ก้านแดง หรือ ก้านเขียว) ปริมาณสารไมทราจัยนีนมีการสร้างไม่คงที่ตลอดทั้งปี โดยเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล สารมีค่าสูงในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. (หลังหน้าแล้ง) และมีค่าต่ำสุดในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. (ฤดูฝน)4 นอกจากนี้ปริมาณสารไมทราจัยนีนในใบกระท่อมยังขึ้นกับอายุของต้นกระท่อมอีกด้วย จากการสัมภาษณ์เกษตรกร พบว่าสีของก้านใบ ขึ้นกับปริมาณน้ำที่ต้นกระท่อมได้รับ ในหน้าแล้งใบกระท่อมส่วนใหญ่จะมีก้านเขียว แต่เมื่อฝนเริ่มตกใบกระท่อมที่แตกใหม่จะมีก้านใบเป็นสีแดง  ซึ่งเป็นไปตามรายงานวิจัยที่ว่าใบกระท่อมก้านแดง ก้านเขียว หรือหางกั้ง มีลักษณะทางพันธุกรรมไม่แตกต่างกัน5 นอกจากนี้เมื่อเก็บตัวอย่างดินรอบต้นกระท่อม มาวิเคราะห์ค่า pH, ค่าการนำไฟฟ้า, ธาตุอาหาร และสารอินทรีย์ และหาความสัมพันธ์กับปริมาณสารแอลคาลอยด์ โดยเฉพาะไมทราจัยนีน พบว่าธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ฟอสฟอรัส, แคลเซียม, แมกนีเซียม และธาตุอาหารรอง ได้แก่ เหล็ก และแมงกานีส มีส่วนสำคัญต่อการสร้างสารแอลคาลอยด์ในต้นกระท่อมอย่างมีนัยสำคัญ

          แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2566-2570 ได้จัด “กระท่อม” อยู่ในกลุ่มสมุนไพรที่มีศักยภาพในการผลักดันให้เป็นสมุนไพร Herbal Champion นำไปสู่การพัฒนาและวิจัยที่สามารถสร้างมูลค่าพืชกระท่อม ในรูปแบบพืชสด สารสกัดหยาบ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีการใช้ประโยชน์จากใบกระท่อมโดยเฉพาะการนำมาใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพและการแพทย์ ดังนั้นการจัดการแปลงปลูกต้นกระท่อมจำเป็นต้องเป็นไปตาม “มาตรฐานการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดี หรือ GAHP” จึงสามารถรองรับกับการนำ “ใบกระท่อม” มาใช้พัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

          ตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย หรือ Thai Herbal Pharmacopoeia (THP) เป็นตำรายาที่รวบรวมข้อกำหนดและข้อมูลอื่น ๆ ในการควบคุมคุณภาพมาตรฐานยาสมุนไพรในแต่ละชนิดที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ปัจจุบันเป็นฉบับ THP 2021 Supplement 2023 รวม 134 มอโนกราฟ (Monograph) ดำเนินการโดย สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

Picture1

Picture2

          มอโนกราฟ ของ “กระท่อม” (Krathom) ได้บรรจุใน THP ฉบับเล่มล่าสุดนี้ เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา6 เพื่อใช้เป็นเกณฑ์การพิจารณาคุณภาพของใบกระท่อมที่นำมาใช้แปรรูปเป็นสารสกัดที่มีคุณภาพ รองรับการผลิต ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีสารสกัดกระท่อมเป็นตัวยาสำคัญในตำรับ เป็นพื้นฐานสำคัญของแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่นำไปสู่การขอขึ้นทะเบียนตำรับต่อกองผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 

          การดำเนินการจัดทำข้อกำหนดมาตรฐานของใบกระท่อมเป็นไปตามแนวทางการจัดทำข้อมูลเพื่อกำหนดมาตรฐานยาสมุนไพรไทย โดยใช้เครื่องยา (crude drug) ไม่ต่ำกว่า 12 แหล่ง โดยเก็บจากจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา ปัตตานี และสตูล โดยอย่างน้อย 3 ตัวอย่าง จัดเป็นตัวอย่างแท้ จัดทำตัวอย่างพรรณไม้แห้งเพื่อใช้เทียบกับตัวอย่างของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตัวอย่างทั้งหมดนำมาศึกษา 1. ข้อกำหนดทางเภสัชเวทและทางพฤกษศาสตร์ 2. ศึกษาทางมหภาคและจุลภาค 3. ข้อกำหนดทางเคมี-ฟิสิกส์ และ 4. การตรวจสอบการปนเปื้อนอื่น ๆ ได้แก่ โลหะหนัก เชื้อจุลชีพ เป็นต้น ผลการวิเคราะห์ตามข้อกำหนดในมอโนกราฟ นำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาข้อกำหนดทางเภสัชเวทและทางพฤกษศาสตร์ และคณะกรรมการพิจารณาข้อกำหนดทางเคมี-ฟิสิกส์ สู่ข้อสรุปเกณฑ์มาตรฐานของการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบใบกระท่อมในตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย (ดังรูป)

เอกสารอ้างอิง

  • พระราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติ พืชกระท่อม ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2565.
  • พระราชกิจจานุเบกษา. 2562. พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562
  • Ngernsaengsaruay, C.; Leksungnoen, N.; Boonthasak, W.; Utharatsamee, S.; Racharak, P.; Leetanasakskul, K.; Pongamorn, P.; Saengbuapuean, A. Additional knowledge on the genus Mitragyna (Rubiaceae) in Thailand. Thai For Bull (Bot) 2022, 50(1), 20–39.
  • Sengnon, N., Vonghirundecha, P., Chaichan, W., Juengwatanatrakul, T., Onthong, J., Kitprasong, P., Sriwiriyajan, S., Chittrakarn, S., Limsuwanchote, S., & Wungsintaweekul, J. (2023). Seasonal and geographic variation in alkaloid content of kratom (Mitragyna speciosa (Korth.) Havil.) from Thailand. Plants, 12(4), 949.
  • Sukrong, S., Zhu, S., Ruangrungsi, N., Phadungcharoen, T., Palanuvej, C., Komatsu, K. 2007. Molecular analysis of the genus Mitragyna existing in Thailand based on rDNA ITS sequences and its application to identify a narcotic species: Mitragyna speciosa. Biol. Pharm. Bull. 30(7):1284-1288.
  • The Thai Herbal Pharmacopoeia Committee. 2021. Thai Herbal Pharmacopoeia 2021 Supplement 2023. Bureau of Drug and Narcotic, Department of Medical Sciences, Ministry of Public Health.

บทความโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.จุไรทิพย์ หวังสินทวีกุล ; คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

การนำบทความนี้ไปเผยแพร่ในสื่อฯ และการคัดลอกส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความกรุณาอ้างอิงหรือขออนุญาตก่อนการเผยแพร่

CONTACT US074-288895
Send us a messagepharmacy-dic@pharmacy.psu.ac.th
Visit usคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์